xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เล็งทางเลือกไม่รับโบนัส 2 ปี เร่งศึกษารีดไขมันกดค่าไฟ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฟผ.ยอมเสียสละพร้อมไม่รับโบนัส 2 ปี (ปี 63-64) เพื่อนำเงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เด้งรับนโยบาย “สุพัฒนพงษ์” ศึกษาลดค่าไฟฟ้าเล็งรีดไขมันส่วนเกินศึกษา ศึกษาปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ใกล้หมดอายุสัญญาทั้งรัฐ เอกชน 3 ปีลดสำรองไฟ จ่อผุดวินอีวี 51 คันเปิดบริการสิ้นปีนี้ -เรือไฟฟ้า 2 ลำลุยวิจัยหวังต่อยอดธุรกิจหนุนขนส่งสาธารณะ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) 
เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กฟผ.ศึกษาแผนลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อร่วมลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนที่ได้รับจากโควิด-19 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานเป็นประธาน ซึ่งจะเน้นการรีดไขมันให้มากที่สุดโดยในวันนี้ (23 ก.ย.) นายสุพัฒนพงษ์จะเดินทางมาตรวจเยี่ยม กฟผ.เพื่อมอบนโยบายเพิ่มเติม

“แนวทางจะเน้นลดต้นทุนเช่น ปลดโรงไฟฟ้าเก่าประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบ การเร่งขายไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน และจะพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบพนักงานซึ่งอาจจะทำให้ไม่ต้องปรับผลตอบแทนการลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) กว่า 5% เพื่อกลับไปใช้ อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ ( SFR) ก็ได้แต่ทั้งนี้ก็คงต้องดูรายละเอียดก่อน” นายกุลิศกล่าว

ขณะเดียวกัน รมว.พลังงานยังได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้แยกโครงสร้างค่าไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขึ้นมาโดยเฉพาะเนื่องจากมีแนวโน้มรถอีวีจะเกิดเร็วขึ้นจากที่ขณะนี้เป็นอัตราค่าไฟชั่วคราวเนื่องจากเห็นว่ารถยนต์อีวีจะมาเร็วบทบาทของ กฟผ.จึงต้องเตรียมพร้อมไว้ให้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับขนส่งสาธารณะด้วยการมุ่งพัฒนาวิจัยแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ซึ่งการพัฒนาสถานีชาร์จจะร่วมมือกับ บมจ.ปตท.ในการติดตั้งที่สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.และแผนยุทธศาสตร์ของ กฟผ.การพัฒนานวัตกรรมพลังงานในรูปแบบธุรกิจจะดำเนินงานภายใต้บริษัท อีแกท อินโนเวชั่น โฮลดิ้งส์ คัมปานีส์ จำกัด ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษก กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจ พร้อมจะเสียสละเมื่อประชาชนเดือดร้อนจากโควิด-19 เบื้องต้น อยู่ระหว่างพิจารณาทางเลือกหลายๆแนวทางรวมถึงกรณีอาจไม่รับโบนัสประมาณ 2 ปี จากผลประกอบการปี 2563-2564 เพื่อภาครัฐจะได้มีวงเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชน ส่วนกรณีให้เปลี่ยนใช้ ROIC ที่ปัจจุบันกำหนดว่า กฟผ.จะต้องมีกำไรกว่า 5% ของโครงการลงทุน เพื่อนำเงินกำไรในส่วนนี้เป็นเงินเตรียมลงทุนด้านสายส่งและโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทว่าจะกระทบและควรปรับเกณฑ์เงินกู้หรือไม่อย่างไรในอนาคต และหากปรับเป็น SFR ก็ต้องหารือกับสำนักงาน กกพ.ต่อไป นอกจากนี้จะต้องดูนโยบายจากกระทรวงการคลังด้วยว่า เม็ดเงินอัตราผลตอบแทนส่งคืนรัฐที่ผ่านเรียก 35-45% ของกำไรสุทธิจะเรียกเพิ่มหรือไม่

“กรณีสำรองไฟที่สูง กฟผ.จะเสนอให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ใกล้หมดอายุสัญญาซื้อขาย (พีพีเอ) ทั้งของ กฟผ. และภาคเอกชน โดยปลดล่วงหน้า 3 ปี” นายพัฒนากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น