xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดี! กบง.เคาะตรึงราคา LPG ถึงสิ้นปี สั่งศึกษาลดค่าไฟ-NGV ลดค่าครองชีพประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กบง.” เคาะตรึงราคา LPG ถัง 15 กก.ที่ 318 บาทต่ออีก 3 เดือน หรือตั้งแต่ 1 ต.ค.-ธ.ค. 63 เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชน พร้อมสั่งทุกฝ่ายระดมหาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เล็งหั่นกำไร 3 การไฟฟ้า และลดสำรองไฟลงเพื่อลดค่าไฟ ทบทวนต้นทุนก๊าซฯ ศึกษาลดราคา NGV พร้อมเคาะขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ต่ออีกถึงปี 65

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานว่า กบง.ได้เห็นชอบให้คงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ราคาขายปลีก 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ออกไปอีก 3 เดือน หรือตั้งแต่ 1 ต.ค. - 31 ธ.ค. 2563 โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชีแอลพีจีมาบริหารในการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

“การตรึงราคา LPG ดังกล่าวสามารถบริหารเงินกองทุนฯ ได้ตามกรอบวงเงินของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่วางไว้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาทได้ไม่มีปัญหา โดยประเมินว่าราคา LPG คาร์โก้เฉลี่ยถึงสิ้นปีน่าจะอยู่ระดับ 354 เหรียญฯต่อตัน คาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนเฉลี่ยเดือนละ 450 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ บัญชี LPG ติดลบแล้ว 7,429 ล้านบาท ก็น่าจะไม่เกินกรอบวงเงินที่กำหนด และยังมีมติให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นผู้อนุญาตผู้ค้า ม.7 ส่งออก LPG เป็นรายเที่ยว แต่ต้องไม่เกินกว่าส่วนเกินที่เกินจากความต้องการใช้ภายในประเทศ จากเดิมที่ต้องให้ รมว.พลังงานเห็นชอบ” นายวัฒนพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานสำหรับประชาชน โดยมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแนวทางการลดภาระค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ สนพ. เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าในการลดค่าครองชีพประชาชนในช่วงโควิด-19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การทบทวนอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) ของ 3 การไฟฟ้าที่ขณะนี้อยู่ที่อัตรากว่า 5% ให้กลับไปอิงอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (SFR) ที่อดีตก็เคยใช้เพื่อให้กำไรที่ได้รับสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

พร้อมกันนี้จะศึกษาการปรับลดสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันสูงถึง 37-40% ซึ่งจากการประเมินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จะสูงช่วง 10 ปีแรก แต่ 10 ปีหลังสำรองเฉลี่ยน่าจะอยู่ระดับ 17% โดยแผนงานที่จะปรับก็กำลังพิจารณา เช่น การขายไฟส่วนเกินให้ประเทศเพื่อนบ้าน การเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบกับโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขาย (PPA) เป็นต้น

“แนวทางลดค่าใช้จ่ายประชาชนยังให้ดูในเรื่องของก๊าซธรรมชาติเหลว (NGV) ที่มอบให้ กกพ.ไปทบทวนต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อให้ราคาขายปลีก NGV สะท้อนต้นทุนและบรรเทาผลกระทบประชาชน และการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ โดยให้กำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และทบทวนค่าบริการขนส่งก๊าซฯ ทางท่อให้เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดให้ศึกษาและนำกลับมารายงาน กบง.ครั้งต่อไป” นายวัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับโครงการ SPP Hybrid Firm กบง.ได้เห็นชอบตามที่ กกพ.เสนอให้ขยายกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ออกไป 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 จากไม่สามารถดำเนินการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมตามระยะเวลากำหนด โดยให้ผู้ได้รับการคัดเลือกให้จัดทำรายงานแผนการดำเนินโครงการและจัดส่งให้ กกพ.ภายใน 30 ต.ค. 63 และที่ประชุมยังเห็นชอบให้ ธพ.ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มน้ำมันดีเซลตั้งแต่ 1 ต.ค. 63
กำลังโหลดความคิดเห็น