ตำรวจหิ้ว “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำม็อบชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝากขังศาลอาญา ดำเนินคดี 12 ข้อหา ขณะทนายความระบุจะคัดค้านฝากขัง ล่าสุดศาลไม่อนุญาตให้ประกัน จึงคุมตัวไปนอนคุกลาดยาว เช่นเดียวกับแกนนำม็อบอีก 19 ราย
เมื่อเวลา 14.40 น.เศษ วันนี้ (14 ต.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ควบคุมตัว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” อายุ 29 ปี เเกนนำกลุ่มคณะราษฎรที่ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวานนี้ มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งเเต่วันที่ 14-25 ต.ค. 2563 โดยผู้ต้องหามีสีหน้ายิ้มเเย้มชู 3 นิ้ว ระหว่างถูกควบคุมตัว และผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
คำร้องฝากขังระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 15.40 น. ตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ได้จับกุม นายจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ผู้ต้องหาซึ่งเป็นแกนนำชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โทษจำคุกไม่ 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับฯ, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้, จอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า, ตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17(2), 19, 56, 57 และข้อหาอื่นรวม 12 ข้อหา พร้อมกับจับกุมพวกผู้ต้องหารวม 21 คน ส่งพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ดำเนินคดีตามกฎหมาย เหตุเกิดบริเวณอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม.
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา นายจตุภัทร์ รวม 12 ข้อหา ประกอบด้วย 1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โทษจำคุกไม่ 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 4. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท 5. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท 6. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 7. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กะเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท 8. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 9. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท 10. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน โทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 11. แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคท้าย เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 12. ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ท้ายคำร้องยังระบุว่า ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาจะครบ 48 ชั่วโมงแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสอบพยานอีก 3 ปาก, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขอฝากขังเป็นเวลา 12 วันและหากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยังได้ยื่นคำร้องฝากขัง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน กรณีได้ร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก จัดกิจกรรม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 อีกสำนวนด้วยในความผิดฐาน ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 ข้อ 5 และข้อหาอื่นๆ เหตุเกิดบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 09.00 น.ถึงวันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลา 09.45 น.
โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกัน เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองลักษณะเดิมเหมือนคดีที่ผ่านมา และผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดีและหลายท้องที่ ล้วนเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ทั้งนี้ ทนายความผู้ต้องหาได้คัดค้านการฝากขัง ศาลจึงไต่สวนคำร้องฝากขังแลคำร้องคัดค้านการฝากขัง ซึ่งศาลพิเคราพห์แล้ว ได้ยกคำร้องคัดค้านการฝากขัง เห็นว่าคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนชอบแล้ว จึงอนุญาตให้ฝากขังได้ ส่วนที่ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องของปล่อยชั่วคราวโดยมี สส.พรรคก้าวไกลคนหนึ่งเป็นนายประกันนั้น เมื่อเวลา 18.30 น. ศาลอาญา ได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหามีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวก็อาจจะไปมีพฤติการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกันอีก ประกอบกับพนักงานสอบสวนก็ได้คัดค้านการประกันตัวด้วย ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ต้องหาที่ขอปล่อยชั่วคราวดังกล่าว
จากนั้นเจ้าหน้าที้ราชทัณฑ์จึงนำตัวนายจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน”ไปคุมขังระหว่างฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้ต้องหา อีก 19 ราย ที่นำตัวไปฝากขังศาลแขวงดุสิต ประกอบไปด้วย นายวชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 1, นายปริญญ์ รอดระหงษ์ ผู้ต้องหาที่ 2, นายปวริศ แย้มยิ่ง ผู้ต้องหาที่ 3, นายฐิติสรรค์ ญาณวิกร ผู้ต้องหาที่ 4, นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผู้ต้องหาที่ 5, นายวันชัย สุธงสา ผู้ต้องหาที่ 6, น.ส.วรางคณา แสนอุบล ผู้ต้องหาที่ 7, นายนันทพงศ์ ปานมาศ ผู้ต้องหาที่ 8, นายทวีชัย มีมุ่งธรรม ผู้ต้องหาที่ 9, นายเมยาวัฒน์ บึงมุม ผู้ต้องหาที่ 10, นายธนกฤต สุขสมวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 11, นางเพ็ญศรี เจริญเณรรักษา ผู้ต้องหาที่ 12, น.ส.อภิชญา เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 13, นายมุสิก ผิวอ่อน ผู้ต้องหาที่ 14, นายภักดี ศรีรัตอำไพ ผู้ต้องหาที่ 15, นายนวพล ต้นงาม ผู้ต้องหาที่ 16, นายกิตติภูมิ ทะสา ผู้ต้องหาที่ 17, นายทรงพล สนธิรักษ์ ผู้ต้องหาที่ 18, นายจิรวัฒน์ รูปใหญ่ ผู้ต้องหาที่ 19 โดยผู้ต้องหาทั้ง 19 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
เมื่อเวลา21.00 น.เศษภายหลัง ส.ส.พรรคก้าวไกลใช้ตำเเหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง19 ราย โดยศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วผู้ต้องหาทั้ง19 คน มีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ก่อให้เกิดความรุนแรงและมีพฤติการณ์ต่อสู้เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ในลักษณะเป็นกลุ่มชนหมู่มากทั้งมีแนวโน้มที่จะก่อความวุ่นวายในที่ชุมนุมและยากต่อการควบคุมสถานการณ์อันอาจเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นและประชาชนหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในช่วงเวลานี้เชื่อว่าจะไปร่วมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีกจึงให้ยกคำร้อง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 19 คนไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง
ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 ราย ที่เป็นเยาวชนนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิจารณาแล้วให้ประกันตัวโดยทำสัญญาประกัน ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดซ้ำในข้อหาที่ถูกกล่าวหาอีก