xs
xsm
sm
md
lg

KKP ปรับลดประมาณการจีดีพีปีหน้าโต 3.4% เสี่ยงสะดุด 3 ปัจจัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP สำหรับปี 2564 จาก 5.2% เหลือ 3.4% ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิมจากที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเกิดขึ้นจริงได้ยาก ในขณะที่ยังคงประมาณการเศรษฐกิจที่ -9% สำหรับปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงการที่เศรษฐกิจในปีหน้ายังคงห่างไกลจากการกลับเข้าสู่ระดับของกิจกรรมเศรษฐกิจก่อน COVID-19 จากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าจาก 17 ล้านคน เหลือเพียง 6.4 ล้านคน และคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2564 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติก่อนโควิด-19 คือที่ 40 ล้านคนอยู่มาก ขณะที่ในปี 2563 นี้ คาดว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากติดตามตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบางอุตสาหกรรมชัดขึ้นเรื่อยๆ จากที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อในประเทศ มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองของรัฐบาลและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนมากถึง 12% ของ GDP ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากและช้ากว่าประเทศอื่นๆ มากในภาวะที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา หนึ่งในสัญญาณที่อาจสามารถสะท้อนให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้บ้าง คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย ซึ่งเปรียบเทียบแล้วตลาดหุ้นไทยแทบไม่ฟื้นตัวเลยในขณะที่หุ้นในหลายประเทศฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับจุดก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว

ทั้งนี้ สมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ในกรณีเลวร้ายที่ประเทศไทยอาจไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้เลยในช่วงปี 2021 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งการจ้างงานและการเลิกกิจการของบริษัทในวงกว้าง การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของหนี้เสีย ที่จะฉุดรั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศและเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจจะหดตัวลึกไปกว่าเดิม และอาจโตได้ในระดับ 0%-1% เท่านั้น

สำหรับในปัจจุบันแม้ตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เศรษฐกิจในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายจากอีก 3 ปัจจัย ได้แก่ หนึ่ง ฐานะการเงินของธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีความเสี่ยงในการเลิกกิจการ และผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น กลุ่มโรงแรมจะยังประสบปัญหาอัตราการเข้าพักที่ยังไม่กลับมาจนถึงระดับที่คุ้มทุนในการดำเนินกิจการ ทำให้ธุรกิจหลายกลุ่มยังมีความเสี่ยงที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และหากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และธุรกิจยังคงมีกระแสเงินสดที่ติดลบต่อเนื่อง อาจทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการจ้างงานในระยะต่อไป

สอง ผลกระทบต่อการว่างงานอาจรุนแรงขึ้นอีก KKP Research คาดว่าจำนวนการว่างงานอาจสูงถึง 5 ล้านคน หรือมากกว่านั้นได้หากเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาได้ในปีหน้า ปัญหาการขาดรายได้และการว่างงานเป็นวงกว้างเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตผู้คน ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาทางสังคมอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่งอีกด้วยผ่านการชะลอทำให้การบริโภคในปี 2564 อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดได้ และสาม มาตรการพักชำระหนี้แบบทั่วไปกำลังจะหมดลง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศว่าหลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะไม่มีการต่อโครงการพักชำระหนี้แบบทั่วไปเช่นในปัจจุบันอีก ทำให้ยังต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้จะมีลูกหนี้สัดส่วนมากน้อยเพียงใดที่จะไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ และหนี้จำนวนมากแค่ไหนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) โดยจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนกรกฎาคม โดยรวมมีถึง 12.5 ล้านบัญชี รวมมูลค่า 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่ารัฐยังมีความสามารถในการทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมหลังจากนี้ แม้ว่าจะมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มจะแตะระดับ 60% ซึ่งเป็นเพดานตามกฎหมายในปัจจุบัน แต่จากต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัฐที่ต่ำลงมากเมื่อเทียบกับอดีต ทำให้ประเมินว่าประเด็นเรื่องความสามารถในการจ่ายหนี้และความมั่นคงทางการคลังจะไม่เป็นปัญหามากนักบนเงื่อนไข 3 ข้อ 1) หนี้ที่กู้ยืมมาต้องถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างการเติบโตของ GDP ในอนาคต 2) ตลาดยังมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงทางการคลังและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และ 3) รัฐมีการวางแผนในการลดการขาดดุลการคลังในอนาคตที่ชัดเจน เช่น การปฏิรูปภาครัฐเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ภาครัฐในอนาคต ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้รัฐจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมและคิดถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมเครื่องมือให้พร้อมหากสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามคาด
กำลังโหลดความคิดเห็น