“ส.ว.สถิตย์” แนะเพิ่มงบฯ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น หลังพบในร่างงบฯ ปี 64 จัดสรรให้เพียง 110 ล้านบาท และมีมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพียง 1 สถาบันเท่านั้น
วันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2563 ในการประชุมวุฒิสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ประเด็นงบประมาณการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ข้อมูลว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 สถาบันการจัดการนานาชาติ IMD (IMD: International Institute for Management Development) ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในรายงานประจำปีความสามารถในการแข่งขันของโลก (WCY : The World Competitiveness Yearbook) โดยดำเนินการเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2532 โดยในรายงานฉบับล่าสุดนี้มีการจัดอันดับทั้งหมด 63 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยในรายงานฉบับนี้ ได้จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 29
ปัจจัยหลักที่ใช้ในการจัดอันดับมีทั้งสิ้น 4 ด้าน คือ 1) สภาวะทางเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน โดยในปี 2563 IMD ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน, ระดับความเป็นประชาธิปไตย และกิจกรรมการประกอบธุรกิจในระยะเริ่มต้น
เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 63 ประเทศ
ดร.สถิตย์ชี้ว่า มาตรา 13 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 47,183 ล้านบาท จึงขอให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และหน่วยงานในกำกับใช้งบประมาณดังกล่าวในปีนี้ให้มีส่วนในการส่งเสริมระดับความสามารถในการแข่งขัน และในการจัดทำงบประมาณปีถัดไป ควรจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาให้ดีขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการยกระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศอีกทางหนึ่ง
ดร.สถิตย์ได้ยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ว่า “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ไม่เพียงแต่จะเน้นวิชาการและการวิจัยภายในมหาวิทยาลัย แต่ยังได้ก้าวออกไปมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอก เช่น การส่งออกและการท่องเที่ยวได้มากอย่างเคย แต่ต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในให้มากขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษาฯ หน่วยงานในกำกับ และมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในกลุ่มการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based and Community) จึงต้องมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงการศึกษาและการวิจัยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ปรากฏในงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เกี่ยวกับแผนงานที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแต่อย่างใด เพียงแต่ปรากฏในมาตรา 37 งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ในวงเงิน 2,092 พันล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีงบประมาณที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้รับจัดสรรจำนวน 110 ล้านบาท เท่านั้น และมีมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงในปีงบประมาณ 2564 นี้ เพียง 1 สถาบันเท่านั้น
ดร.สถิตย์ขอให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เตรียมการสำหรับการจัดทำแผนงบประมาณปีถัดไป ให้มีงบประมาณที่เชื่อมโยงสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในกำกับ กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจจากภายใน และยังเป็นการลดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย