xs
xsm
sm
md
lg

ขยับเป้าส่งออกเหลือติดลบ8-10%-เร่งศึกษาCPTPPจูงใจทุนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - กกร.มองทิศทางส่งออกเริ่มกระเตื้องปรับเป้าหมายการส่งออกปี 2563 อยู่ที่ -8% ถึง -10% จากเดิม -10% ถึง -12% แต่ยังคงกรอบศก.เท่าเดิมที่ -7 %ถึง -9% โดยต้องอยู่บนพื้นฐานที่โควิดไม่ระบาดรอบ 2 จ่อชงประเด็นเร่งขับเคลื่อนศก.ในเวทีกรอ. พร้อมศึกษา CPTPPเชิงลึกหลังญี่ปุ่นส่งสัญญาณชัดเลือกลงทุนไปเวียดนามและมาเลเซียเป็นอันดับต้นๆ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3สถาบัน(กกร.)เปิดเผยว่า กกร.ได้มีการปรับเป้าหมายการคาดการณ์การส่งออกปี 2563 ใหม่จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ -10% ถึง 12% เป็น-8ถึง-10% เนื่องจากการส่งออกเริ่มทยอยฟื้นตัวมากขึ้นแต่ยังคงกรอบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จีดีพีปีนี้จะอยู่ในกรอบ -7.0%ถึง -9% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ เดิม- -1.0% ถึง1.5%

“เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและเริ่มทยอยดีขึ้นตามลำดับหากไม่เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ คาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 จะฟื้นตัวได้ต่อไป แต่ยังคงต้องการการสนับสนุนจากมาตรการของรัฐที่ต่อเนื่องและตรงจุด”นายกลินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กกร.ได้เสนอให้มีการต่ออายุมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการชะลอการคืนเงินกู้ โดยขอให้ครอบคลุมตามความเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละประเภท, การลดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน และเร่งรัด soft loan ของสายการบิน เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังกกร. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอด้านเศรษฐกิจเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ซึ่งเบื้องต้นได้นำประเด็นหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ไปแล้วอาทิ ด้านการค้า การลงทุน, การจ้างงาน, SME, โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนมากขึ้น

นอกจากนี้ กกร.ยังได้มีการหารือถึงแนวทางการจัดจ้างที่ปรึกษามาวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของไทยต่อการเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ที่เป็นเชิงลึกแต่ละอุตสาหกรรมอีกครั้ง โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นระบุชัดเจนถึงท่าทีการลงทุนต่างประเทศที่เลือกเวียดนาม และมาเลเซียเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งเมื่อสอบถามกับนักธุรกิจญี่ปุ่นในไทยต่างชี้ชัดว่าเหตุผลหลักที่เลือกเพราะมี CPTPP ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องเร่งสรุปเพื่อที่จะประกอบการนำเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจการเข้าร่วมเจรจาในปี 2564 หลังจากที่ไทยไม่สามารถเข้าร่วมเจรจาได้ทันในปีนี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า แนวโน้มภาคการผลิตเริ่มค่อยๆดีขึ้นแต่ก็จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือให้ต่อเนื่องทั้งด้านสภาพคล่องที่ยอมรับว่ายัคงเป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ได้หากไม่มีมาตรการดูแลให้ต่อเนื่อง และการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ โดยในส่วนของภาคแรงงานเองยังฟื้นตัวช้าเนื่องจากแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมส่วนใหญ่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวที่ขณะนี้ยังไม่ดีขึ้นนักเพราะต่างชาติยังเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ไม่มากเช่นอดีต

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ถือว่าเป็นบุคคลภาคเอกชนยอมรับเนื่องจากเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจดี มีความรู้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ “นายสุพันธุ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น