เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2020 Special! (Webinar) และให้สัมภาษณ์พิเศษเรื่อง “อุตสาหกรรมไทยกับการปรับตัวรับ New Normal ด้านพลังงาน” โดยมี นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานคณะกรรมการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวให้การต้อนรับผู้แทนจากหน่วยงานชั้นนำด้านพลังงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมงาน พร้อมด้วย นายวิลาศ เฉลยสัตย์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ในฐานะผู้แทน MEA ร่วมอภิปรายเรื่อง “การปรับตัวรับ New Normal ด้าน Demand และ Technology” ผ่านการถ่ายทอดสดรูปแบบ Online ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาคารปฏิบัติงานเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ (มทรก.)
รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พลังงาน ซึ่ง MEA ในฐานะรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และ สมุทรปราการ มีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานครเพื่อประชาชน โดยได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนปรับเปลี่ยนงานบริการต่างๆ ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบ New Normal ทั้งในด้านการวางมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเร่งด่วน และการยกระดับคุณภาพงานบริการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อโรค ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในเมืองมหานคร และพัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการคาดการณ์ด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.- ก.ค. 63) หน่วยจำหน่ายภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และราชการลดลงร้อยละ 5.1 ขณะที่บ้านอยู่อาศัยมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นจากการ Work from home โดยคาดการณ์ว่าในช่วง 5 เดือนหลัง (ส.ค.- ธ.ค. 63) หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าจะลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4 ส่งผลให้ในปี 2563 ลดลงร้อยละ 4.7 แต่อย่างไรก็ตาม ในด้านการพัฒนาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า MEA ยังคงดำเนินงานตามแผนงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าสู่การเป็นมหานครอัจฉริยะ Smart Metro Grid โครงการติดตั้ง Smart Meter โครงการติดตั้งเทคโนโลยีการควบคุมระบบไฟฟ้า โครงการพัฒนา-ปรับปรุงระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับ Renewable Energy โครงการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการรับฝากพลังงานด้วย Virtual Storage รวมถึงโครงการพัฒนา และดำเนินธุรกิจ MEA Smart Energy Solutions ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการลดปัญหาไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ลดระยะเวลาการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้อง รองรับการติดตั้งเทคโนโลยี Renewable Energy ของประชาชน เช่น การติดตั้ง Solar Cell ขณะที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจะสามารถลดความสูญเสียจากอุบัติภัยด้านระบบไฟฟ้า และลดต้นทุนการผลิตจากการลดการใช้พลังงานได้ ซึ่งจะทำให้ตอบสนองการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในระดับประเทศ
ในด้านการบริการด้วยมาตรฐาน New Normal รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA ได้พัฒนาการบริการในรูปแบบดิจิทัลเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม เช่น การให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ MEA Smart Life Application ในด้านการตรวจสอบ จ่ายค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิต-Internet Banking และการแจ้งไฟฟ้าขัดข้อง การเพิ่มบริการผ่านระบบออนไลน์ MEASY ที่เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ขอติดตั้งไฟฟ้าใหม่ ขอติดตั้งไฟฟ้าชั่วคราว ขอเพิ่ม-ลดขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และการของดการใช้ไฟฟ้าชั่วคราว โครงการ MEA e-Bill เปลี่ยนเอกสารใบแจ้งยอดค่าไฟฟ้า ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี และหนังสือเตือนให้ชำระค่าไฟฟ้า ในรูปแบบเอกสารออนไลน์ ผ่านทาง SMS หรือ Email เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในการได้รับเอกสารอย่างรวดเร็ว ช่วยลดขยะอันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบริการรูปแบบดิจิทัลที่รองรับความต้องการของประชาชนในอนาคตอย่าง MEA EV Application ให้บริการแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้า จองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และแสดงผลข้อมูลของผู้ใช้งาน และล่าสุด บริการแอปพลิเคชัน MEA E-Fix ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมช่างไฟฟ้ามืออาชีพให้บริการด้านไฟฟ้า โดยบูรณาการช่างไฟฟ้าที่ได้รับการอบรมหลักสูตร “MEA Service” เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในด้านการติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมตามมาตรฐานของ MEA
นอกจากนี้ MEA ยังมีการปรับปรุงงานบริการในทุกที่ทำการให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน และเป็นไปตามข้อบังคับด้านสาธารณสุข ประกอบด้วยการตั้งจุดตรวจคัดกรอง ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermoscan) ทำความสะอาดพื้นที่ พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่ให้บริการลูกค้าและภายในอาคารสำนักงานเพื่อสร้างความปลอดภัย ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเชื้อ COVID-19 เพื่อแนะนำวิธีปฏิบัติตนผ่านช่องทางสื่อสารของ MEA ให้พนักงานและประชาชนมีความเข้าใจและสามารถดูแลตนเองและคนใกล้ชิดได้อย่างถูกวิธีอีกด้วย
การขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานครจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ส่งผลให้ MEA ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้ารับการประเมินความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจ หรือ The Ease of Doing Business ด้านความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้า (Getting Electricity) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการจัดอันดับของธนาคารโลก (Doing Business 2020) ประจำปี พ.ศ. 2563 MEA มีคะแนนเป็นอันดับที่ 6 ของโลก แสดงถึงคุณภาพบริการของ MEA ที่ส่งเสริมการลงทุน การทำธุรกิจในประเทศไทยจากทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน