xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

6 ปี 2 พันล้าน 11 โครงการจัดทรัพยากร กรมป่าไม้-กรมอุทยาน คุ้มค่าขนาดไหน?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่าน ปมปัญหาที่เกิดกับการร้องเรียน ผู้บริหารองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ถูกนำไปโยงคดี "สวนสัตว์สงขลา" กำลังร้อนแรง ซึ่งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสังคมและเทคโนโลยี อยู่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

นอกจากองค์การสวนสัตว์ฯ ทส. ยังมีหน่วยงานในสังกัดอีกเพียบ

วันก่อนมีข่าวเล็กๆว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพิ่งส่งหนังสือถึง "อธิบดีกรมป่าไม้" หน่วยงานรัฐ ในสังกัดทส. เพื่อแจ้งผลการชี้มูลความผิด หลังการตรวจสอบ "การทุจริตของข้าราชการกรมป่าไม้" ที่ถูกร้องเรียน จำนวน 3 ชุด รวม 15 ราย ว่า "มีการกระทำความผิดจริงและให้ไล่ออกจากราชการ"

หนังสือระบุว่า ข้าราชการชุดแรก จำนวน 10 ราย กรณีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยป่าแม่สรอย (โครงการป่าแม่สรอย) อ.วังชิ้น จ.แพร่ เมื่อปี 2548 ใช้วิธีจ้างเหมา ส่วนใหญ่เป็น อดีตข้าราชการ ตำแหน่ง"เจ้าพนักงานป่าไม้" สังกัดสวนปลูกป่าภาครัฐ สังกัดส่วนป้องกันและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการและควบคุมไฟป่า สังกัดส่วนเพราะชำกล้าไม้ช่วยราชการส่วนปลูกป่าภาครัฐ สังกัดส่วนเพราะชำกล้าไม้ช่วยราชการส่วนปลูกป่าภาครัฐ

ชุดที่สอง จำนวน 1 คน กรณีการจัดซื้อจัดจ้างการปลูกป่าที่ จ.กระบี่ คนที่ถูกชี้มูล เคยอยู่ตำแหน่ง"ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 (สาขากระบี่)"

และชุดที่สาม จำนวน 4 คน กรณีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดวงใจสีเขียว ร่วมใจปลูกป่า ภายใต้โครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า ที่ จ.ราชบุรี ปี 2556 คนที่ถูกชี้มูลเคยเป็น ผอ.สำนักบริหารกลาง กรมป่าไม้ เคยเป็น ผอ.ส่วนพัสดุ สำนักบริหารกลาง กรมป่าไม้ เคยเป็นนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้

โดยผู้ที่ถูกชี้มูล ชุดแรกในขั้นตอนของ"อ.พ.ก.กรมป่าไม้" มีมติให้ไล่ออกจากราชการ ซึ่งผู้ที่ถูกชี้มูลเสียชีวิตไป 1 คน เหลืออีก 9 คน กำลังทำเรื่องอุทธรณ์ผ่านศาลปกครอง

ขณะที่ปัจจุบัน "ข้าราชการที่ถูกชี้มูลบางราย" ได้รับแต่งตั้งเป็นถึง "ข้าราชการระดับ 9"

15 คน มีใครบ้าง หาอ่านได้ตามสื่อทั่วไป

มีข้อมูลจากทส.ว่า การแจ้งผลการชี้มูลความผิดส่วนใหญ่จะมีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จากนั้นสตง.ตรวจสอบแล้วส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อมูลความผิดก่อนชี้มูล

จบเรื่องการชี้มูลจากป.ป.ช. รอบนี้

วันก่อน สตง. เพิ่งรายงานผล"การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนรวม" ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการเติบโตบนคุณภาคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตรวจสอบผ่านโครงการของ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช ซึ่งสตง.ได้นำส่งผลจากตรวจสอบและข้อเสนอแนะไปยังหน่วย

งานทั้ง 2 แล้ว โครงการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบมีส่วนร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนงาน ในยุครัฐบาล คสช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 - 2562 ใช้งบฯ รวมทั้งสิ้นกว่า 2,070 ล้านบาท ใน 11 โครงการ ประกอบด้วย

กรมป่าไม้ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) โครงการป่าชุมชน โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ (สป.สร.) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กิจกรรมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า โครงการเครือข่ายหมู่บ้านฟื้นฟูป่า (คมป.)

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช 6 โครงการ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) โครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมชองชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (สสอ.) โครงการประชาคมเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ป่าไม้ โครงการหมู่บ้านพิทักษ์ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม โครงการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้โดยสร้างแรงจูงใจและกระบวนการมีส่วนร่วม (เครือข่าย REDD+)

สตง.ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เครือข่าย 70 แห่ง

ทีนี้มาดูผลตรวจสอบที่น่าสนใจจาก 2 ข้อตรวจสอบ หาอ่านฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ สตง.

ข้อตรวจพบที่ 1 การส่งเสริมเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบมีส่วนร่วม "ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์" มีอะไรบ้าง ?

สตง. พบว่ายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ใน "การส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่า" เพราะจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคของ 6 โครงการ จาก 11 โครงการ พบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถประเมินผลสำเร็จในการสร้างอาชีพได้ เนื่องจากไม่มีการจัดเก็บข้อมูลในส่วนของผลสำเร็จไว้

ขณะที่ "เครือข่ายส่วนใหญ่" ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งในด้านชองการเพิ่มรายได้และการลดรายจ่าย เช่นเดียวกับการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า "ยังประสบปัญหาบางประการ"

โดยเฉพาะ การบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการส่งเสริมให้มีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ พื้นฟู และป้องกันพื้นที่ป่า จากสุ่มตรวจสอบ 38 แห่ง ประกอบด้วย

"กิจกรรมการปลูกป่า/ปลูกต้นไม้" เครือข่ายที่ดำเนินกิจกรรม 56 แห่ง จากที่สุ่มตรวจพบว่า การดำเนินกิจกรรมของเครือข่าย มีปัญหาเรื่องความครบถ้วนของต้นไม้ที่ปลูก 20 แห่ง และต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตไม่เหมาะสม 24 แห่ง ซึ่งผู้นำเครือข่ายให้ความเห็นว่าการที่ต้นไม้มีอัตราการรอดตายตํ่า หรือไม่เจริญเติบโต เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ปัญหานี้าท่วมพื้นที่ รวมถึงการขาด การดูแลรักษา

"กิจกรรมการเพาะชำกล้าไม้" มีเครือข่ายที่ดำเนินกิจกรรม 13 แห่ง พบว่าเครือข่ายโดยส่วนใหญ่แจกจ่ายกล้าไม้ ตามโครงการหมดแล้ว แต่บางแปลงเพาะชำกล้าไม้ กลับพบว่า มีกล้าไม้ป่าเหลือทิ้งจำนวนมาก เช่น หว้า พญาเสือโคร่ง เป็นต้น

**และมีกล้าไม้บางส่วน ที่ตายในแปลงเพาะชำ**

"กิจกรรมการจัดทำฝาย" มีเครือข่ายที่ดำเนินกิจกรรม 44 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ฝายที่ก่อสร้างสามารถใช้งานได้ดี มีเครือข่ายเพียง 4 แห่ง ที่ให้ความเห็นว่ามีปัญหาเรื่องฝายชำรุด

"กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมไฟป่า" มีเครือข่ายที่ดำเนินกิจกรรมการลาดตระเวนเพื่อป้องกันและควบคุมไฟป่า 53 แห่ง กิจกรรมการจัดทำแนวกันไฟ 46 แห่ง และกิจกรรมการจัดเตรียมอุปกรณ์ดับไฟป่า จำนวน 31 แห่ง

ประเด็นนี้ เครือข่ายโดยส่วนใหญ่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์สมาชิกเครือข่ายและการสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า จำนวน 6 แห่ง และเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จำนวน 6 แห่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายภายใต้โครงการที่มีวัตถุประสงคโดยตรงในการส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมไฟป่า

พบว่า เครือข่าย 7 แห่ง ให้ความเห็นว่า "อุปกรณ์ดับไฟป่าไม่เพียงพอและต้องการอุปกรณ์เพิ่มเติม" และเครือข่าย 3 แห่ง ให้ความเห็นว่า "อุปกรณ์ดับไฟป่าบางอย่างไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เข่น ลาโด่ ไม้ตบ ถังฉีดนํ้า และสายฉีด เป็นต้น"

สำหรับข้อตรวจพบที่ 2 "ปัญหาความยั่งยืนของเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้กับหน่วยงานของรัฐ" พบว่า บางโครงการจำนวนเครือข่ายที่ดำเนินการอยู่ลดลงจากที่มีการจัดตั้งทั้งหมด โดยมีเพียงเครือข่าย รสทป. ของกรมป่าไม้ และเครือข่ายการแก้ไขป้ญหาไฟป่า และหมอกควัน

"ที่มีรายงานว่า ยังมีการดำเนินกิจกรรมอยู่ทุกแห่ง รองลงมาคือ "เครือข่ายป่าชุมชน และเครือข่ายหมู่บ้านพิทักษ์ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม เครือข่าย ที่ยังคงดำเนินการอยู่ร้อยละ 79.10 และ 71.75 ตามลำดับ"

ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค "ส่วนใหญ่" ให้ความเห็นว่า เครือข่ายฯที่จัดตั้งขึ้นบางส่วน "ยุติการดำเนินกิจกรรม" ตามโครงการไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับ "การจัดตั้งกฎกติกาภายในชุมขน" การดำเนินกิจกรรม "ลดลง" เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่จัดตั้งเครือข่ายหรือได้รับการสนับสนุน"งบประมาณ"ในการดำเนินงาน

เช่นเดียวกันกับการดำเนินกิจกรรมของเครือข่าย จำนวน 18 แห่ง มีแนวโน้มการดำเนินการที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจาก ณ วันที่สังเกตการณ์ เครือข่ายไม่ได้มีการดำเนินกิจกรรมตามโครงการแล้ว หรือจำนวนสมาชิกที่ทำกิจกรรมอยู่ม่แนวโน้มลดลง หรือบางเครือข่ายลิ้นสุดการดำเนินโครงการไปแล้ว

โดย สตง. เชื่อว่า สาเหตุที่ยังประสบปัญหาในการมีส่วนร่วม เพราะประชาชนยังขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างแท้จริง การดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายบางแห่งยังขาดการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน และรูปแบบการส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายไม่ต่อเนื่อง

หน่วยงานเจ้าของโครงการ ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการติดตามและส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายที่ไม่ได้รับการสนับสนุนตามโครงการ การดำเนินกิจกรรมที่ไม่ครอบคลุมทุกกิจกรรมและขาดการบูรณาการร่วมกันภายในหน่วยงาน

การดำเนินกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เช่น การส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก บางโครงการมีข้อกำหนดให้เครือข่ายฯ ที่เข้าร่วมโครงการต้องปลูกหญ้าแฝก 10,000 กล้า ซึ่งเครือข่ายที่สุ่มตรวจสอบ "ไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมมากเพียงพอที่จะปลูกได้หมดตามจำนวนที่ได้รับจากโครงการ" เป็นต้น

ที่สนใจที่สุด เป็นประเด็น "การสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า" จากการสัมภาษณ์เครือข่ายที่ได้รับทั้ง 6 แห่ง พบว่าเครือข่าย 3 แห่ง ยังไม่เห็นความสำคัญของการใช้อุปกรณ์ดับไฟป่า และให้ความเห็นว่า ไม่ค่อยได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เนื่องจากมีน้ำหนักมาก พื้นที่เกิดไฟป่าส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่สามารถนำอุปกรณ์ที่ได้รับขึ้นไปใช้ดับไฟป่าในพื้นที่ได้ ประกอบกับเครือข่าย ให้ความเห็นว่า ต้องการนำ "งบประมาณ" ที่กำหนดให้จัดซื้อเครื่องมือ หรือเครื่องมือที่ได้รับการสนับสนุน เปลี่ยนเป็นงบประมาณสำหรับให้ "เครือข่ายจัดซื้ออุปกรณ์ตามความต้องการ" หรือใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการลาดตระเวนและเข้าดับไฟจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ทั้งหมดทั้งมวล ใน 6 ปี กับ 11 โครงการ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2562 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 2,070 ล้านบาท คงไม่มีข้าราชการ 2 กรมนี้ถูกร้องเรียนมายัง สตง. หรือถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดถึงไล่ออกอีก 


กำลังโหลดความคิดเห็น