ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ 5 นับเป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มีโทษ อันผู้รู้ติไม่ได้คือ
1. วาจาที่กล่าวถูกต้องตามกาล 2. วาจาที่กล่าวเป็นความจริง 3. วาจาที่กล่าวอ่อนหวาน 4. วาจาที่กล่าวเป็นประโยชน์ 5. วาจาที่กล่าวประกอบด้วยเมตตา
นี่คือพุทธ ซึ่งปรากฏที่มาในปัญจกนิบาตอังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น มีความชัดเจนเข้าใจได้ไม่ยากว่า สุภาษิตหรือคำพูดที่ดี จะต้องถูกกาลเทศะคือ สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นความจริง และจะต้องมีประโยชน์แก่ผู้ฟังคือ ฟังแล้วให้ความรู้จุดประกายความคิดในทางสร้างสรรค์แก่ผู้ฟัง และไม่เป็นภัยต่อผู้พูด ทั้งจะต้องพูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มิใช่พูดด้วยอารมณ์โกรธแค้น ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งแก่ผู้พูด และผู้ฟัง
เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการชุมนุมของนักศึกษา และประชาชน ในการนี้แกนนำในการชุมนุมได้ขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาการเมือง การปกครอง โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบของการเปลี่ยนการปกครอง ซึ่งดำเนินการโดยคณะราษฎรเมื่อปี พ.ศ. 2475 หรือเมื่อ 80 กว่าปีมาแล้ว และส่วนหนึ่งของเนื้อหาในการปราศรัยของพรรค แกนนำได้พูดจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงในทำนองว่า เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และจบลงด้วยการฝังหมุดสัญลักษณ์การต่อสู้ของคณะราษฎรที่ท้องสนามหลวง แล้วไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบองคมนตรี
จากพฤติกรรมการแสดงออกของบรรดาแกนนำในการชุมนุมครั้งนี้ เรียกได้ว่าไม่สอดคล้องกับกาลเทศะ และไม่เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการกล่าววาจา อันเป็นสุภาษิตดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เกิดขึ้น และเป็นผลสำเร็จแล้ว กล่าวคือ ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ ประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่ไปถึงมาตรฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เฉกเช่นประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งคนไทยรุ่นใหม่ใฝ่ฝันและที่เป็นเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ
1.1 ประชาชนไทยส่วนใหญ่ ไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดีพอประกอบกับคนไทยยึดติดระบบอุปถัมภ์มากกว่าระบอบคุณธรรม จึงเป็นช่องโหว่ ช่องว่างให้ผู้ที่ต้องการอำนาจรัฐเข้าสู่วงการเมือง โดยลงสมัครรับเลือกตั้งและแจกเงิน แจกทอง สิ่งของให้แก่ชาวบ้าน จนกลายเป็นผู้มีพระคุณในสายตาชาวบ้าน ดังนั้น ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ชาวบ้านจะเทคะแนนให้นักการเมืองประเภทนี้ โดยไม่คำนึงว่า ผู้ที่ตนเองเลือกเข้าไป จะมีศักยภาพในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และประชาชนโดยรวมมากน้อยแค่ไหนเพียงไร
1.2 เท่าที่ผ่านมา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่เข้าสู่วงการเมืองด้วยจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ
1.2.1. เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองให้รอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบทางธุรกิจ รวมไปถึงการถูกรังแกจากผู้มีอำนาจ โดยไม่มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ
1.2.2 เพื่อใช้อำนาจรัฐแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ กอบโกยเงินทอง สร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและพวกพ้อง
2. นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน การเมืองไทยได้ผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการ โดยมีการสลับสับเปลี่ยนกันเป็นช่วง และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบหนึ่งมาเป็นอีกระบบหนึ่ง จะมีเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. เหตุปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเผด็จการ ทุกครั้งจะเกิดจากปัญหาภายในของรัฐบาลเองคือ มีการทุจริต คอร์รัปชัน เหลิงและหลงในอำนาจ ขาดความสนใจในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อน รวมไปถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคม จึงทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมขับไล่จนเป็นปัญหาความไม่สงบ และสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เป็นเหตุให้กองทัพยกมาเป็นเหตุอ้างทำรัฐประหารล้มรัฐบาล โดยอ้างเหตุในทำนองเดียวกันกับที่ประชาชนอ้าง
2. เหตุปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระบอบเผด็จการก็คือ เมื่อรัฐบาลในระบอบเผด็จการอยู่ในอำนาจนานเข้าก็เหลิงและหลงอำนาจ เกิดการทุจริต คอร์รัปชัน ประกอบกับการแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ประชาชนเดือดร้อน เปิดช่องให้นักการเมืองที่ต้องการเลือกตั้งร่วมมือกับประชาชนที่เมื่อรัฐบาลเผด็จการทำการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และขับไล่รัฐบาล
ในที่สุด รัฐบาลในระบอบเผด็จการก็จำใจคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยจัดให้มีการเลือกตั้ง