xs
xsm
sm
md
lg

คนอมก๋อย-ฮอดผวาอุโมงค์ยักษ์ผันสาละวินลงลุ่มเจ้าพระยา จวกรัฐปิดข้อมูล-ไม่เคยได้แสดงความเห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่/แม่ฮ่องสอน - ชาวบ้านแฉรัฐอมพะนำ-ปิดข้อมูลอุโมงค์ยักษ์ผันสาละวินลงเจ้าพระยายาวกว่า 64 กิโลฯ..คนท้องถิ่นฮอด-อมก๋อยยันไม่เคยได้แสดงความคิดเห็น แถมหวั่นเผชิญชะตากรรมจากผลกระทบรุนแรง




เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ได้นำเยาวชนในพื้นที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสื่อสารอย่างไม่เป็นธรรม เข้าร่วมอบรมการทำสื่อสร้างสรรค์ปลอดภัยและนำสื่อมวลชนกระแสหลักร่วมพัฒนาประเด็นในกรณีข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาการสื่อสารสาธารณะจนส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ลุ่มน้ำสาละวิน ลงเจ้าพระยา

โดยได้เข้าไปยังพื้นที่โครงการคือชุมชนที่อยู่ปลายอุโมงค์ คือ ชุมชนบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จุดกลางอุโมงค์ที่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดทิ้งดินในพื้นที่ทำกิน และจุดกักน้ำผันน้ำแม่ยวม คือจุดสร้างเขื่อนน้ำยวม จุดสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำยวม บริเวณสบเงา อุทยานแห่งชาติแม่เงา จ.แม่ฮ่องสอน


การเข้าพื้นที่ทั้ง 3 จุดพบว่าโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ลุ่มน้ำสาละวิน ไปยังบ้านแม่งูด ปล่อยน้ำลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เพื่อส่งน้ำเข้าลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีอุโมงค์ยาว 63.47 กม.ผ่านชุมชนต่างๆ ใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อ.ฮอด-อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ผ่านหมู่บ้านทั้งหมด 36 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับสิทธิ์ตามกฎหมาย

นายศักดิ์ชัย เยมู อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ 6 ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชุมชนบ้านแม่งูดเคยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลมาก่อนแล้ว ทำให้มีที่ทำกินน้อย จากเอกสารโครงการฯ ผันน้ำยวม ลุ่มน้ำสาละวินลงเจ้าพระยา ทราบว่าบริเวณหมู่บ้านเป็นที่กองวัสดุหรือทิ้งดินที่ขุดออกมาจากอุโมงค์ ซึ่งก็คงทำให้ที่ดินทำกินของชาวบ้านหมดไปด้วย ส่วนชาวบ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ต่างพากันมาให้ข้อมูลว่าพื้นที่หมู่บ้านกะเบอะดินจะกลายเป็นที่ทิ้งดินที่ขุดออกจากอุโมงค์จุดที่ 4 ซึ่งชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมได้แสดงความคิดเห็นหรือตัดสินใจแต่อย่างใด

นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 97 หมู่ 1 บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า หมู่บ้านของตนก็ถูกคุกคามจากกฎหมายและอำนาจของรัฐ จนทำให้ บิลลี่-นักเคลื่อนไหวในชุมชนถูกฆาตกรรม มีการปกปิดข้อมูลและรัฐไม่ต้องการสร้างความเข้าใจให้ชุมชนชายขอบ


“โครงการนี้ในแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ก็ไม่ต่างกัน การสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนยังเป็นสิ่งที่คลุมเครือและรวบรัดไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งการมาอบรมครั้งนี้ก็ได้เรียนรู้ว่าการพัฒนาโครงการของรัฐต้องการปกปิดข้อมูลมากกว่าการเปิดเวทีพัฒนาร่วมกัน ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนั้น การสื่อสารของชุมชนต่อสาธารณะจึงมีความจำเป็นมากในการพัฒนางานสื่อให้เกิดความปลอดภัย”


สำหรับโครงการผันน้ำยวม ลุ่มน้ำสาละวิน ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้จัดสรรงบประมาณเร่งด่วนเมื่อปี พ.ศ. 2559 ศึกษาน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ศึกษาแนวทางส่งน้ำที่เหมาะสม พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562 สรุปผลการศึกษาของกรมชลประทานว่าแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำภูมิพล มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นลำดับแรก ในโครงการนี้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ระบบอุโมงค์และถังพักน้ำ จุดทิ้งดินหรือจุดกองวัสดุจำนวน 6 จุด

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่พัฒนาโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่ยืนยันว่ายังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นหรือการให้ข้อมูลต่อประชาชนพื้นที่ผลกระทบ มีเพียงการเชิญผู้นำไปชี้แจงและทำความเข้าใจเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น