ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ธุรกิจทวงหนี้อู้ฟู่ ในรอบ 3 ปี มีบริษัททวงหนี้เปิดใหม่เพิ่มขึ้นรวม 55 แห่ง บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ดันธุรกิจ “รับซื้อหนี้เสีย- ติดตามทวงหนี้” เติบโตต่อเนื่อง
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถิติสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) หรือ หนี้เสีย ในระบบสถาบันการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุด ไตรมาส 2/2563 ซึ่งเป็นผลพวงจากกการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า-2019 (โควิด-19) ยอดคงค้างอยู่ที่ 5.09 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.09 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อ เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 3.04 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. โดยให้พักชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อธุรกิจ SMEs เป็นเวลา 3 – 6 เดือน ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 2563 ลูกหนี้รายย่อยที่ขอรับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 15.2 ล้านราย รวมมูลค่าหนี้ราวกว่า 3.8 ล้านล้านบาท ส่งผลให้มีสินเชื่อค้างชำระแต่ยังไม่ถึง 3 เดือนขยับเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ใกล้หมดระยะเวลาพักชำระหนี้ ลูกหนี้ต้องเริ่มทยอยกลับมาจ่ายหนี้คืน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-พ.ย. 2563
ท่ามกลางความกังวลว่า ลูกหนี้บางส่วนอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้คืนได้ตามปกติ หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ส่งผลให้หนี้เสียของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์หนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจรับซื้อหนี้เสียมีโอกาสเติบโตมากขึ้น เช่นเดียวกับ ธุรกิจติดตามทวงหนี้ที่เปิดบริษัทเพิ่มมากขึ้น จัดทัพเตรียมสู้ศึกอย่างพร้อมเพรียง
ข้อมูลจาก สมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (เอเอ็มซี) พบว่า ขณะนี้บริษัทติดตามทวงถามหนี้ในระบบประมาณ 55 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่นอก ตลท. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กที่ทำธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 แสนบาท - 1 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่จะลงทุนเฉลี่ย 4 - 5 ล้านบาท เพราะจะต้องมีการลงทุนเรื่องระบบการติดตาม เช่น ระบบอัดเทประหว่างคุยโทรศัพท์กับลูกค้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปี 2563 มีบริษัทบริหารสินทรัพย์เกิดขึ้นใหม่ครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากปี 2561 - 2562 มีจำนวน 45 บริษัท ในปีนี้บริษัทเปิดใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55 บริษัท สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจ และปริมาณธุรกรรมหนี้ที่เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ระบุว่าปริมาณธุรกรรมติดตามทวงถามหนี้จากสถาบันการเงิน เริ่มเห็นสัญญาณเพิ่มขึ้นชัดเจนในไตรมาส 4/2563 หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ธปท. สิ้นสุด ธุรกรรมติดตามทวงถามหนี้จะถูกต่อไปยังบริษัทบริหารจัดการหนี้ ทั้งนี้ ตัวเลขสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือน และไม่เกิน 3 เดือน ในไตรมาส 1/2563 พบว่ามียอดสินเชื่อคงค้างสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากไตรมาสก่อนหน้า รวมหนี้เสียอีกกว่า 3.6 แสนล้านบาท เท่ากับยอดสินเชื่อที่ต้องเฝ้าระวังมีมูลค่าราวๆ 1 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ แนวโน้มการตัดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ หนี้เสีย ของสถาบันการเงิน จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2564 เพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการตามแนวทางของ ธปท. ชะลอการเกิดหนี้เสีย โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) คาดการณ์ว่าจะเห็นแรงเทขายมากกว่า 1 แสนล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่ราว 6 - 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2562
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรับซื้อและบริหารหนี้ที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง เป็นผลมาจากจากสถาบันการเงินแบงก์เทขายเอ็นพีแอลหรือหนี้เสีย จาก 2 ปัจจัย คือ พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ 2558 และมาตรฐานบัญชี TFRS9 ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ทำให้การติดตามทวงถามยาก ซึ่งปัจจุบันมีคดีค้างอยู่ในศาลเป็นจำนวนมาก
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CHAYO) เปิดเผยว่าธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้เติบโตค่อนข้างมาก ในปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 40% และปี 2563 คาดว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 20% นอกจากสถาบันการเงินยังมีผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) หันมาใช้บริการบริษัทติดตามทวงมากขึ้น หลังจาก พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 กำหนดไม่ให้เจ้าหนี้ทวงหนี้เกินวันละ 1ครั้ง ส่งผลให้การติดตามทวงถามหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินยากขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงถูกฟ้อง ดังนั้น จึงมีการว่าจ้างบริษัทภายนอกมาช่วยติดตามหนี้เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะติดตามลูกหนี้เองเหมือนที่ผ่านมา
“เราเห็นแนวโน้มของแบงก์ นอนแบงก์ ให้ช่วยตามลูกหนี้มากขึ้น เพราะแบงก์ไม่อยากถูกเสี่ยงฟ้อง จึงใช้ให้บริษัทติดตามหนี้รับบริหารส่วนนี้ไปแทน แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่กลัว ได้กำชับพนักงานให้ทำตามกฎหมายอย่างละเอียดและระมัดระวังมากที่สุด" นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุ
ประเด็นที่ต้องจับตา ใกล้หมดเวลาพักชำระหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. ซึ่งมีจำนวนยอดลงทะเบียนพักชำระหนี้จำนวนมหาศาล แบ่งเป็น ลูกหนี้รายย่อย ขอรับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 15,219,547 ราย รวมเป็นมูลค่าหนี้ 3,868,137 ล้านบาท, ผู้ประกอบการ SMEs 1,142,683 ราย เป็นมูลค่าหนี้ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่อีก 5,028 ราย เป็นมูลค่าหนี้ประมาณ 7 แสนล้านบาท รวมแล้ว ธปท. มีหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลืออยู่ทั้งสิ้น 6.84 ล้านล้านบาท หรือกว่า 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งหมด
โดยเฉพาะหนี้รายย่อยหนี้ก้อนใหญ่ ที่มีความกังวลว่าเกิดอะไรขึ้น หากลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเดิมหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ของ ธปท.
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด ระบุว่าวิกฤติหนี้รายย่อยเป็นปัญหาใหม่ของไทย มองย้อนกลับไปในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤตหนี้ในภาคเอกชน มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือฟ้องล้มละลายในลักษณะของบริษัท ซึ่งยังไม่เคยเจอวิกฤตลูกหนี้รายย่อยมาก่อน
สมมติลูกหนี้ 10% จากลูกหนี้ทั้งหมดที่ขอพักชำระหนี้ตามมาตรการของ ธปท. ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้คืนได้ตามกำหนดหลังครบ 3 – 6 เดือน หมายความว่าจะมีลูกหนี้จำนวนกว่า 1.5 ล้านคน ผิดนัดชำระหนี้นำสู่การจนถูกฟ้องล้มละลาย ยึดทรัพย์สินต่างๆ และหากลูกหนี้ 1.5 ล้านคน ต้องเข้ากระบวนการล้มละลายพร้อมๆ กัน ธนาคาร ศาล จะเอากำลังตรงไหนไปทำงาน ยึด หรือ reprocess ให้ทรัพย์สินเหล่านั้นกลับเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้ยิ่งจำนวนลูกหนี้เยอะมากเท่าไหร่ หนี้เสียยิ่งค้างอยู่ในระบบนาน อีกทั้งสินทรัพย์ที่ยึดมาจะได้ราคาไม่ดี
ปัญหาหนี้รายย่อยเป็นปัญหาที่รัฐต้องช่วยประชาชนแก้ เช่น สร้างกระบวนการแทรกแซง ตั้งกองทุนที่เป็นเหมือน Warehouse Assets ซื้อสินทรัพย์จากธนาคารมาเก็บไว้ก่อน ยอมที่จะไม่ได้รับการจ่ายคืนหนี้สัก 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้คนอยู่ยังอยู่ต่อได้ แล้วพอเศรษฐกิจฟื้นกลับขึ้นมา ค่อยกลับมาจ่ายหนี้คืนเพื่อนำทรัพย์สินกลับไป
สถานการณ์ “หนี้เสีย” เปรียบเสมือน “ระเบิดเวลา” ที่กำลังนับถอยในระบบการเงินของไทย