xs
xsm
sm
md
lg

กบง.เคาะมาตรการลดค่าครองชีพ ตรึงLPGถึงสิ้นปี ทบทวนต้นทุน3การไฟฟ้าลดค่าไฟ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-“สุพัฒนพงษ์”นั่งหัวโต๊ะ กบง. เคาะตรึงราคาก๊าซหุงต้มถัง 15 กก.ที่ 318 บาทต่ออีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค.-ธ.ค.63 เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน พร้อมสั่งทุกฝ่ายหาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้า เล็งทบทวนต้นทุนการดำเนินการของ 3 การไฟฟ้า ลดสำรองไฟ ดูต้นทุนก๊าซฯ เพื่อลดราคา NGV พร้อมเคาะขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ต่ออีกถึงปี 65 ด้านกกพ.ปรับเกณฑ์กองทุนพัฒนาไฟฟ้า เร่งอัดฉีดเม็ดเงิน 2.8 พันล้าน ลงชุมชน คาดจ้างงาน 3 หมื่นคน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน ว่า กบง.ได้เห็นชอบให้คงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ราคาขายปลีก 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ออกไปอีก 3 เดือน หรือตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.2563 โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชีแอลพีจีมาบริหารในการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยคาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนเฉลี่ยเดือนละ 450 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เกินกรอบวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) วางไว้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เพราะขณะนี้กองทุนฯ บัญชี LPG ติดลบแล้ว 7,429 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานสำหรับประชาชน โดยมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแนวทางการลดภาระค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ สนพ. เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าในการลดค่าครองชีพประชาชนในช่วงโควิด-19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การทบทวนอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) ของ 3 การไฟฟ้าที่ขณะนี้อยู่ที่อัตรากว่า 5% ให้กลับไปอิงอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (SFR) ที่อดีตก็เคยใช้เพื่อให้กำไรที่ได้รับสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ขณะเดียวกัน ให้ศึกษาการปรับลดสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันสูงถึง 37-40% ซึ่งจากการประเมินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จะสูงช่วง 10 ปีแรก แต่ 10 ปีหลัง สำรองเฉลี่ยน่าจะอยู่ระดับ 17% โดยมีแผนงาน เช่น การขายไฟส่วนเกินให้ประเทศเพื่อนบ้าน การเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบกับโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขาย (PPA) เป็นต้น และให้ดูเรื่องของก๊าซธรรมชาติเหลว (NGV) โดยให้ กกพ. ทบทวนต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ราคาขายปลีก NGV สะท้อนต้นทุนและบรรเทาผลกระทบประชาชน และการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ โดยให้กำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และทบทวนค่าบริการขนส่งก๊าซฯ ทางท่อให้เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดให้ศึกษาและนำกลับมารายงาน กบง. ครั้งต่อไป

สำหรับโครงการ SPP Hybrid Firm กบง.ได้เห็นชอบตามที่ กกพ. เสนอให้ขยายกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์หรือ SCOD ออกไป 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 จากไม่สามารถดำเนินการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมตามระยะเวลากำหนด โดยให้ผู้ได้รับการคัดเลือกให้จัดทำรายงานแผนการดำเนินโครงการและจัดส่งให้ กกพ. ภายใน 30 ต.ค.2563 และที่ประชุมยังเห็นชอบให้ ธพ. ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มน้ำมันดีเซลตั้งแต่ 1 ต.ค.2563

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ขณะนี้ร่างปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพ.ศ.2553 อยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.2563 ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (3) คล่องตัวขึ้น และลดขั้นตอนเพื่อตอบโจทย์การสร้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล โดยงบปี 2564 จะเปิดให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบกองทุนฯ ภายในวันที่ 31 ต.ค.2563 คาดว่ากรอบวงเงินสนับสนุนจะอยู่ประมาณกว่า 2,800 ล้านบาท

“งบปี 64 ขณะนี้มีการทยอยส่งข้อเสนอมาแล้ว คาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 30,000 คน นับเป็นงบต่อเนื่องจากปีงบ 2563 ที่มีกรอบวงเงินใกล้เคียงกัน ที่เน้นแก้ปัญหาภัยแล้งและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แต่งบปี 2564 จะอนุมัติเร็วขึ้นจากเดิม 1-2 เดือน เพราะได้กระจายอำนาจให้คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) แล้ว แต่ต้องอยู่บนกรอบที่วางไว้ที่ได้ปรับแผนงานโครงการจาก 11 เหลือ 7 คือ 1.ด้านสาธารณสุข 2.การศึกษา 3.เศรษฐกิจชุมชน 4.สิ่งแวดล้อม 5.สาธารณูปโภค 6.พลังงานชุมชน 7.แผนงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน”นายคมกฤชกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น