xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ซานต้าตู่” แจก 3พัน - เติมตังค์บัตรคนจน ส่งออก-อสังหาฯ ยังอ่วม หนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ(ตัวจริง) ของรัฐบาล | กำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2563 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 36 ราย ลดฮวบกว่า 55% เหลือ 10,714 ล้านบาท ขณะรายได้รวม ลดลง 19.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือรายได้รวม 143,202 ล้านบาท สรุปรวมความสามารถในการทำกำไรหดตัวเฉลี่ยทั้งตลาดอยู่ที่ 7.48%
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายเคาะออกมาแล้ว เตรียมเป๋าตังตุงกันถ้วนหน้าในโครงการ “คนละครึ่ง” แจก 3 พันบาท 10 ล้านคน พ่วงเติมเงินบัตรคนจนเพิ่มอีก 500 บาท ให้ 14 ล้านคน ใช้งบกว่า 5 หมื่นล้าน พร้อมต่อน้ำไฟใช้กันฟรีอีกปีหนึ่ง แถมเคลียร์ค้างจ่าย-เบี้ยพิเศษ อสม.-ท้องถิ่น ตามสัญญา ทุ่มงบร่วมสองหมื่นล้านหนุนจ้างงานบัณฑิตจบใหม่-ประชาชน 2.6 แสนคน ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นยังแผ่ว ส่งออกติดลบ อสังหาฯ อ่วม กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายพยุง 

สดๆ ร้อนๆ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ตามมาตรการที่ ครม.  “ซานต้าตู่”  อนุมัติรอบนี้มี 5 โครงการหลักๆ ใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน เพื่อเยียวยาและปลุกชีพเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย โดยโครงการที่รอคอยความชัดเจนใจจดจ่อกันมาก่อนหน้านี้ นั่นคือโครงการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน แบ่งเป็น โครงการคนละครึ่ง 3,000 บาท ให้ประชาชนทั่วไป และโครงการเพิ่มวงเงินซื้อของกินของใช้ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 มาตรการแจกสะบัดภายใต้สองโครงการข้างต้นรอบใหม่นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นว่า วงเงินส่วนนี้เพื่อหมุนเวียนในระบบให้เกิดการบริโภค โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าขายปลีก เป็นการใส่เงินผ่านเป๋าตังเงินดิจิตอล หรืออีวอลเล็ต และคิวอาร์โค้ด ซึ่งทุกร้านจะต้องมีคิวอาร์โค้ดเพื่อรัฐบาลจะจ่ายเงินลงไป คาดว่าจะใช้วงเงินรวม 51,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อเพิ่มมากกว่าจำนวน 24 ล้านคน 

อย่างไรก็ตาม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ครม.ให้กระทรวงการคลัง กลับไปพิจารณาและสรุปรายละเอียดอีกครั้ง ก่อนเสนอที่ประชุมพิจารณาในวันอังคารที่ 29 กันยายน อีกครั้ง

สำหรับรายละเอียดตามที่กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น โครงการคนละครึ่งแจกเงิน 3,000 บาท ให้ประชาชนทั่วไป จำนวน 10 ล้านคน จะมีการเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ซึ่งเน้นเป็นร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย ตามวัตถุประสงค์ต้องการร้านของกินของใช้ เช่น ร้านโชวห่วย หรือร้านธงฟ้า ส่วนร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นนิติบุคคล เช่น ร้านสะดวกซื้อ รัฐบาลจะไม่เปิดให้เข้าร่วมโครงการ

สำหรับประชาชนที่จะขอรับสิทธิ์ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เวลา 06.00-23.00 น.จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และต้องไม่ใช่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถจองสิทธิผ่าน www.คนละครึ่ง.com โดยระบบจะเปิดรับต่อเนื่อง 10 ล้านคน จนครบตามจำนวน

ขั้นตอนภายหลังลงทะเบียนแล้วภายใน 2 วัน ผู้ลงทะเบียนจะได้รับข้อความ SMS แจ้งว่าผ่านการพิจารณาหรือไม่ จากนั้นให้เข้าไปโหลดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งรัฐบาลจะโอนวงเงิน 3,000 บาทให้แก่ผู้ได้สิทธินำไปซื้อของกินของใช้จากร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งร้านค้าจะมีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” โดยผู้ได้สิทธิต้องโอนเงินส่วนที่จะซื้อของเข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของตัวเองด้วย เพราะมาตรการนี้เป็นการร่วมจ่ายกันคนละครึ่ง

ทั้งนี้ ผู้ได้สิทธิสามารถเริ่มใช้จ่ายเงินในโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ในช่วงเวลา 06.00-23.00 น. ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยรัฐบาลกำหนดช่วยจ่ายค่าซื้อสินค้าวันละไม่เกิน 100 บาท หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน การซื้อสินค้าจะต้องจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เท่านั้น โดยนำแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ไปสแกนกับแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิแล้วจะต้องเริ่มใช้เงินครั้งแรกภายใน 14 วัน หลังจากได้รับ SMS หากไม่ใช้เงินระบบจะตัดชื่อออก เพื่อให้คนอื่นเข้ามาจองสิทธิใหม่ โดยผู้ที่ถูกตัดสิทธิยังสามารถมาลงทะเบียนใหม่ได้

สำหรับการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าอีกเดือนละ 500 บาท จากที่ได้รับเดือนละ 200 กับ 300 บาทนั้น จะได้รับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 700 บาท กับ 800 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2563 หรือเท่ากับได้เงินเพิ่มอีก 1,500 บาท เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าคนกลุ่มนี้เข้าถึงเทคโนโลยีลำบาก ไม่สะดวกจองสิทธิรับเงิน 3,000 บาท จึงให้ความช่วยเหลือแยกออกมา

 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยถึงเบื้องหลังที่ต้องเลื่อนการเสนอโครงการคนละครึ่ง และเติมเงินบัตรคนจน ออกไปเป็นวันที่ 29 กันยายน 2563 เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ขอพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม แต่ทั้งสองโครงการจะเริ่มทันตามกำหนดเดิมแน่นอน ยืนยันจะเปิดให้ร้านค้าเข้ามาลงทะเบียนได้วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ส่วนประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม เช่นเดิม 

นอกจากสองโครงการข้างต้นแล้ว ครม.อนุมัติโครงการขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ออกไป 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนกันยายน 2564 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 13.9 ล้านคน คิดเป็นครัวเรือนประมาณ 8 ล้านครัวเรือน ซึ่ง 1 ครัวเรือน สามารถใช้ได้เพียง 1 สิทธิ์เท่านั้น ซึ่งรายละเอียดตามมติเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติไปแล้ว

ในส่วนของค่าไฟฟ้า กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการปัจจุบัน แต่กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้สิทธิตามมาตรการนี้ ในวงเงิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หากใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมด

สำหรับค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาในวงเงิน 100 บาท ต่อ ครัวเรือนต่อเดือน หากใช้เกินวงเงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าน้ำประปาทั้งหมด

นอกจากนั้น ครม.ยังอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่ อสม. ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563 โดยได้รับเดือนละ 500 บาท จำนวน 1.05 ล้านคน วงเงินงบประมาณ 1,500 กว่าล้านบาท

ขณะเดียวกัน ครม. ยังอนุมัติให้จัดสรรงบประมาณจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 677.79 ล้านบาท สำหรับเบิกจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน จำนวน 7 เดือน ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รวม 273,321 คน

กรณีเงินพิเศษนี้กำหนดให้จ่ายรายเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน 2563 รวม 7 เดือน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ กำนันและผู้ใหญ่บ้านได้รับเงินเพิ่มพิเศษเดือนละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 259.54 ล้านบาท ส่วนแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รับเงินเพิ่มพิเศษเดือนละ 300 บาท รวมเป็นเงิน 418.25 ล้านบาท

“ครม.ซานต้าตู่” ยังอนุมัติโครงการตามที่กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เสนอโครงการส่งเสริมการจ้างงานสําหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน กรอบวงเงินไม่เกิน 19,462 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือการจ้างงานให้ผู้จบการศึกษาใหม่ ได้มีงานทำมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชน และผู้จบการศึกษาใหม่ 260,000 คน

 ตามมาตรการนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จะจ่ายเงินอุดหนุนเงินเดือนให้ 50% ให้ผู้จบการศึกษาใหม่ตามอัตราเงินเดือนแยกตามวุฒิไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน/คนในระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม – กันยายน 2564 โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างอยู่ในระบบประกันสังคมและไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกิน 15% ใน 1 ปี และนายจ้างจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินเดือนอีกร้อยละ 50 จากยอดเงินเดือน 15,000 บาท คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับทั้งผู้จบการศึกษาใหม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการว่างงาน นายจ้าง หรือสถานประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ รัฐบาลก็จะได้รายได้กลับมาจากการเก็บภาษีด้วย 

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2563 กระทรวงแรงงานยังจัดงาน “จ๊อบ เอ็กซ์โป” หรือมหกรรมจัดหางานครั้งยิ่งใหญ่  “ไทยมีงานทำ” ที่ไบเทค บางนา มีตำแหน่งงานว่างไม่น้อยกว่า 1 ล้านตำแหน่ง

แถมท้ายด้วยการปลุกการท่องเที่ยว ตามมติ ครม. เห็นชอบให้วัน ที่ 19-20 พฤศจิกายน 2563 เป็นวันหยุดเพิ่มเติม ทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องกันถึง 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2563 และวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2563 ทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องยาว 4 วัน อีกช่วงคือ ตั้งแต่วันที่ 10-13 ธันวาคม 2563 โดยมีมติให้ยกเลิกวันหยุดชดเชยวันพ่อแห่งชาติ ในวันที่ 7 ธันวาคม ไปหยุดในวันที่ 11 ธันวาคม แทน เพื่อให้ประชาชนออกท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจที่ถดถอยจากพิษการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงลากยาว ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งประชุมกันนัดล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ตามที่นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลง เนื่องจาก กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวจากประมาณการเดิมเล็กน้อย แต่ปีหน้า 2564 จะฟื้นตัวดีขึ้ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจะกลับเข้ามาแบบค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากต้องระวังโควิด-19 ระบาดรอบสอง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขการส่งออกยังคงชะลอตัวแม้จะปรับตัวดีขึ้น ตามถ้อยแถลงของนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา ว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนสิงหาคม 2563 การส่งออกสินค้าของไทย มีมูลค่า 20,212.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง -7.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าสินค้าของไทย มีมูลค่า 15,863.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง -19.68% ส่งผลให้เดือนสิงหาคม ไทยเกินดุลการค้า 4,349.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


 “.... ถือว่าน่าพอใจ เพราะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ที่การส่งออกมีมูลค่าแตะระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ .... สะท้อนว่าการส่งออกไทยมีแนวโน้มหดตัวน้อยลงต่อเนื่อง....” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว 

สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม2563) มีมูลค่า 153,374.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ -7.75% ส่วนการนำเข้าสินค้าของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 134,981.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ -15.31% และทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 18,393.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนแนวโน้มการส่งออกไทยในเดือนกันยายน 2563 ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น บางประเทศปิดเมืองบางเขต ซึ่งอาจกระทบต่อการค้าโลก ทั้งยังต้องติดตามปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจีน-สหรัฐฯ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

วกกลับมาดูสถานการณ์ของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นอีกภาคส่วนที่เจ็บหนักที่สุด ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา  บริษัท พลัส พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ในเครือแสนสิริ ได้เลิกจ้างพนักงานในเครือเกือบ 600 คน จากพนักงานทั้งหมด 4,000 คน โดยไม่มีสัญญาณล่วงหน้ามาก่อน เพราะแสนสิริยืนยันมาตลอดว่ายังไหวและพร้อมจะเดินหน้าลงทุน แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ขาลงขอธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน บิ๊กบอสของแสนสิริ ประเมินว่ากำลังซื้อจะกลับมาต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี

ตามภาพสะท้อนความสามารถในการทำกำไรสุทธิ ณ ครึ่งปีแรก 2563 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 36 ราย พบว่า ลดฮวบกว่า 55% เหลือ 10,714 ล้านบาท ขณะรายได้รวม ลดลง 19.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือรายได้รวม 143,202 ล้านบาท สรุปรวมความสามารถในการทำกำไรหดตัวเฉลี่ยทั้งตลาดอยู่ที่ 7.48%

สำหรับจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ตามข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด โดยในครึ่งปีแรกตลาดรวมมีการเปิดตัว 126 โครงการ กว่า 57.1% มาจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีหน่วยขายที่ออกสู่ตลาดมากถึง 63.5% จากหน่วยที่ออกสู่ตลาดรวม 26,301 หน่วย มูลค่าการเปิดโครงการรวม 159,470 ล้านบาท สัดส่วนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯประมาณ 35.8%

 อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ลดลงติดลบ 10.8% มูลค่าอยู่ที่ 571,196 ล้านบาท



นอกจากนั้น ยังมีที่น่าห่วงอย่างยิ่งก็คือ หนี้ครัวเรือน ที่พุ่งสูงขึ้นนั้น มีสัดส่วนที่เป็นหนี้สินหรือสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นอันดับต้นๆ ตามที่นายเผด็จ เจริญศิวกรณ์ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท เครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวในงาน เสวนาเรื่อง “กรุงเทพจตุรทิศ : อสังหาฯฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ วิกฤตนี้ยาวแค่ไหน...? เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 จัดโดยบริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด ว่า ปัจจุบันภาระหนี้สินของคนไทยมีปริมาณที่สูง หนี้ครัวเรือนเริ่มปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เติบโตในช่วง 10 ปีเพิ่มกว่า 25%

ในปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนไทย 13.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.8% ของจีดีพีประเทศไทย สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธนาคารต้องเข้ามาดูแลลูกหนี้ และมีบางกลุ่มที่เข้าโครงการการผ่อนชำระทำให้บัญชียังเป็นปกติ แต่ก็ห่วงแนวโน้มหลังหมดมาตรการรัฐ โดยลูกหนี้กลุ่มที่ยังดีหากไม่มีการเติมเพื่อให้ไปต่ออาจจะลำบาก

รองผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ยังกังวลด้วยว่าตามตัวเลขในปี 2561 กว่า 3 ล้านคน หรือประมาณ 16% เป็นหนี้เสีย และคาดว่าในปีนี้ตัวเลขดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และที่เป็นห่วงมีสัญญาณหนี้ครัวเรือนจะไปสู่ตัวเลขระดับ 90% ต่อจีดีพีในไตรมาส 4 ปีนี้ เนื่องจากส่งออกและการท่องเที่ยวมีปัญหา จากเดิมคาดว่าจะอยู่ระดับ 81.5% โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีประมาณ 5.08 ล้านล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคลและการบริโภค มีสัดส่วนอยู่ในหนี้ครัวเรือน ประมาณ 3.30 ล้านล้านบาท รวมทั้งสองกลุ่มมีตัวเลขที่สูงมาก


 ถือว่าสถานการณ์ยังหนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง ต้องรอดูว่ามาตรการแจกแหลกของ “ซานต้าตู่” จะช่วยอุ้มชูพี่น้องประชาชนคนไทยรอดไปด้วยกันได้หรือไม่? 


กำลังโหลดความคิดเห็น