“พาณิชย์” เผยการส่งออกเดือน ส.ค. 63 ฟื้นตัวต่อเนื่อง มูลค่าเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ 5 เดือนอัตราการขยายตัวติดลบเหลือ 7.94% ส่วนยอดรวม 8 เดือนลบเหลือ 7.75% คาดแนวโน้มยังเป็นขาขึ้นลักษณะเหมือนเครื่องหมายถูก มั่นใจทั้งปีลบไม่เกิน 2 หลัก น่าจะลบ 5% ถึงลบ 8% เท่านั้น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ส.ค. 2563 มีมูลค่า 20,212.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.94% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ทั้งในแง่มูลค่าที่กลับมาส่งออกเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 5 เดือนนับจากเดือน เม.ย. 2563 และการขยายตัวติดลบน้อยลง จากที่เคยลบสูงสุดถึง 23.17% ในเดือน มิ.ย. 2563 ถือว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังจะเป็นขาขึ้นลักษณะเครื่องหมายถูก ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,863.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.68% ทำให้เกินดุลการค้ามูลค่า 4,349.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดรวม 8 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 153,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.75% นำเข้ามูลค่า 134,981.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.31% เกินดุลการค้ามูลค่า 18,393.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังขยายตัวติดลบอยู่ มาจากการฟื้นตัวของภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความคล่องตัวมากขึ้น การค้าโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็เริ่มน่าเป็นห่วงเพราะมีบางประเทศเริ่มที่จะล็อกดาวน์อีก และสินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง เนื้อสุกร สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน ของใช้ในบ้าน และซ่อมแซมบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ และสินค้าป้องกันการติดเชื้อ เช่น ถุงมือยาง ส่งออกได้ดีขึ้นตั้งแต่โควิด-19 ระบาด และยังดีจนถึงปัจจุบัน
ส่วนสินค้าที่ส่งออกได้ลดลง เช่น น้ำตาลทราย ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ขณะที่ตลาดส่งออก สหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เพิ่ม 15.2% ส่วนประเทศอื่นๆ ยังลดลง แต่ก็เริ่มลดในอัตราที่น้อยลง เช่น ญี่ปุ่น ลด 16.6% สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 16.9% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 16.5% CLMV ลด 9.3% อินเดีย ลด 18.8% จีน ลด 4% ทวีปออสเตรเลีย ลด 22.5% ตะวันออกกลาง ลด 30.3% ละตินอเมริกา ลด 34.7% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 43.4% ทวีปแอฟริกา ลด 9.6%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกจากนี้ไปคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง แม้จะยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็มีข่าวความสำเร็จของการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้บรรยากาศการค้ากลับมาคึกคัก โดยยังต้องระวังเรื่องการระบาดซ้ำ และบางประเทศเริ่มกลับมาล็อกดาวน์ รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน ที่จะเป็นตัวกดดันการค้าโลก
ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะไม่ติดลบในระดับ 2 หลักอย่างที่หลายๆ ฝ่ายได้ประเมินเอาไว้ น่าจะติดลบ 5% ถึงลบ 8% โดยการส่งออกลบ 5% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,145 ล้านเหรียญสหรัฐ และลบ 8% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 18,298 ล้านเหรียญสหรัฐ