ผู้จัดการรายวัน360-“บิ๊กตู่”หนุนเปิดประชุมสภาวิสามัญ ผ่าทางตันประเทศ หวังลดความขัดแย้งชุมนุม นำเข้าหารือ ครม. 20 ต.ค.นี้ “ชวน”ร่อนหนังสือด่วนถึงนายกฯ หลังทุกพรรคเห็นพ้องเปิดประชุมสภาฯ คลี่คลายสถานการณ์ ย้ำทุกนาทีมีค่า “วิรัช”ย้ำเร่งพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สนองความต้องการมวลชน “สุทิน”แนะนายกฯ ลาออก เลือกคนใหม่ หรือพรรคร่วมถอนตัว ฝ่ายค้านจี้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลฝากขัง “ไมค์-เอกชัย” ส่วน “หมอทศ-เพนกวิน-รุ้ง” ได้รับการปล่อยตัวแล้ว คณะประชาชนปลดแอกแถลงการณ์ หยุดดำเนินคดี ปล่อยคน แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นทางออกประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า ตนรู้ทุกคนเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง รัฐบาลเองไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องเหล่านี้ และทราบว่าทางสภาผู้แทนราษฎรจะมีการหารือเรื่องการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งรัฐบาลมีความคิดนี้อยู่แล้วในขณะนี้ เพื่อให้เกิดทำความเข้าใจกันในสภาฯ รัฐบาลจำเป็นต้องทำหน้าที่ตรงนี้ คงไม่ได้ทำตามแรงกดดันของใคร รัฐบาลมีแนวคิดอย่างนี้อยู่แล้ว ซึ่งมี 2 กลไกด้วยกัน โดยกลไกประธานสภาฯ ที่จะเปิดประชุมสภาฯ และรัฐบาลเป็นอีกส่วนหนึ่ง
“รัฐบาลยืนยันให้การสนับสนุนการเปิดประชุมสภาวิสามัญ เพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกัน นำข้อเท็จจริงมาพูดจากันดีกว่าให้เป็นเรื่องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว เพื่อลดความขัดแย้งลงไปให้ได้มากที่สุด และยิ่งวันนี้ปัญหาประเทศไทยมีอยู่หลายประการด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องเหล่านี้ และยินดีที่จะใช้กลไกรัฐสภา ผมขอยืนยันตรงนี้ โดยวันที่ 20 ต.ค.2563 จะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมการให้พร้อม ส่วนประเด็นใดบ้าง ก็คอยดูแล้วกัน”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ ในการดูแลผู้ชุมนุมอย่างไรหรือไม่ อย่างการขยายพื้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นอกจากเขตท้องที่กรุงเทพฯ นายกฯ ตอบว่า ยังไม่มีขยายพื้นที่อะไรทั้งสิ้น และจะเห็นได้ว่ารัฐบาลประนีประนอมมากที่สุดแล้ว โดยขอไม่กี่อย่างเอง คือ อย่ากระทำความผิด ทำร้ายทรัพย์สินราชการ ทรัพย์สินประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดต้องระมัดระวังการกระทบกระทั่งกันในกลุ่มผู้ชุมนุม และประเด็นที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ คือ ในเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อถามว่า มีคำถามว่า ถ้าเปรียบกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร และ กปปส. การยกระดับสลายการชุมนุมแตกต่างกัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มันคนละเรื่อง คนละเวลา คนละสถานการณ์ คนละรัฐบาล อย่ามาถามรัฐบาลผม แต่ก่อนนี้รัฐบาลใคร รัฐบาลผมหรือเปล่า
เมื่อถามว่า มีการพูดถึงการประกาศใช้เคอร์ฟิวแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดถึงอะไรเลยซักอย่าง ถามกันไปตลอด บอกแล้วว่ายังไม่มีก็จะถามให้มันมีอยู่ได้ เข้าใจตรงนี้เสียบ้าง
*** ทุกฝ่ายเห็นพ้องแก้วิกฤตบ้านเมือง
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เรียกตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาหารือถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเป็นการเร่งด่วน ก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญปกติ เพื่อให้รัฐสภาหาทางออกให้กับบ้านเมืองจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยมีข้อสรุปว่าต้องการให้เปิดการประชุมสมัยวิสามัญ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดข้องที่จะให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่ติดอยู่ตรงที่ว่าจะต้องทำเรื่องทูลเกล้าฯ เพื่อขอเปิดประชุม โดยนับจากวันนี้ไปถึงวันที่จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญที่ 2 เหลือเวลาอีก 11 วัน แต่ในที่ประชุมเห็นว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจะช้าหรือเร็ว 1 หรือ 2 วันก็มีค่าทั้งนั้น เพราะถือเป็นการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง
ส่วนการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็ต้องเร่งสรุปรายงานเพื่อเสนอต่อสภาฯ ภายในวันที่ 22 ต.ค. ซึ่งกมธ.พิจารณา 6 ร่างของ ส.ส. แล้ว และร่างที่ 7 ของไอลอว์ ก็จะพยายามเร่ง เพื่อให้นำมาพิจารณารวมกันคราวเดียว จึงขอฝากไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่
นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เมื่อเปิดสภาฯ แล้ว ได้ข้อสรุปว่าจะต้องมีการพูดเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่หลายคนเสนอให้ยกเลิก รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะต้องการจะทำพร้อมกับร่างของไอลอว์ ส่วน 6 ร่างของ ส.ส. ที่เสนอไปแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอขยายเวลาในการศึกษา ซึ่งอาจจะไม่ทัน แต่ทางใดที่จะสามารถเร่งเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้ก็อยากจะให้ทำ และอยากให้การเปิดวิสามัญครั้งนี้ เน้นการพูดจาสาระล้วนๆ ไม่อยากให้สังคมกังวลว่าเปิดแล้ว ก็มาทะเลาะด่ากัน เปิดเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ โดยยังอยากให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ ส.ว.มาร่วมด้วย
ส่วนทางออกที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ การทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และจะเอาใครเป็นรัฐบาลในช่วงนี้ ก็ต้องมาช่วยกันคิด และต้องเป็นรัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับ และต้องถ่วงดุลและตรวจสอบได้ โดยส่วนตัวเห็นว่ามีกลไกที่ทำได้ คือ เลือกตามแคนดิเดตเดิม หรือใช้ม.272 ที่ให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ หรือพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ก็ถือเป็นทางออกอีกอย่างหนึ่ง
***เปิด 2 เหตุผลฝ่าวิกฤตย้ำทุกนาทีมีค่า
นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายชวน ได้ลงนามในหนังสือเพื่อส่งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยด่วนแล้ว เพื่อให้ทันการประชุม ครม. วันนี้ (20 ต.ค.) โดยมีเหตุผล 2 ข้อ คือ 1.คณะรัฐมนตรีควรมีมติเห็นชอบตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาส อภิปรายแสดงความคิดเห็นชี้แจงในข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และลดปัญหาข้อขัดแย้ง และ 2.คณะรัฐมนตรีสมควรให้มีการรับฟัง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 165 ส่วนจะมีการเปิดประชุมวันไหนขึ้นอยู่กับ ครม. แต่ทุกวินาทีมีความหมาย และควรจัดให้มีการประชุมให้เร็วที่สุด
***จี้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ ร่วมแถลงข่าว โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า ต้องยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทันที รวมถึงยกเลิกการจับกุม และปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุม เพราะการชุมนุมเป็นไปโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ
*** “เพื่อไทย”ไล่ “บิ๊กตู่” ออกไปเลย
ที่พรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคได้เชิญส.ส.ของพรรคมาประชุม 4 ประเด็น คือ 1.ให้มาทำใบรับรองจากสภาฯ เพื่อนำไปใช้ประกันตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมตัวทั่วประเทศ 2.ขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเร่งด่วน 3.ขอประกาศจุดยืนของพรรค ให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง และ 4.ขอให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทุกคน
***ม็อบถูกจับกุมแล้ว 80 ราย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปคดีของผู้ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13-18 ต.ค.2563 มีประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่น้อยกว่า 80 คน มี 4 คน ถูกจับไป แต่ไม่แจ้งข้อหา ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดี 76 คน ในจำนวนนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 27 คน และอีก 8 คน ถูกคุมตัวอยู่ระหว่างสอบสวน
***ตร.ประเมินม็อบ 18 ต.ค. 2 หมื่นคน
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีการชุมนุมใน 3 พื้นที่หลักในเขตกรุงเทพฯ คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและพื้นที่โดยรอบ มีผู้ชุมนุม 12,000-14,000 คน บริเวณแยกอโศกมีผู้ชุมนุม 2,000 คน และบริเวณถนนสุขุมวิทขาเข้าและขาออกตั้งแต่แยกอุดมสุขไปถึงแยกบางนา มีผู้ชุมนุมประมาณ 3,500 คน รวม ประมาณ 20,000 คน ทั้งนี้ กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณแยกบางนา หลังจากประกาศยุติการชุมนุมแล้ว มีผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของ ทุบ ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรที่บริเวณ สี่แยกบางนา ตอนนี้ สน.บางนาได้รับคำร้องทุกข์แล้ว และจะร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับ
***ฝากขัง “ไมค์” ไม่ให้ประกัน “เอกชัย”
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้นำตัวนายนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำม็อบคณะราษฎร ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา 2 สำนวน มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกต่อศาลอาญาเป็นเวลา 12 วันตั้งแต่วันที่ 19-30 ต.ค.2563 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก , รอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา มาประกอบสำนวนการสอบสวนในความผิดฐานยุยงปลกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กรณีจัดกิจกรรมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19 ก.ย. และปักหมุดคณะราษฎร โดยคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากมีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวาย เกรงว่าจะหลบหนี และล่าสุดศาลสั่งไม่ให้ประกันตัว และได้นำตัวส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
นอกจากนี้ ยังไม่ให้ประกันตัวนายเอกชัย หงส์กังวาน ผู้ต้องหาคดีร่วมกันพยายามกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี ตามที่พนักงานสอบสวนได้คัดค้าน เพราะอาจไปก่อความไม่สงบ หรือเหตุร้าย
***ปล่อย“หมอทศ-ไบร์ท-เพนกวิน-รุ้ง”
ส่วนกรณีการออกหมายจับ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ กรณีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และนพ.ทศพร ได้เดินทางไปมอบตัวเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่สน.ปทุมวัน ล่าสุด ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ศาลให้ทำสัญญาไว้มูลค่า 20,000 บาท ไม่ต้องวางเงิน โดยศาลนัดได้นัดใหม่ในวันที่ 18 พ.ย.2563 และยังได้ให้ประกันตัวนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท และหลังได้รับการประกันตัว ได้เดินทางมาร่วมชุมนุมที่สถานีรถไฟฟ้า หน้ากระทรวงสาธารณสุขทันที
ขณะเดียวกัน ได้ให้ประกันตัว น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ นายณัฐชนน ไพโรจน์ หรือณัฐช ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี ในความผิดหลายข้อหา เกี่ยวกับการจัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และกิจกรรมต่อเนื่อง แต่ยื่นหลักทรัพย์ไม่ทัน คาดว่าจะยื่นวางหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวอีกครั้งในวันนี้ และยังได้ให้ประกันตัวนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ The Bottom Blues ด้วย
***ประชาชนปลดแอกเรียกร้อง3ข้อ
คณะประชาชนปลดแอก - Free People หนึ่งในองค์กรแนวร่วมของคณะราษฎร ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.หยุดดำเนินคดีแก่ประชาชนทุกกรณี 2.ปล่อยบุคคลที่ต้องข้อหาตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และเกิดขึ้นภายใต้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และ 3.สภาต้องรับหลักการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อเป็นการหาทางออกให้แก่ประเทศ และเป็นการยุติปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการดำเนินการตามที่ข้อเรียกร้อง เพื่อให้สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลายและเกิดความสันติอย่างแท้จริง
***บุก“ฟ้าเดียวกัน”ยึดหนังสือวิจารณ์สถาบันฯ
เฟซบุ๊ก “ฟ้าเดียวกัน” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โพสต์ภาพขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี เข้าตรวจค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ซอยรัตนาธิเบศร์ 28 ถนนรัตนาธิเบศร์ ต.บางกระสอ อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี ระบุว่า "ตำรวจนำหมายค้นมายึดหนังสือฟ้าเดียวกัน 5 ปก ได้แก่ 1.ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (แต่งโดย ณัฐพล ใจจริง) 2.ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (แต่งโดย ณัฐพล ใจจริง) 3.ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (แต่งโดย ธงชัย วินิจจะกูล) 4.โฉมหน้าราชาชาตินิยม (แต่งโดย ธงชัย วินิจจะกูล) 5.ฟ้าเดียวกัน 18/2 : อ่านใหม่พระปฐมบรมราชโองการ และให้นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ไปให้ปากคำที่ สภ.รัตนาธิเบศร์