หัวข่าวสัปดาห์นี้ "นายกรัฐมนตรี สั่งจัดระเบียบสายสื่อสาร" จากสาเหตุไม่เป็นระเบียบทั่วประเทศ หลังป.ป.ช. รายงานพบว่า "ผู้ประกอบการ ทั้งเอกชนและรัฐ" ทำผิดกฎหมายเป็นไปตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 ก.ย. โดยให้ยึด"ต้นแบบซอยพหลโยธิน 8 หรือ ซอยสายลม เขตพญาไท" เป็นต้นแบบในการจัดระเบียบสายสื่อสาร และอุปกรณ์โทรคมนาคมทั่วประเทศ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานหลักที่จะบูรณาการข้อมูลและจัดทำแผนในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อแถลงดังกล่าว ระบุว่า นายกรัฐมนตรี สั่งให้หน่วยงานเร่งดำเนินการตามที่ ป.ป.ช. เสนอมาโดยเร็ว "ในส่วนพื้นที่ไหนทำได้ ก็ให้ดำเนินการไปก่อน"
ที่นี้มาดูมติ ครม.เรื่องนี้ ที่รับทราบ “ข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว" จากรายงานของคณะกรรมการป้องกันปละราปบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เสนอให้ กสทช. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ( การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( กฟภ.)) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นเจ้าภาพ
ตามรายงาน ระบุว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งในส่วนของธุรกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจจำนวนมากได้ละเมิดการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพาดสายและหรือติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. เช่น "การลักพาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาต การพาดสายสื่อสารไม่มีการรวบรัดสายให้เป็นระเบียบ ไม่มีการคัดแยกสายที่พาดโดยไม่ได้รับอนุญาตออกจากสายที่ได้รับอนุญาตหรือทำตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง การใช้สายที่ไม่มีแถบสีตามที่กำหนด การนำสายสื่อสารสำรองที่เหลือใช้ม้วนเป็นวงกลมแขวนทิ้งไว้บนเสาไฟฟ้า การปล่อยทิ้งสายที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว (สายที่ชำรุดเสื่อมสภาพหรือลูกค้ายกเลิกใช้บริการ) ปะปนกับสายที่ใช้งานบนเสาไฟฟ้า โดยไม่รื้อถอน เป็นต้น" ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ กฟน. และ กฟภ. ไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำละเมิดและรื้อถอนสายที่ละเมิดออกจากเสาไฟฟ้าแต่อย่างใด
ขณะที่ เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคต่อการจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ต่อคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. สรุปได้ว่า ปัญหาสายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้ามีปริมาณมากและขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยจนส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้น
"เนื่องจากสายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้าในขณะนี้ กว่าร้อยละ 50 เป็นสายที่ไม่ได้ใช้งานแล้วซึ่งมีทั้งสายโทรศัพท์บ้าน รวมทั้งสายเคเบิลทีวีต่าง ๆ ที่พาดกันมาในอดีต"
เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องรื้อสายสื่อสารลงมาทั้งหมด ดังนั้น การดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจึงมีความจำเป็นที่ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องประสานการปฏิบัติงานและกำกับดูแลงานร่วมกัน
เลขาธิการ กสทช. หยิบยกกรณีการจัดระเบียบสายสื่อสารในซอยพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) ซึ่งถือเป็นต้นแบบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสายสื่อสาร รกรุงรัง ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นเกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สำนักงาน กสทช. กฟน. รวมทั้งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม
สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้ง ให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. รวมทั้งกรุงเทพมหานครและ กฟน. ร่วมกันสำรวจสายทั้งหมด ซึ่งจะดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยหากพบว่าสายเส้นใดไม่มีผู้มาแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของหรือไม่ได้ใช้งานแล้ว ก็จะดำเนินการรื้อถอนออกทันที และภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวพบว่า สายสื่อสารที่ใช้งานอยู่จริงที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้าเหลืออยู่เพียงไม่กี่เส้นเท่านั้น
"ถึงแม้ว่าการจัดระเบียบสายสื่อสารนั้น อาจไม่ใช่การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตโดยตรง แต่ถือเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันปัญหาการทุจริต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่กระทำการพาดสายและหรือติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้ "กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม" ในการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ.
ดังปรารภ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ในส่วนพื้นที่ไหนทำได้ ก็ให้ดำเนินการไปก่อน
เรื่องนี้ สอดคล้องกับเมื่อต้นเดือนก่อน กฟน. เพิ่งออก "ระเบียบการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2563" เป็นการแก้ไขระเบียบฯ ฉบับ พ.ศ. 2558
ที่น่าสนใจ เช่น การปรับปรุงสายสื่อสารที่มีสภาพไม่เรียบร้อย ในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือภัยพิบัติขึ้นไม่ว่าด้วยประการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าขาด ตกลงมา หรือเสาไฟฟ้าเอน ล้ม หัก ทำให้ทรัพย์สินของผู้ขออนุญาต ได้รับความเสียหาย
“ผู้ขออนุญาต” ตกลงจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจาก กฟน. แต่ประการใดทั้งสิ้น
ส่วนกรณี รถยนต์บรรทุกหรือยานพาหนะ เกี่ยวสายสื่อสารที่ติดตั้งไว้ หรือจากสาเหตุอื่นใด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของ กฟน. หรือต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลที่สาม
“ผู้ขออนุญาต” ตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย โดยสิ้นเชิงให้ กฟน. หรือชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ของบุคคลที่สาม ภายในเวลาที่ กฟน.กำหนด โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น
ในกรณี สายสื่อสารที่มี “ผู้ขออนุญาต” ติดตั้งอยู่หลายรายรวมกัน ให้ผู้ขออนุญาตแต่ละรายรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ในอัตราเฉลี่ยตามส่วน
สุดท้าย เป็นเรื่อง “บทกำหนดโทษและการรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งบนเสาไฟฟ้า” ที่น่าสนใจเช่น หากฝ่าฝืนทำการติดตั้งสายสื่อสารไปก่อน การไฟฟ้านครหลวง จะคิดเบี้ยปรับ 50,000 บาทต่อครั้ง และต้องดำเนินการปลดและหรือรื้อถอน สายสื่อสารภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง หากพ้นกำหนด แล้วไม่รื้อถอน ต้องชำระเบี้ยปรับร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ตามที่กฎหมายกำหนด
เช่นเดียวกับหาก “ละเมิดสิทธิและทรัพย์สิน”จะคิดเบี้ยปรับ 50,000 บาทต่อครั้ง และคิดค่าใช้จ่าย10 เท่า ของอัตราค่าบริการรายปี พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีทั้งทางอาญาและหรือทางแพ่ง หากไม่ปฏิบัติตาม กฟน.จะระงับการอนุญาตเส้นทางที่ขอติดตั้งสายสื่อสารอื่น ๆ จนกว่าผู้ขออนุญาตจะดำเนินการแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง
ขณะที่ บทเฉพาะกาล ระเบียบฉบับนี้ ใช้ควบคุมเฉพาะ การติดตั้งสายสื่อสารใหม่หรือเพิ่มเติมปรับปรุง เท่านั้น โดยมี “ผู้ว่าการ กฟน.” เป็นผู้วินิจฉัยขึ้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ระเบียบนี้
ระเบียบดังกล่าว ยังสอดคล้องกับ ประกาศ กฟน. ที่ 2/2563 ซึ่งราชกิจจานุเบกษา เพิ่งประกาศไปเมื่อ 10 ส.ค.2563" เป็นไปตาม ประกาศที่ 30/2557 เรื่อง อัตราค่าใช้จ่าย การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ กฟน." ยังตามอัตราเดิม แบ่งเป็น
"ค่าสำรวจและค่าบริการนำข้อมูลสายสื่อสารบันทึกในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์"
ค่าสำรวจเสาไฟฟ้าในการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า 6 บาท ต่อต้น และค่าบริการนำข้อมูลสายสื่อสารบันทึกในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 725 บาท ต่อกิโลเมตร
อัตราค่าบริการรายปี เพื่อการบำรุงรักษาเสาไฟฟ้าจากการติดตั้งสายสื่อสารตามขนาดสายสื่อสารเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 18 มิลลิเมตร ค่าบริการ 2.90 บาท ต่อมิลลิเมตรต่อต้น โดยการชำระค่าบริการครั้งแรก เริ่มนับจากวันที่ กฟน.อนุญาตให้ติดตั้งสายจนถึงสิ้นปีนั้น และเศษของจำนวนวันคิดเป็น 1 เดือน และการชำระค่าบริการในครั้งต่อไป ให้ชำระเป็นรายปี
"ค่าอบรมด้านความปลอดภัย" ผู้ขออนุญาตต้องส่งเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ดำเนินการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ามาเข้ารับการอบรมด้านความปลอดภัย และ กฟน.จะออกบัตรอนุญาตให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรมตามข้อกำหนดของ กฟน. โดยคิดค่าใช้จ่าย คนละ 2,000 บาท"ค่าใช้จ่ายอื่น" กรณีสายสื่อสารที่ติดตั้งมีขนาดเกินกำหนด แบ่งเป็น
ค่าติดตั้งสายสื่อสารส่วนที่เกิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสายมากกว่า 18 ถึง 36 มม.คิดค่าใช้จ่าย 3.48 บาท ต่อมม.ต่อต้นต่อปี
ค่าติดตั้งสายสื่อสารส่วนที่เกิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสายมากกว่า 36 ถึง 54 มม.คิดค่าใช้จ่าย 4.06 บาท ต่อมม.ต่อต้นต่อปี
ค่าติดตั้งสายสื่อสารส่วนที่เกิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสายมากกว่า 54 ถึง 72 มม. คิดค่าใช้จ่าย 4.64 บาท ต่อมม.ต่อต้นต่อปี
ส่วน “ค่ารื้อถอนสายสื่อสาร”กฟน.จะรื้อถอนสายสื่อสารที่ติดตั้งเกินขนาดตามค่าแรงมาตรฐานของ กฟน.ตามความเป็นจริงโดย อัตราค่าใช้จ่ายตาม
ประกาศนี้ ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายความว่า กฟน. อาจจะมีรายได้จาก “ผู้ขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสาร”ต่อ มม. เช่นหากติดตั้งสายสื่อสารครั้งหนึ่ง คูณ ค่าติดตั้งเฉลี่ย 4 บาท ต่อ มม. ต่อต้น ซึ่งหาก กฟน.มีเสาไฟฟ้า 100,000 ต้น ใน กทม. ก็อาจจะมีรายได้เฉพาะค่าพาดเสาไฟฟ้า ปีละกว่า 4 พันล้านบาท แค่จากผู้ขออนุญาตรายเดียว
ขณะที่เชื่อว่า ระเบียบของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะก็มีค่าพาดเสารายปี ประเด็นนี้ ปลัดมหาดไทย เคยสั่งการให้ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า กฟภ.รอบใหม่ ประสานแจ้งอำเภอและ อปท.ดำเนินการ
กฟภ.ได้จัดทำคู่มือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทางปฏิบัติว่า สามารถดำเนินการใดๆ กับสายสื่อสารโทรคมนาคมที่พาดอยู่ได้หรือไม่อย่างไร เช่น เรียกเก็บค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ (ค่าปรับ) หรือเรียกเก็บได้ แต่ผู้ประกอบการไม่ยอมรื้อถอนและไม่ดำเนินการตามแนวปฏิบัติ
กฟภ. ได้เปลี่ยนแปลง ระเบียบเดิมว่าด้วยการแจ้งผู้ละเมิดให้ดำเนินการรื้อถอนสายโทรคมนาคมและเคเบิลทีวี จากแจ้ง 3 ครั้ง โดยให้เวลาดำเนินการครั้งละ 15 วัน หากไม่ดำเนินการ กฟภ. จากรื้อถอนเองและเรียกเก็บค่าสินไหมและค่าใช้จ่ายการรื้อถอน เป็นการแจ้งให้ผู้ดำเนินการที่ละเมิดชำระค่าสินไหมและดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 /ปี ตั้งแต่วันที่ตรวจพบจนถึงวันที่ดำเนินการรื้อถอนสายโทรคมนาคมและอุปกรณ์ออกจากเสาไฟฟ้าภายใน 45 วัน
ทั้งนี้ กฟภ. มีพื้นที่ความรับผิดชอบ 74 จังหวัด มีเสาไฟฟ้าที่มีสายสื่อสารพาดเสาไฟฟ้าจำนวนกว่า 7 ล้านต้น ตามแผน 2560-2563 ได้เริ่มดำเนินการ kick off รื้อถอนสายและอุปกรณ์ที่ไม่ใช้งาน 13,000 ต้น ใน 106 เส้นทางทั่วประเทศ คิดเป็นระยะทาง 300 กม.
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ ป.ป.ช. เบื้องต้น เพื่อป้องกัน “ปัญหาการทุจริต” ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้
กรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่กระทำการพาดสายและหรือติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย.