“กกพ.” เร่งดึงเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเปิดชุมชนยื่นใช้งบปี 2564 ถึงสิ้น ต.ค.นี้ ไม่ต่ำกว่า 2,800 ล้านบาทพร้อมปรับเกณฑ์เอื้อให้ลดขั้นตอนเร็วขึ้นหวังเพิ่มการจ้างงาน 3 หมื่นคน กระตุ้น ศก.ฐานรากสนองนโยบายรัฐ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2553 อยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ ต.ค. 2563 ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) คล่องตัว ลดขั้นตอนเพื่อตอบโจทย์การสร้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล โดยงบปี 64 จะเปิดให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบกองทุนฯ ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ คาดว่ากรอบวงเงินสนับสนุนจะอยู่ประมาณกว่า 2,800 ล้านบาท
“งบปี 64 ขณะนี้มีการทยอยส่งข้อเสนอมาแล้ว คาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 30,000 คน นับเป็นงบต่อเนื่องจากปีงบ 2563 ที่มีกรอบวงเงินใกล้เคียงกันที่เน้นแก้ปัญหาภัยแล้ง และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แต่งบปี 64 จะอนุมัติเร็วขึ้นจากเดิม 1-2 เดือนเพราะได้กระจายอำนาจให้คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) แล้วแต่ต้องอยู่บนกรอบที่วางไว้ที่ได้ปรับแผนงานโครงการจาก 11 เหลือ 7 คือ 1. ด้านสาธารณสุข 2. การศึกษา 3. เศรษฐกิจชุมชน 4. สิ่งแวดล้อม 5. สาธารณูปโภค 6. พลังงานชุมชน 7. แผนงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน” นายคมกฤชกล่าว
ทั้งนี้ การปรับปรุงเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงิน การกำกับและตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเพราะที่ผ่านมากองทุนฯ 97 (3) ที่ดำเนินการกว่า 9 ปี มีการรวมศูนย์หลายขั้นตอน แผนงานซ้ำซ้อน กำหนดพื้นที่ประกาศกว้างเกิน ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนหน่วยงานดำเนินโครงการจากเดิมที่เป็นกลุ่มบุคคล 3 คนให้อยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลที่มีการรวมกันของคน เช่น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และมูลนิธิ ให้มีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2565 แต่ในปีงบ 64 นี้จะอนุโลมไปก่อนภายใต้วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาทต่อโครงการไว้ตามเดิม
สำหรับเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตาม ม.97 (3) ซึ่งเก็บรายได้จากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าตามที่กำหนดเฉลี่ย 1-2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ โดยมีการปรับปรุงประเภทกองทุนที่มี 3 ประเภท ได้แก่ เพิ่มสัดส่วนประเภท ค. ให้สูงขึ้น และยกเลิกค่าบริการจัดการ โดยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ตัดสินใจในการใช้เงินกองทุน โดยปรับหลัเกณฑ์ประเภท ค. จากเดิมมีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท/ปี ก็เพิ่มเป็นต่ำกว่า 3 ล้านบาท ส่วนประเภท ข.ก็ให้ปรับเม็ดเงินดูแลเป็น 3-50 ล้านบาท จากเดิม 1-50 ล้านบาท และประเภท ก. ยังคงวงเงินเท่าเดิมคือมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป
นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการ สกพ. กล่าวว่า กรอบวงเงินปีงบ 2564 อาจจะอยู่ในกรอบ 2,800-3,000 ล้านบาท โดยเดิมกำหนดจะให้ยื่นถึงสิ้นก.ย.นี้แต่ได้ขยายให้ถึงสิ้น ต.ค. 63 โดย กกพ.จะลงพื้นที่จัดเวทีสื่อสารแนวทางการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ใหม่ให้กับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ประกาศกองทุนพัฒนาไฟฟ้าทั้ง 4 ภูมิภาคเดือน ต.ค.-พ.ย. 2563