xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไทยหลัง COVID

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นแต่ละประเทศประกาศตัวเลขเศรษฐกิจอย่าง GDP ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 แม้ว่าแต่ละประเทศจะพยายามงัดนโยบายทางการคลังและการเงินมาใช้นั้นก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการหดตัวของเศรษฐกิจได้ ในบทความฉบับนี้เราจะมาดูผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาครับ

เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทางสำนักงานสภาพัฒน์ฯ ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ของปีออกมาติดลบอยู่ที่ -12.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดนับตั้งแต่สมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นได้รับผลกระทบไปในทุกภาคส่วนจากทั้งนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาด ที่สั่งให้มีการปิดเมืองและส่งผลกระทบไปยังสภาวะเศรษฐกิจ โดยภาคการส่งออกนั้นติดลบไปกว่า -20% ในขณะที่ด้านการบริโภคเอกชนนั้นติดลบไปประมาณ -6.6% และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยรายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ผ่านมานั้นหายไปสูงถึง 91% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ในแง่ของการฟื้นตัวนั้น หากเราลองย้อนกลับไปดูพัฒนาการในช่วงเดือนกรกฎาคม จากแถลงข่าวเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนั้น เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการผ่านคลายมาตรการปิดเมือง ที่สะท้อนผ่านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ด้านการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมไปถึงภาพการผลิตอุตสาหกรรมนั้นมีการหดตัวที่น้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพการลงทุนภาคเอกชนนั้นยังคงหดตัวสูงขึ้นจากความไม่ชัดเจนในด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมไปถึงหลายบริษัทคงต้องให้ความสำคัญต่อการรักษาสภาพคล่องมากกว่าลงทุนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีพัฒนาการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม เรายังคงต้องเจอกับความท้าทายอยู่อีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยปัจจัยหลักที่ยังคงเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยนั้น ได้แก่ รายได้ภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของ GDP นอกจากนี้แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนั้นจะส่งผลกระทบทางอ้อมไปยังอุตสาหกรรมอื่น และ ภาคการบริโภคที่ถูกกดดันจากการลดจำนวนพนักงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม และร้านอาหาร แม้ว่าพัฒนาการด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการค้นพบวัคซีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่หากวัคซีนนั้นยังไม่สามารถผลิตพอที่จะใช้ได้ในวงกว้างแล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะยังคงได้รับผลกระทบต่อไปอีกเป็นระยะเวลานาน ผมคิดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีจนกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับระดับของปี 2562 นอกจากนี้ ความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงินอาจจะกลับมาเป็นปัจจัยที่เราต้องกลับมาติดตามอีกครั้งภายหลังมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้หมดลง และเราอาจจะเห็น NPL ทยอยปรับตัวขึ้นในช่วง 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวอย่างอ่อนแออยู่ โดยในครึ่งปีหลังนั้นผมคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงหดตัวอยู่ที่ระดับประมาณ -7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น