xs
xsm
sm
md
lg

“ไมค์”นอนคุก ไม่ได้ประกัน! จัดม็อบรำลึก 19 ก.ย.-ปักหมุดคณะราษฎร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม





ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ฝากขัง-ค้านประกัน “ไมค์-ภาณุพงศ์” แกนนำม็อบคณะราษฎร 2 สำนวน กรณีชุมนุมม.ธรรมศาสตร์ 19 ก.ย. และปักหมุดคณะราษฎร สุดท้ายไม่ได้ประกัน นอนคุกตามระเบียบ

เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ (19 ต.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้นำตัวนายนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ อายุ 23 ปี แกนนำม็อบคณะราษฎร ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1587/2563 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยกระทำผิดเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด มายื่นคำร้องฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 19-30 ต.ค.นี้ เนื่องจากต้องสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรและผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหามาประกอบสำนวนการสอบสวน

พฤติการณ์ในคดีกล่าวคือก่อนเกิดเหตุได้มีกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายภาณุพงศ์ จาดนอก กับพวกได้ประกาศนัดหมายกันผ่านสื่อออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และการแถลงข่าวที่ ม.ธรรมศาสตร์ทางสื่อทีวี ว่าจะมีการจัดกิจกรรม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 14.00 น. ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุมีกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางเข้ามารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณฟุตปาธด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รอบพื้นที่สนามหลวง จากนั้นนายภาณุพงศ์ผู้ต้องหาในคดีนี้พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันผลักดันประตูรั้ว ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนแม่กุญแจที่ล็อกประตูรั้วของ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้รับความเสียหาย กลุ่มผู้ชุมนุมจึงสามารถเข้ามาภายใน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ได้ มีการใช้รถเวทีปราศรัยเคลื่อนที่พร้อมด้วยเครื่องขยายเสียงในการปราศรัย และกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งยังได้มีการตัดเหล็กแม่กุญแจของประตู ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้านท่าเรือท่าพระจันทร์อีกด้วย ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังพื้นที่ท้องสนามหลวง และได้พังรั้วสนามหลวงฝั่งหญ้า พร้อมจัดตั้งเวทีปราศรัยและจัดกิจกรรมบนเวทีปราศรัยใหญ่โดยได้มีกิจกรรมสลับกับการปราศรัยบนเวทีของแกนนำเรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 06.44 น. นายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหาในคดีนี้พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร โดยนำหมุดมาฝังลงบนพื้นที่ท้องสนามหลวงบริเวณหน้าเวที ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเจาะทำลายพื้นบริเวณดังกล่าวเพื่อใช้ในการประกอบพิธี ภายหลังแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวจึงได้ประกาศยุติการชุมนุมโดยยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ

พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหานี้ ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1587/2563 ลงวันที่ 15 ต.ค. ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2563 เวลาประมาณ 20.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาลกับพวก สามารถติดตามจับกุมนายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหานี้ตามหมายจับและแจ้งสิทธิตามกฎหมาย ก่อนควบคุมตัวผู้ต้องหาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2553 เวลาประมาณ 15.00 น. พนักงานสอบสวนได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 116 (3), 215 วรรคสาม, 83, พ. ร. บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10, 14, พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2553 (ฉบับที่ 5) ข้อ 2 (2) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 และ (ฉบับที่ 13) ข้อ 1, 5 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2563, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องห้ามชุมนุมการทำกิจกรรมการมั่วสุมลงวันที่ 3 เม.ย. 2563, มาตรา 114, 148, พ. ร. บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 19, 57, พ. ร. บ. ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 9

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องฝากขังนายนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ อายุ 23 ปี แกนนำม็อบคณะราษฎร 2563 ความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, แก้ไข เปลี่ยนแปลง ต่อเติม ทำลายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเป็นหนังสือจากอธิบดี

จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 06.44 น. นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องหาในคดีนี้พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการทำพิธีปักหมุดคณะราษฎรโดยนำหมุดมาฝังลงบนพื้นที่ท้องสนามหลวง อันเป็นการขุดเจาะ ทำลายพื้นบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นโบราณสถานเพื่อใช้ในการประกอบพิธีฯ ทำให้พื้นปูนในบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นของกรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินจำนวน 16,781.62 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 83, 358 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุศิลปะวัตถุฯ พ.ศ. 2504 มาตรา 10, 35 (มาตรา 10, 35 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535) ซึ่งทางกรมศิลปากร ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อให้ดำเนินคดีต่อนายภาณุพงศ์ กับพวกตามกฎหมาย มายื่นคำร้องฝากขังครั้งเเรกต่อศาลอาญาเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 19-30 ต.ค. 2563 เช่นกัน

เหตุเกิดบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้ง 2 สำนวน

ท้ายคำร้องทั้ง 2 สำนวน พนักงานสอบสวนยังระบุว่า หากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันเนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองในลักษณะเดิมเหมือนที่ผ่านมา และผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดีและหลายท้องที่ ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง อีกทั้งผู้ต้องหายังมีหมายจับศาลแขวงปทุมวัน ที่ 190/2563 และที่ 169/2553 ลงวันที่ 17 ต.ค. 2563 หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

ศาลได้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนและคำร้องคัดค้านการฝากขัง ของนายภานุพงศ์แล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ผู้ต้องหาได้สำนวนคดีละ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-25 ต.ค.นี้

ต่อมาทนายความของนายภาณุพงศ์ ยื่นคำร้องพร้อมเงินสดขออนุญาตปล่อยชั่วคราวนายภาณุงพงศ์ ข้อหา ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และกระทำผิด พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ต่อศาลข้อหาละ 1 แสนบาท รวมเป็นเงิน 2 แสนบาท โดยคำร้องประกันขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฝากขังนั้น ตามกฎหมายพนักงานสอบสวนสามารถยื่นขอได้คราวละ 12 วัน แต่ศาลจะกำหนดให้ฝากขังกี่วัน ถือเป็นเป็นดุลยพินิจของศาลและตามเหตุจำเป็นในคดีนั้น ๆ

ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลอาญาได้พิเคราะห์คำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายภาณุพงศ์แล้ว เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งยังกระทบต่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมโดยรวม ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว จึงน่าเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองหรือก่อเหตุร้ายประการอื่นอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหา

ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนายภาณุพงศ์ทั้งสองสำนวน หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้นำตัวนายภาณุพงศ์ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

วันเดียวกัน ที่ศาลแขวงปทุมวัน เมื่อช่วงเช้าพนักงานสอบสวนนำตัว นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ มายื่นผัดฟ้องฝากขัง คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีร่วมชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 โดยนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหา ส่วนที่ผู้ต้องหาขอปล่อยชั่วคราวนั้น ศาลพิจารณาแล้วก็อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ทำสัญญาประกันวงเงิน 2 หมื่นบาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ แต่หากผู้ต้องหาผิดสัญญาประกันดังกล่าวจะถูกปรับตามวงเงิน 2 หมื่นบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น