xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ หนุน 'วีซ่าพิเศษ' เปิดรับต่างชาติ ลุ้นฟื้นโรงแรมพ้นเหว ห่วงซัปพลาย 1 แสนห้องล้นภูเก็ต-บาทแข็งซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในเซกเตอร์ของอุตสาหกรรมที่แต่ละปีจะมีมูลค่าตลาดในภาวะปกติราว 6 แสนล้านบาท ซึ่งในความสำคัญของธุรกิจอสังหาฯ แล้ว จะมีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมาก เกิดการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมไปกับการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจสถาบันการเงิน ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่ง เป็นต้น

และแม้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลาย และภาครัฐได้มีการหารือกับผู้ประกอบการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริมให้ "อสังหาฯ" ถูกขับเคลื่อนได้ และความเชื่อมั่นมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแต่ละข้อเสนอที่ส่งผ่านไปยังรัฐบาล จะต้องถูกย่อยเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ สุดท้าย ก็ต้องอาศัยเวลาที่เหมาะสม!!

เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่ปัจจุบัน "อับเฉา" อย่างหนัก แม้รัฐบาลพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างหนัก โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมโปรโมตและกระตุ้นให้ "คนไทย" ออกมาท่องเที่ยวผ่านโครงการต่างๆ เนื่องจากขณะนี้การจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว เพราะหลายประเทศทั่วโลกยังมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่อีก

ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ททท. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางมาตรการที่รัดกุม เพื่อเตรียมพร้อมเปิดรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย หรือนักธุรกิจที่ต้องการเข้ามาทำโครงการต่อ และกลุ่มที่มองโอกาสที่จะลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับเป็นบ้านหลังที่สอง

แต่แน่นอนว่า รายได้จากภาคการท่องเที่ยว จะหวนกลับไปมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 คงเป็นเรื่อง "ลำบาก" ซึ่งการ "สูญหาย" ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวย่อมส่งผลกระทบต่อ "สภาพคล่อง" ของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการบริการต่างๆ และเมื่อรายได้หดหายจนไม่สามารถหล่อเลี้ยงองค์กรได้ การลดต้นทุน และการปลดพนักงานเป็นสิ่งที่จะตามมา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ
คัด 4 จังหวัดนำร่อง "สเปเชียลวีซ่า" รับต่างชาติ 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ก่อนช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทางผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่พบปะกับประชาชนและนักธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งพบว่า ธุรกิจหลักคือ ภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วน 90% หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาพรวมธุรกิจในพื้นที่ประสบปัญหาอย่างหนัก ทำให้ต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยมีการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น

"มีการพูดคุยกับชาวภูเก็ตว่า สุดท้ายแล้ว ต้องนำชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว แต่ทุกอย่างต้องปฏิบัติตามศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ คือ ต้องผ่าน ASQ 14 วัน หรือ ALSQ 14 วัน ก่อนท่องเที่ยวตามจุดที่กำหนด สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่ง 3 กระทรวงที่ดูแลอยู่ ทั้ง กระทรวงคมนาคม สาธาณสุข และการท่องเที่ยวฯ กับรัฐมนตรีช่วยอีก 4 กระทรวง จะทำการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้สำรวจเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เสนอต่อนายกรัฐมนตรี จากข้อมูลจะพบว่า คนรอบนอกภูเก็ต ซึ่งจะมีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ ให้การสนับสนุนการมีนักท่องเที่ยวจะเข้ามาอีกครั้ง ประกอบกับอาชีพต่างๆ เรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan เนื่องจากในทางปฏิบัติเข้าถึงค่อนข้างยาก โดยทั้ง 3 กระทรวงที่กล่าวมาจะสะท้อนปัญหาเหล่านี้ให้แก่ท่านนายกฯ รับทราบ เนื้อหารวมกว่า 90 หน้า"

ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติกรอบในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าสเปเชียล ทัวร์ริสต์ วีซ่า (Special Tourist Visa : STV ) จะไม่มีการกำหนดอายุของผู้ถือ (เดิมกำหนดไว้อายุ 50 ปีขึ้นไป) เป็นการทำหนังสือเดินทางเพื่ออนุมัติให้ต่างชาติที่อยู่ไทยในระยะยาว หรือ Long Stay ถือวีซ่าได้ 90 วัน สามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง รวมเป็นมีระยะอยู่ในประเทศไทยได้ 270 วัน หรือ 9 เดือน โดยที่ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาประเทศไทย ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมกักตัว 14 วัน ในพื้นที่โรงแรมที่รัฐบาลจัดให้ เบื้องต้น นำร่อง ใน 4 จังหวัดที่มีมาตรฐาน ASQ หรือ ALSQ แล้ว ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต บุรีรัมย์ และจังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ รายชื่อทั้งหมดต้องส่งให้ทาง ททท. เพื่อส่งให้ทางกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตรวจสอบก่อน ผู้ที่จะเข้ามาต้องชำระเงินค่าวีซ่าก่อน ต้องเลือกจังหวัด โรงแรมที่มี STV ช่วงระยะเวลาที่พำนัก และหลัง 14 วันที่ผ่านมาตรฐานแล้ว จะเดินทางไปที่ไหน ต้องเดินทางมาด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ โดย ศบค.กำหนดระยะแรกรับได้เบื้องต้นจำนวน 300 คนต่อสัปดาห์ (มีผู้ติดตาม 1-2 คน) หรือสูงสุดอาจไม่เกิน 1,200 คน โดยต่างชาติที่จะเข้าไทยได้ รัฐจะอนุมัติในระดับประเทศหรือเมืองที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ใช่อนุมัติทั้งประเทศ และย้ำว่าไม่มีสิทธิพิเศษต้องปฏิบัติตามเหมือนกลุ่มคนไทยที่กลับประเทศ

โดยสเปเชียล ทัวร์ริสต์ วีซ่า (เดิมคือ ภูเก็ตโมเดล) รัฐได้ปรับรูปแบบเพื่อลดกระแสคัดค้านตามแผนเดิมที่จะเปิดในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อตรวจสอบความต้องการเปิดกลุ่มประเทศที่พร้อมเดินทาง และพื้นที่จังหวัดที่มีโรงแรมพร้อมกักตัวตามมาตรฐานสาธารณสุข

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของไทยเติบโตมาตลอด ผู้ประกอบการต่างๆ มีการขยายตัวพร้อมรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวภายในประเทศจะมีไม่ถึง 40% ซึ่งในปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.01 ล้านล้านบาท คาดว่ารายได้ภายในสิ้นปีจะได้ตามเป้าที่ 1.23 ล้านล้านบาท

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ มีกลุ่มที่แจ้งความต้องการจะเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาลแล้ว (ลูกค้าเดิมของโรงพยาบาล) 500 คน (ต้องกักตัวในสถานพยาบาล) และผู้ติดตามอีก 2-3 คน ต้องอยู่ในสถานที่ที่รัฐบาลกำหนดไว้ 14 วัน ซึ่งจะมีทั้งที่อยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว สหภาพพม่า และเวียดนาม) ประเทศในภูมิภาคเอเชีย อินเดีย ปากีสถาน และออสเตรเลีย เป็นต้น และถัดไปที่จะเข้ามาอีก 1,000 คน

"นักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องผ่านบริษัทนำเที่ยวที่ผ่านมาตรฐาน SHA เท่านั้น และทุกโปรแกรมจะต้องมีการชำระเงินเรียบร้อย โดยจะต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 30 วันเพื่อให้เข้าข่าย Long Stay ขณะเดียวกัน ในการเข้ามาท่องเที่ยวช่วงกักตัว 14 วัน จะมีโปรแกรมพิเศษ เรียกว่า 14 วันหรรษา เพื่อผ่อนคลายไม่ให้เครียด โดยเป็นการสร้างดีมานด์ขึ้นมา เช่น ซื้อบริการสปา ชอปปิ้ง หรือการฝึกสอนเรื่องโยคะในห้องพัก รวมถึงบางบริษัทนำเที่ยวเตรียมเสนอบริการให้แก่ญาติหรือผู้ติดตามผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวด้วย" น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเสริม

นายภัทรชัย ทวีวงศ์
ท่องเที่ยวไม่ฟื้น! ธุรกิจโรงแรมดับ ประกาศขายแสนล้าน

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสารบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า หากในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกครั้ง เนื่องจากนักท่องเที่ยวเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในภูเก็ต โดยมีตัวเลขเดินทางเข้ามา 10 ล้านคน คนไทย 4 ล้านคน (ซึ่งบางส่วนของคนไทยอาจเข้ามาหางานทำ สุทธิเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยไม่ถึง 2 ล้านคน)

"เรายอมรับว่า ตอนนี้ภูเก็ต และสมุย สาหัสมากๆ แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว แต่ก็ไม่น่าจะมีผล อย่าลืม ช่วงล็อกดาวน์ พ.ค.ถึง มิ.ย.ตลาดท่องเที่ยวหยุดหมด และในปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีคนไทยมาเที่ยวแต่ก็ไม่เพียงพอ ตัวเลข 94 เปอร์เซ็นต์ของภูเก็ต มาจากรายได้ของการท่องเที่ยว สิ่งสำคัญ คือ เรื่องความเชื่อมั่น ต้องควบคุมให้ได้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมา ถ้า ททท. ทำได้จริงๆ ถึงจะขยายผลไปสู่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ เป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกครั้ง แต่ต้องใช้เวลา เนื่องจากที่เราประเมินไว้ คงไม่ถึง 5% ของนักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาภูเก็ต"

ทั้งนี้ หากสถานการณ์การท่องเที่ยวยังไม่ดีหรือฟื้นตัวขึ้น ขณะที่เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก ก็คาดว่าธุรกิจโรงแรมจะน่าเป็นห่วงต่อเนื่องไปถึงปลายปี 2564 โรงแรมระดับ 4 ดาวครึ่ง ที่ในอดีตมีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติสนใจจะซื้อโรงแรมเหล่านี้ แต่ไม่มีซัปพลาย (โรงแรม) ขายออกสู่ตลาด กำลังจะได้เห็นการประกาศขายโรงแรมระดับดังกล่าวในภูเก็ต สมุย พัทยา และหากพิจารณาเป็นภาพรวมทั่วประเทศ น่าจะมีแนวโน้มธุรกิจโรงแรมประกาศขายมูลค่าเกินกว่า 100,000 ล้านบาท

"เราเรียกร้องให้ ททท.ระดมนักวิชาการมาช่วยเหลือ คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงทาง ททท.ควรมีการกำหนดแผนที่ชัดเจน ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อประคองไม่ให้ธุรกิจท่องเที่ยวสาหัส แต่ผู้ประกอบการรายใดมีสายป่านยาวๆ ก็พอจะดูแลธุรกิจให้อยู่รอดได้"

ซัปพลายโรงแรมรวมทะลุกว่าแสนห้องพัก

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ คอลลิเออร์ส ระบุถึงภาพรวมอุปทานโรงแรมทุกระดับในจังหวัดภูเก็ต ณ สิ้นครึ่งแรกปี พ.ศ.2563 อยู่ที่ประมาณ 86,000 ห้อง แต่สำหรับภาพรวมอุปทานสะสมโรงแรมระดับลักชัวรีและอัปสเกลทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 22,420 ห้อง สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา มีโรงแรมระดับอัปสเกลเปิดบริการใหม่เพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้น คือ โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท 600 ห้อง ตั้งอยู่บริเวณหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ ซึ่งคอลลิเออร์สฯ พบว่า การเปิดตัวของโรงแรมระดับลักชัวรีและอัปสเกลส่วนใหญ่ยังคงมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่รอบๆชายหาดที่สำคัญ เช่น ป่าตอง บางเทา ราไวย์ กมลา เป็นต้น

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ตเป็นอย่างมาก นักพัฒนาหลายรายเลือกที่จะเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกออกไป และรอดูสถานการณ์อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีว่าจะสามารถเปิดตัวได้หรือไหม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีโรงแรมอีกมากกว่า 16,400 ห้องพักที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2563-2566 โดยประมาณ 67.1% หรือมากกว่า 11,000 ห้องพัก เป็นโครงการวิลล่าตากอากาศและโครงการคอนโดมิเนียมที่มีการขายแบบการันตีผลตอบแทนจากการลงทุน (ยิลด์) ที่มีแบรนด์โรงแรมเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการในลักษณะโฮเต็ลเรสิเดนซ์ ในรูปแบบโปรแกรมบังคับเช่า หรือแบบเลือกการปล่อยเช่าเป็นโรงแรม ซึ่งถือว่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตเป็นอย่างมาก โดยพบว่าส่วนใหญ่มีการกระจายตัวแทบทุกพื้นที่ในจังหวัด โดยเฉพาะย่านกมลา ป่าตอง สุรินทร์ บางเทา ราไวย์ เป็นต้น


โดยคาดการณ์ว่า ทำเลป่าตอง กมลา บางเทา ราไวย์ ในหาญ และสุรินทร์ จะยังคงเป็นทำเลที่จะยังคงขยายตัวต่อไปในอนาคต เฉพาะพื้นที่โดยรอบทำเลย่านป่าตอง และบางเทา เนื่องจากเป็นทำเลที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่ รวมถึงเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่จากภาครัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต รวมถึงโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ล้วนจะส่งผลให้ทำเลย่านดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในภูเก็ตมากขึ้นในอนาคต

"เรากังวลอย่างมากต่ออุปทานโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตที่เพิ่มขึ้นกว่า 16,400 ห้องพักในอนาคต ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวและความต้องการห้องพักไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากนัก ส่งผลให้เกิดภาวะที่อุปทานเกินความต้องการ รวมแล้วในตลาดมีไม่ต่ำกว่า 100,000 ห้องพัก"



โรงแรมในภูเก็ตครึ่งปีแรกรายได้กว่าแสนล้าน

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งแรก ปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปมากกว่า 99% ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งปีแรกเหลือเพียงแค่ 2.84 ล้านคนเท่านั้น ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 62.56% และพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน เหลือเพียงแค่ประมาณ 1.85 ล้านคนเท่านั้น ปรับตัวลดลงมากถึง 68.94% และในส่วนของนักท่องเที่ยวไทยก็ปรับตัวลดลงมากถึง 52.75% มาอยู่ที่ประมาณ 0.98 ล้านคน ส่งผลให้มูลค่าจากการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เหลือเพียงแค่ 1.01 แสนล้านบาทเท่านั้น ลดลงมากถึง 62.85%

ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2563 คาดว่ายังคงเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายเป็นอย่างมาก ซึ่งจากปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวภูเก็ตในปี พ.ศ.2563 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนักในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ นอกจากนี้ ปัจจัยลบในเรื่องของ การแข็งค่าของเงินบาท ข้อจำกัดเรื่องการรองรับของสนามบินหลักของไทย และเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ถือว่ายังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับค่าเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคนี้ ล้วนเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่เข้ามากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ตแทบทั้งสิ้น

ในส่วนของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรม โดยภาพรวมในทุกระดับในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ สิ้นครึ่งแรกปี 2563 อยู่ที่ 26.33% ปรับตัวลดอย่างมากจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 80.35% มากถึง 54.02% จากจำนวนนักเที่ยวเที่ยวทั้งหมดที่ประมาณ 2.84 ล้านคนเท่านั้น

สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลักชัวรีและอัปสเกลในจังหวัดภูเก็ตครึ่งแรกปีนี้ อยู่ที่ 38% ปรับตัวลดลงจากในช่วงก่อนหน้าถึง 22% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมากว่า 69% และผลปิดสนามบินนานาชาติภูเก็ต แต่ในครึ่งปีหลัง ตัวเลขการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลักชัวรีและอัปสเกล จะดีขึ้นจากการกระตุ้นท่องท่องของภาครัฐผ่านกระตุ้นต่างๆ ทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยสังเกตได้ว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ภาพรวมการท่องเที่ยวในภูเก็ตเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามามากกว่า 115,000 คน และคาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง


คอนโดฯ การันตียิลด์คู่แข่งเบียดลูกค้าโรงแรม

ค่าห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับระดับลักชัวรีและอัปสเกลในจังหวัดภูเก็ต ณ ครึ่งแรกปี พ.ศ.2563 ลดลง 6% มาอยู่ที่ 5,250 บาท สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักปรับลดลง 8.1% มาอยู่ที่ 3,840 บาท ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเลือกปรับลดราคาห้องพักลง เพื่อธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ในขณะที่กับอุปทานห้องพักที่เปิดใหม่ที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก จากโครงการคอนโดฯ และวิลล่าตากอากาศ ที่มีการขายแบบการันตียิลด์ โดยมีแบรนด์โรงแรมเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการในลักษณะโฮเต็ลเรสิเดนซ์ ส่งผลให้อุปทานห้องพักเติบโตสวนทางกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

สำหรับค่าห้องพักเฉลี่ยและรายได้เฉลี่ยต่อห้องของตลาดโรงแรมระดับลักชัวรีและอัปสเกลจังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดปรับลดลงอีก 5% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดการท่องเที่ยว มาตรการของภาครัฐที่ออกมา อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก

"พราว เรียลเอสเตทฯ" หนุนแนวคิด Long Stay

นายไพสิฐ แก่นจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พราว เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล "ลิปตพัลลภ" กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาล และ ททท.ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Long Stay หรือพำนักระยะยาวในช่วงแรก เพื่อประเมินผลงานของแนวทางดังกล่าว ก่อนที่จะมาเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีมาตรการที่ดี ขณะเดียวกัน ต้องหันมามองเรื่องเศรษฐกิจของประเทศด้วย

"ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่เปิดเลย ก็ลำบาก หากเราต้องไปลงทุนพัฒนาโครงการที่จังหวัดภูเก็ตในตอนนี้ อาจจะไม่มียอดขายเลย เพราะต่างชาติยังเข้ามาไม่ได้ แต่หากเปิดรับต่างชาติเมื่อไหร่ เข้าไปลงทุนก็ไม่สาย ซึ่งตนคิดว่า เรื่องมาตรการควบคุมยังต้องปฏิบัติอยู่ เราควรทำเป็นตัวอย่างให้ต่างชาติเข้าใจในเรื่องมาตรการควบคุมด้วย แต่สิ่งที่กังวล ตอนนี้เห็นหลายพื้นที่การ์ดเริ่มตก อันนี้น่ากลัวอยู่" นายไพสิฐ กล่าว

จากนี้ไปคงต้องเฝ้าติดตามมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มพิเศษ หากสัมฤทธิผล ก็จะเป็นโอกาสอันดีของการฟื้นความเชื่อมั่น แต่หากมาตรการควบคุมอ่อน ผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมรุนแรง และกลายเป็นวิกฤตรอบใหม่

โดยเฉพาะวิกฤต "แรงงาน" กำลังก่อตัวเป็น "ระเบิด" ลูกใหญ่ หากระเบิดขึ้นมาจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย!!
กำลังโหลดความคิดเห็น