ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่รับรู้กันว่า สถานการณ์ “ท่องเที่ยวไทย” นั้น หนักหนาสาหัสเพียงใด ด้วยผลกระทบจาก “โควิด-19” ซึ่งทำให้ไม่มี “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดินทางเข้ามาในประเทศ และส่งผลทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งสายการบิน โรงแรม และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญคือทำให้เม็ดเงินที่มาพร้อมกับนักท่องเที่ยวหายวับจนไม่อาจประเมินค่าความสูญเสียได้ โรงแรมหลายแห่งต้องปิดกิจการ บางแห่งต้องตัดใจขายให้กับทุนต่างชาติ ไม่นับรวมถึงพนักงานที่ต้องถูก “เลิกจ้าง” จำนวนมาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงแรม 50% ที่ยังคงปิดกิจการอยู่ โดยเฉพาะโรงแรมที่อยู่ในจังหวัดที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เช่น จ.ภูเก็ต มีโรงแรมเปิดบริการเพียง 10% เท่านั้น
ขณะที่การท่องเที่ยว “ภายในประเทศ” ของคนไทยด้วยกันเองก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดย โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลช่วยออกค่าห้อง 40% ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน คนละไม่เกิน 5 คืน ช่วยค่าเครื่องบินไม่เกิน 1,000 บาท ค่าอาหารต่อวัน 600 บาท เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีคนใช้สิทธิเพียงแค่ 8.51 แสนคน จากที่กำหนดเป้าไว้ 5 ล้านคน ซึ่งโครงการนี้จะสิ้นสุด 31 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะขอให้คณะรัฐมนตรีมติขยายเวลาของมาตรการไปถึง 31 ธันวาคม 2563 เป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว เพราะเชื่อว่าจะตัวเลขคนใช้สิทธิจะเพิ่มมากขึ้น
“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยสถานการณ์อันยากลำบากของธุรกิจโรงแรมว่า กระแสเงินสดของผู้ประกอบการโรงแรมไทยส่วนใหญ่อยู่ได้อีก 3-6 เดือนนับจากนี้ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาและจำเป็นต้องพึ่งพาแต่ตลาดนักท่องเที่ยวไทย โดยสมาคมฯได้ประเมินว่าปัจจุบันแรงงานในธุรกิจโรงแรมว่างงานทั้งแบบชั่วคราวและถาวรรวมถึง 1 ล้านคน โดย 25% เป็นการว่างงานถาวร และยังพบว่ามีความต้องการจ้างงานลดลง 75%
“หากยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวจนถึงกลางปี 2564 จะมีผลทำให้เงินหมุนเวียนของธุรกิจลดน้อยลงยิ่งขึ้น รวมถึงการว่างงานที่เพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้นตามลำดับ และท้ายสุดโรงแรมอาจต้องปิดตัวลงหรือขายกิจการ”
นายกสมาคมโรงแรมไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อาทิ มาตรการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อรักษาการจ้างงานและเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระต้นทุนคงที่สำหรับโรงแรมเมื่อเปิดกิจการ โดยจะขอหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือโรงแรมขนาดกลางและเล็ก
รวมทั้งขอให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเข้าไปร่วมลงทุนในส่วนทุน หรือซื้อหนี้ของแต่ละกิจการระยะเวลา 7 ปี และเปิดสิทธิรับซื้อคืนได้ในผลตอบแทน 1% ต่อปีของกองทุนฯ
นอกจากนี้สมาคมฯ จะขอให้นำร่องเปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างชาติเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยมีมาตรการการควบคุมที่เหมาะสม ได้แก่ 1.มาตรการรับนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ แบบกักตัว 14 วัน นอกเหนือจาก 11 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้เข้าประเทศไทยได้ ณ ปัจจุบัน
2.เปิดรับนักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ ที่มีกิจกรรมทางธุรกิจซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ต้องการเดินทางเข้ามาประชุมหรือเจรจาธุรกิจระยะสั้นน้อยกว่า 14 วัน โดยมีผลตรวจปลอดโควิดก่อนเข้าประเทศ อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัททัวร์ที่ได้รับการอบรมและรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และมีผู้ติดตามที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ประกบด้วย ทั้งนี้ต้องแจ้งกำหนดการตลอดระยะเวลาพำนักในไทย และเข้าพักที่โรงแรม ASQ (Alternative State Quarantine) สามารถออกนอกประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ครบ 14 วัน
3.เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัดพื้นที่ ร่วมกับประเทศหรือเมืองที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้เป็นอย่างดี (Travel Bubble / Green Lane Arrangement with Low-Risk Countries or Cities) เช่น ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และในพื้นที่บางส่วนของจีน โดยนักท่องเที่ยวจะต้องเข้าสู่การกักตัวตามนโยบายการกักกันตัวที่เหมาะสม ทั้งนี้อาจสามารถลดระยะเวลาการกักตัวเพื่อความยืดหยุ่น หรือแม้กระทั่งให้นักท่องเที่ยวกักกันตัวด้วยตัวเองแล้วรายงานผลผ่านทางแอปพลิเคชันที่รัฐกำหนดทุกวัน
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องขอสมาคมโรงแรมไทยและภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยนำเสนอก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะได้รับการตอบสนองจาก “ภาครัฐ” พอสมควร โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับแนวทางในการเปิดรับ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เข้าประเทศไทย โดยให้ “วีซ่าพิเศษ” ที่เรียกว่า “Special Tourist VISA (STV)”
นักท่องเที่ยวพิเศษกลุ่มนี้จะสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ยาวถึง 9 เดือน โดยคาดว่าจะนำเงินเข้าประเทศเดือนละ 1,200 ล้านบาท และจะกำหนดเปิดรับใน “เดือนตุลาคม” ที่จะถึงนี้
กล่าวสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) นั้น มีการกำหนดเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นบุคคลต่างด้าวที่พำนักระยะยาว(Long Stay) ภายในประเทศไทย ต้องยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย เเละตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน
นอกจากนี้ ต้องมีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในไทย เช่น หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พัก หลักฐานสำเนาโฉนดหรือการชำระเงินดาวน์ห้องชุดประเภทคอนโดมิเนียม และเสียค่าธรรมเนียมลงตราวีซ่า 2,000 บาท
โดยครั้งแรกจะอนุญาตให้พักอยู่ได้ 90 วัน จากนั้นสามารถขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวม 270 วันหรือ 9 เดือน โดยชาวต่างชาติต้องยื่นคำขอตามแบบ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
ทั้งนี้ ไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ตั้งเเต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป ครั้งละ 100 คน จำนวน 1,200 คนต่อเดือน โดยมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะสามารถนำเงินเข้าประเทศได้กว่า 1,200 ล้านบาทต่อเดือน
“น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ครม.อนุมัติการออกวีซ่านักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ “STV” ได้มี มหาเศรษฐีชาวจีน ติดต่อสอบถามรายละเอียดการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยและมาพำนักระยะยาว โดยระบุว่าอาจจะเดินทางโดยเครื่องบินส่วนตัว และต้องการมาพักประมาณ 60 วัน
“เชื่อว่าหากรายละเอียดทุกอย่างชัดเจน น่าจะมีเศรษฐีจากต่างประเทศสนใจเดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก เพราะหลังข่าว ครม.อนุมัติวีซ่าประเภทใหม่ออกไป มีชาวต่างประเทศโทรศัพท์มาสอบถาม ททท.จำนวนมาก ส่วนการเดินทางเข้ามา ต้องใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำ หรือเครื่องบินส่วนตัวบินไปยังสถานที่ปลายทาง โดยไม่ได้แวะ ณ จุดใดๆ ก่อน อาทิ หากต้องการไปเที่ยว “อนันตรา ภูเก็ต” ก็ต้องบินตรงไปยังภูเก็ต จะแวะสนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้ รวมทั้งต้องผ่านขั้นตอนตามมาตรฐานสาธารณสุขของไทย”
รองผู้ว่าการ ททท.ด้านการสินค้าฯ กล่าวอีกว่า สำหรับประมาณการรายได้จากนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษพำนักระยะยาว ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 100 คน/เที่ยวบิน สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบินคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 1,200 คน/เดือน หรือ 14,400 คน/ปี มีรายได้ 1,030.732 ล้านบาทต่อเดือน และ 12,368.79 ล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษพำนักระยะยาว รวมต่อคนต่อทริปอยู่ที่ 858,944 บาท เฉลี่ยต่อคนต่อวัน 14,316 บาท
นโยบายดังกล่าวถือเป็นความพยายามที่น่าสนใจ เพราะจะว่าไปจนกระทั่งขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ด้วยไม่รู้ว่าประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนเมื่อไหร่ ขณะที่ปัญหา “ปากท้อง” ของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวได้
ดังนั้น แนวนโยบายในการ “เปิดประเทศ” หรือ “เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” แบบมีเงื่อนไขจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เพียงแต่จะต้องมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่แม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียวพราะถ้าเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ผลกระทบจะรุนแรงยิ่งไปกว่าเก่า
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า สถานการณ์หลายด้านของไทยดีขึ้น โดยมาตรวัดที่น่าสนใจก็คือ “ธุรกิจการบิน” ซึ่ง นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ให้ข้อมูลว่ามีสถานการณ์ดีขึ้น โดยปริมาณเที่ยวบินเดือนสิงหาคม 2563 มีเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 30,360 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 2,721 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 9.8 %
ทั้งนี้ เที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นเนื่องจา สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย คนไทยเริ่มกลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศกันมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขปริมาณเที่ยวบินภายในประเทศมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ 4,036 เที่ยวบินเที่ยวบินภายในประเทศ 16,045 เที่ยวบิน เที่ยวบินผ่านน่านฟ้า 2,381 เที่ยวบิน และเที่ยวบินสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทางทหารและราชการ 7,898 เที่ยวบิน