เจาะแผนเดินเกมฟื้นอุตสาหกรรมยายนต์ของภาครัฐหลังโดนพิษโควิด-19 พ่นพิษทำยอดขายหล่นฮวบเกือบครึ่งของปีที่แล้ว งานนี้ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ออกหน้า โยนหินถามทางเสนอ “ลดภาษีนำรถเก่าแลกรถใหม่” พร้อมหนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว
การปรากฏตัวของ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในงานสัมมนา “New Generation of Automotive” ที่มีหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมนำเสนอแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในคราวนี้ได้สร้างกระแสและเกิดคำถามตามมาไม่น้อยหลังได้ทราบถึงแนวทางของภาครัฐที่หวังจะฟื้นฟู อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เมื่อโดนโควิด-19 ถล่มจนยอดผลิตและยอดขายหดหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง
รถเก่าแลกรถใหม่ ลดให้ 100,000 บาท
ประเด็นสำคัญที่สุดจากการปาฐกถาของ“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” คือ การนำเสนอมาตรการให้ประชาชนนำยานยนต์เก่ามาแลกยานยนต์ใหม่แบบไฟฟ้า (xEV) โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า แลกกับการได้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 100,000 บาท หรือ รับเป็นส่วนลด เพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาดและการกำจัดยานยนต์เก่า ช่วยลดมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ไปด้วยในคราวเดียวกัน
มองในแง่ดี มาตรการนี้ยังไม่มีเสียงบ่นจากประชาชน รวมถึงไม่มีคำตำหนิออกมาจากฟากของผู้ผลิตยานยนต์อีกด้วย ส่วนหนึ่งเนื่องจากมาตรการนี้แม้จะคล้ายกับโครงการรถยนต์คันแรกที่ส่งเสริมการขายด้วยการลดภาษีแต่จะแตกต่างในเรื่องของเงื่อนไข ที่มีการนำรถเก่ามาแลก และรถใหม่ที่จะซื้อหรือได้รับการสนับสนุนภาษีนั้นเป็นรถยนต์แบบไฟฟ้าเป็นหลัก
ซึ่งมาตรการนี้มิใช่การสร้างความต้องการเทียมหรือดึงความต้องการในอนาคตเอามารวมกันไว้ในคราวเดียว แต่เป็นการส่งเสริมให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยแนวคิดที่ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการนานกว่า (ยังไม่สรุปแต่จะมิใช่ระยะสั้นเพียง 1 ปี) พร้อมแผนระยะยาวที่ประกาศไว้ 10 ปี ดังนั้นทุกฝ่ายจึงมีเวลาเตรียมตัว
ในแง่ของประชาชนผู้ใช้รถ ย่อมต้องเป็นเรื่องที่ดี เพราะได้ส่วนลด ยิ่งหากกำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้งานด้วยแล้วยิ่งเข้าทาง อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของราคารถมือสองมิให้ตกลงไปอีกทางหนึ่งด้วย เพราะรถเก่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อนำมาแลกในโครงการนี้
ขณะเดียวกันยังส่งผลดีโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่ารถเก่าปล่อยมลพิษมากกว่ารถรุ่นใหม่ๆ เหนืออื่นใด ยังอาจจะส่งผลต่อการจราจรให้หนาแน่นน้อยลง เนื่องจากมีการกำจัดรถยนต์เก่าออกจากถนน อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีมาตรการกำจัดรถเก่าออกจากภาครัฐมาก่อน
จ่อลดภาษี คนชื้อชะงัก
อย่างไรก็ตามการออกมาประกาศแบบโยนหินถามทางเช่นนี้ อาจจะส่งผลลบได้ เพราะทำให้ผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์ใหม่ ชะงักหรือชะลอการตัดสินใจได้ เนื่องด้วยความกลัวว่าจะเสียประโยชน์ หากซื้อรถไปแล้ว รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมตามมาทีหลังแล้วเขาไม่ได้สิทธิ์ลดหย่อนนั้น
ดังนั้นเมื่อข้อมูลเปิดเผยออกมาในลักษณะเช่นนี้แล้ว แม้จะบอกว่าภายใน 2-3 เดือนจะรู้มาตรการที่แน่ชัด แต่ช่วงระยะเวลายาวขนาดนั้น กระทบต่อตลาดรถยนต์แน่นอน ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ แถลงถึงโครงการที่ชัดเจนออกมาโดยเร็วที่สุด ส่วนจะลดภาษีให้มาก-น้อยหรือไม่ให้เลย ก็จำเป็นต้องรีบประกาศ มิฉะนั้นมาตรการที่มุ่งหวังกระตุ้นให้คนซื้อรถใหม่เพิ่มขึ้น จะกลายเป็นมาตรการทำให้คนชะลอการซื้อออกไปแทน เพราะกลัวเสียประโยชน์
ดันรัฐ ซื้อรถไฟฟ้าใช้
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจจากการกล่าวของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในงานดังกล่าวคือ การประกาศจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับหน่วยงานราชการ และรถเมล์ไฟฟ้าของ ขสมก. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ผ่านแผนชื่อ “30@30” ที่มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะสั้น (ค.ศ. 2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน
2. ระยะกลาง (ค.ศ. 2021-2025) ผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 300,000 คัน
3. ระยะยาว (ค.ศ. 2026-2030) มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คัน/ปี (เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไทยคือ 2,500,000 คัน/ปีในปี ค.ศ.2030)
ทั้งนี้แผนงานดังกล่าวจะทำไปพร้อมกับการศึกษาการจัดการซากยานยนต์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการจัดการซากรถยนต์ที่เป็นระบบ ทั้งการรีไซเคิลซากรถยนต์และแบตเตอรี่
เมื่อมองถึงแผนระยะสั้น หากทำได้จริง สิ่งนี้คือโอกาสของผู้ประกอบการในการขายยานยนต์ให้ภาครัฐ และยังเป็นการแก้ปัญหา “ไก่กับไข่” ของวัฎจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการตั้งแง่ในเรื่องของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟ เพราะคนที่จะลงทุนทำสถานีชาร์จ ต้องรอให้มีรถไฟฟ้ามากพอ ส่วนคนที่จะใช้รถไฟฟ้า ก็รอให้มีสถานีชาร์จมากพอด้วยเช่นเดียวกัน จึงเป็นปัญหา ไก่กับไข่ ที่จะต้องแก้ด้วยการ “เกิดพร้อมกัน”
ขณะที่แผนระยะยาวคือ 750,000 คัน/ปี ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่อย่างใดเพราะ ตัวเลขจากบีโอไอ ระบุล่าสุดว่า มีผู้ขอส่งเสริมการลงทุนในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 16 บริษัท รวม 26 โครงการ โดยมีการผลิตรถยนต์ประเภทไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถพลังงานไฟฟ้า 100% (BEV) ซึ่งมียอดการผลิตรวมกันทั้งหมดกว่า 560,000 คัน อีกทั้งกำลังพิจารณาส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของสามล้อไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า ที่มีแผนจะเปิดโครงการในช่วงการประชุมคณะกรรมการบีโอไอครั้งต่อไป
ขยายโครงข่ายสถานีชาร์จ
ในงานดังกล่าวนอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้เปิดนโยบายแล้วยังมีอีก 2 หน่วยงานที่สำคัญมาเผยถึงแผนงานที่ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อแก้ปัญหาไก่กับไข่ นั่นคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) แม้จะไม่ใช่กระทรวงพลังงานเจ้าภาพโดยตรงแต่ 2 องค์กรนี้ถือว่าเป็นระดับปฏิบัติการที่เข้าถึงผู้ใช้งานจริง ดังนั้นแผนต่างๆ ของทั้งคู่จึงมีความหมายต่อการแจ้งเกิดยานยนต์ไฟฟ้ามิใช่น้อย
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุว่า ปัจจุบันมีสถานีชาร์จพร้อมให้บริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งหมด 11 แห่ง ส่วนแผนในอนาคตจะมีการทำสถานีร่วมกับบางจาก เพิ่มอีก 62 จุด แบ่งเป็นสถานีในปั๊มน้ำมันบางจาก 56 จุด และพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีก 6 จุด โดยจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของ ปี พ.ศ. 2564
ส่วนระยะถัดไป ระหว่างปี พ.ศ. 2564 - พ.ศ. 2565 จะดำเนินการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีก 64 จุด ทำให้ในปี พ.ศ. 2565 ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 137 จุด ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร)
ด้านการไฟฟ้านครหลวง ที่รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ปัจจุบันมีสถานีชาร์จพร้อมอัดประจุไฟฟ้า 10 แห่ง จำนวน 15 แท่นชาร์จ และมีแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอีก 118 จุด รวมเป็น 128 จุด ภายในปี พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ในการค้นหาสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ และสามารถจองแท่นชาร์จก่อนเข้ารับบริการได้
อนึ่ง อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า มีการประกาศอย่างเป็นทางการให้คิดราคาต้นทุนแบบคงที่ 2.63 บาท/หน่วย ส่วนต้นทุนในการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า เฉลี่ย 2.5 ล้านบาท ต่อหนึ่งแท่นชาร์จ ซึ่งหากเอกชนจะเข้ามาลงทุนสร้างสถานีชาร์จและคิดค่าชาร์จนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดได้ โดยปัจจุบันยังให้ชาร์จฟรี หรือเลี่ยงการละเมิดข้อกฎหมายด้วยการเรียกเก็บค่าจอดแทนค่าชาร์จไฟฟ้า ปัญหานี้คืออีกหนึ่งประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและต้องรอกระทรวงพลังงานในฐานะผู้กำกับดูแลประกาศออกมาอีกครั้ง
ถึงบรรทัดนี้ นับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ภาครัฐออกมาประกาศถึงทิศทางและแผนการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยสรุปแล้วภายใน 3 ปี เฉพาะภาครัฐจะมีรถไฟฟ้าวิ่งในจำนวน 60,000-110,000 คัน และมีสถานีชาร์จ 265 จุดทั่วประเทศ ส่วนจะสำเร็จตามที่ประกาศนั้นหรือจะเป็นเพียงยาหอมที่โปรยลงมา ประชาชนคงต้องได้แต่จับตาดูต่อไป