กระทรวงพลังงานเร่งศึกษาแยกประเภทโครงสร้างค่าไฟฟ้ารองรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ “กุลิศ” ปักหมุดบทบาท กฟผ.พัฒนานวัตกรรมก้าวทันเทรนด์ทั้งแบตเตอรี่ สถานีชาร์จ ล่าสุดผุดวินอีวี 51 คันเปิดบริการสิ้นปีนี้-เรือไฟฟ้า 2 ลำลุยวิจัยหวังต่อยอดธุรกิจหนุนขนส่งสาธารณะ
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “E Trans E” (Electric Transportation of EGAT) นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ.ว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้แยกประเภทอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขึ้นมาโดยเฉพาะเนื่องจากมีแนวโน้มรถอีวีจะเกิดเร็วขึ้น
“อัตราค่าไฟสำหรับรถอีวีเป็นอัตราชั่วคราว (TOU) ก็คงต้องมาดูให้ถาวรและแยกให้ชัด ซึ่งขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่เปิดบริการก็มีการใช้ไฟมากขึ้นก็จะต้องนำการใช้ส่วนนี้ และรถอีวีอื่นๆ ที่จะตามมาคำนวณเพื่อพยากรณ์การใช้ไฟและบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ด้วย” นายกุลิศกล่าว
ทั้งนี้ ยานยนต์อีวีมาเร็วบทบาทของ กฟผ.จะต้องเร่งวิจัยและพัฒนาไว้รองรับเพื่อให้ก้าวไทย โดยบทบาทของ กฟผ.จะปักหมุดเป็นแหล่งพลังงานสำหรับขนส่งสาธารณะด้วยการมุ่งพัฒนาวิจัยแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ซึ่งการพัฒนาสถานีชาร์จจะร่วมมือกับ บมจ.ปตท.ในการติดตั้งที่สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.และแผนยุทธศาสตร์ของ กฟผ.การพัฒนานวัตกรรมพลังงานในรูปแบบธุรกิจจะดำเนินงานภายใต้บริษัท อีแกท อินโนเวชั่น โฮลดิ้งส์ คัมปานีส์ จำกัด ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า เมื่อ 22 ก.ย.กฟผ.ได้เปิดงาน “E Trans E” นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. พร้อมปล่อยขบวนจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเปิดตัวเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ซึ่ง กฟผ.ได้นำร่องวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในพื้นที่ อ.บางกรวย จำนวน 51 คัน วิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร โดยผู้ขับขี่สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายใน ธ.ค.นี้
“กฟผ.ได้มอบให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทำการวิจัยวินอีวี รวม 18 เดือน ซึ่งจะรวบรวมรายละเอียดต่างๆ เพื่อขยายผล โดยจุดบริการวินจะอยู่ตรงจุดท่าเรือพระราม 7 หน้าสำนักงานกลาง กฟผ.และปากซอยบางกรวย คิดอัตราค่าบริการปกติที่เคยทำอยู่” นายวิบูลย์กล่าว
นอกจากนี้ กฟผ.ได้พัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้า จำนวน 2 ลำ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ระยะแรกจะทดสอบการเดินเรือเพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ โดยนำมาใช้ในภารกิจของ กฟผ.ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคต เป็นต้น