xs
xsm
sm
md
lg

10 วิสาหกิจฯ หนุนโรงไฟฟ้าชุมชน แนะขั้นต่ำ 400 MW สร้างงาน-สร้างรายได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



10 วิสาหกิจชุมชนออกโรงหนุนโรงไฟฟ้าชุมชนอีกระลอก ยืนยันตอบโจทย์นโยบายรัฐสร้างงาน สร้างรายได้ชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริง แนะ ก.พลังงานรับซื้อขั้นต่ำ 400 เมกะวัตต์ เผย 100-200 เมกะวัตต์ต่ำไป

ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชน 10 แห่งได้หารือพบว่าความต้องการของวิสาหกิจชุมชนและนักลงทุนต้องการให้กระทรวงพลังงานพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนขั้นต่ำ 400 เมกะวัตต์เพื่อให้วิสาหกิจได้มีส่วนร่วมประมาณ 160-170 วิสาหกิจชุมชนมีรายได้จากการขายหญ้าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า, ส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้า และผลตอบแทนจากการทำโครงการต่อเนื่องเพื่อที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างชัดเจนเพื่อตอบโจทย์ของนโยบายรัฐบาลทั้งการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั้นเป็นนโยบายของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ระยะแรก 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นควิกวิน 100 เมกะวัตต์สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมแล้ว ที่เหลือ 600 เมกะวัตต์เป็นโครงการทั่วไป เมื่อสนธิรัตน์ลาออกจาก รมว.พลังงาน ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เข้ามาทำหน้าที่ รมว.พลังงานคนใหม่ ที่ล่าสุดระบุให้ศึกษาเงื่อนไขการเดินหน้าโครงการใหม่และมีเป้าหมายรับซื้อระยะแรก 100-200 เมกะวัตต์ ซึ่งกรณี 200 เมกะวัตต์ทางวิสาหกิจชุมชนมองว่าจำนวนเมกะวัตต์ดังกล่าวน้อยเกินไปเพราะหากต้องแยกควิกวิน 100 เมกะวัตต์ที่พร้อมอยู่แล้วก็จะเหลือโครงการใหม่เพียง 100 เมกะวัตต์เท่านั้นแทบจะไม่ได้ตอบโจทย์การไปกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ดังนั้นขั้นต่ำควรจะ 400 เมกะวัตต์ และหากเป็นไปได้ก็ไม่ควรจะรวมควิกวิน 100 เมกะวัตต์” ม.ร.ว.วรากรกล่าว

ทั้งนี้ ได้ประเมินเบื้องต้นว่าหากมีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ (100+600 เมกะวัตต์) จะก่อให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 62,500 คน และช่วงเดินระบบ 29,800 คน และการส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไม้โตเร็วจะสามารถใช้ประโยชน์จากไม้ปลูกได้ 20 ปี การลงทุนจากภาคเอกชนในพื้นที่ที่ได้ใบอนุญาตขายไฟ (PPA) ที่คาดว่าจะอยู่ราว 50,000 ล้านบาท และชุมชนจะมีส่วนแบ่งค่าไฟฟ้า (25 สตางค์ต่อหน่วย) เมกะวัตต์ละประมาณ 2,000,000 บาทต่อปีหรือจะมีรายได้รวมประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี และยังมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงอีกประมาณ 8,700 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากสัดส่วนเมกะวัตต์ลดลง การจ้างงานและรายได้เหล่านี้ก็จะลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางกระทรวงพลังงานระบุถึงปัจจัยที่ทำให้การรับซื้อต่ำเนื่องจากกังวลว่าโครงการอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากมีวัตถุดิบ (ไม้ยืนต้น หญ้าเนเปียร์ กระถินยักษ์) ไม่เพียงพอ  ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยลดพื้นที่ลงเหลือไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ส่วนกรณีที่การกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนเข้าถือหุ้น 10-40% ตามเงื่อนไขเดิมแต่เบื้องต้นภาครัฐอาจจะยกเว้นคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเพราะที่สุดอยู่ที่ผลตอบแทนในการให้แก่ชุมชนเป็นสำคัญ

“ผมคิดว่าจะใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับไหนนั้นเชื่อว่าโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดได้หากกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในเวลานี้มีความจำเป็นเนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การจ้างงาน เพิ่มรายได้ชุมชนเป็นเรื่องใหญ่” ม.ร.ว.วรากรกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าชุมชนยังไม่ได้ถูกยกเลิกหากแต่ต้องปรับเกณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เช่น การกำหนดสัดส่วนให้ชุมชนเข้าถือหุ้น 10-40% ที่มีบางส่วนเสนอให้ยกเลิก เพราะการถือหุ้นอาจไม่ได้การันตีถึงผลตอบแทนให้ชุมชนที่ดีเสมอไป จึงเห็นว่าควรจะเพิ่มประโยชน์ด้านอื่นที่มีความมั่นคงกว่า เช่น การการันตีรับซื้อวัตถุดิบในราคาที่สูงไว้เลย และทำสัญญาคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) กับเกษตรกร ซึ่งเหล่านี้จะต้องหารือว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เช่นเดียวกับควิกวิน 100 เมกะวัตต์จะต้องไม่เอื้อให้รายเดิมจนทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้ที่จะเข้ามาใหม่ เช่นเดียวกับ VSPP เก่า เข้ามาสวมสิทธิ์รับอัตราค่าไฟที่แพงกว่าของเดิม เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะได้ข้อสรุปภายใน ก.ย. และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น