xs
xsm
sm
md
lg

“STV” ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร หัวเชื้อหวังฟื้นท่องเที่ยวไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - เปิดมาตรการ STV ฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว ดึงต่างชาติเข้าไทย แม้จะเป็นแสงสว่างอันน้อยนิด แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เอกชนคาดหวังกระตุ้นตลาดได้ระดับหนึ่ง ชี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีก่อน

ความพยายามในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยอีกมิติหนึ่ง คือ ด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นภาคหลักในการสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นลำดับต้นๆ มากกว่าปีละ 3 ล้านล้านบาท ด้วยการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมขึ้นมาได้บ้าง แม้จะห่างไกลจาก 3 ล้านล้านบาทมากโขก็ตาม 

แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จึงเกิดขึ้น และคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติในหลักกการไปแล้วตามที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอเมื่อวันอังคาร 15 กันยายนที่ผ่านมา แม้มาตรการนี้ยังคงมีข้อดีข้อเสียบ้างปะปนกันไป อาจจะไม่ทางออกที่สวยหรูในการที่จะผลักดันให้ท่องเที่ยวไทยกลับมาคึกคักได้เหมือนก่อนเกิดโควิด-19 แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังดีกว่าไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลยในการเปิดประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องมีการหารือในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค.อีกครั้ง และยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายส่วน

“สิ่งสำคัญจะต้องมีการกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะคนกลุ่มนี้เขาอยู่ยาว ทั้งในสถานที่ที่รัฐจัดให้ หรือสถานที่ที่เขาเลือก หรือในระบบโรงพยาบาล ซึ่งระบบสาธารณสุขของเราถือว่าดีที่สุดในโลก อยู่ในระดับต้นๆ”


เปิดเงื่อนไขมาตรการ STV

สำหรับ หลักเกณฑ์ ตามที่ ครม.อนุมัติในหลักการ ถึงแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ นั้น คือ

1.กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
1.1 เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย
1.2 ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย และตกลงยินยอมกักตัวในห้องพัก14 วัน (ALSQ)
1.3 มีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย ได้แก่ หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พัก (AHQ) ภายในประเทศไทย และหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

“หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก ที่จะใช้เป็นที่พักหลังจากออกจากโรงแรมที่พักที่เป็นสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลที่พัก ตามระยะเวลาที่ประสงค์จะพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย หรือหลักฐานสำเนาโฉนดห้องชุดของที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลต่างด้าว หรือบุคคลในครอบครัวของบุคคลต่างด้าว หลักฐานการเช่าที่พักประเภทคอนโดมิเนียมหรือบ้านพัก หลักฐานการชำระเงินดาวน์ของบุคคลต่างด้าวในการซื้อหรือเช่า ที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่บุคคลต่างด้าวสามารถซื้อได้ตามกฎหมาย”

ทั้งนี้ บุคคลต่างด้าวตามเกณฑ์ข้างต้น และผ่านการดำเนินการตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด มีสิทธิขอรับการตรวจ ลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ Special Tourist Visa (STV) โดยเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 2,000 บาท ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน เมื่อครบกำหนดเวลาอนุญาต 90 วันแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 90 วัน โดยคนต่างด้าว ต้องยื่นคำขอตามแบบ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษนี้ เพื่อต้องการนำนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเดินทางเข้ามาในประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปไม่สามารถเดินทางได้ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว แต่เนื่องจากประเทศไทยสามารถบริหารจัดการ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจนได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับ 1 ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้คนต่างด้าวที่เรียกว่ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีศักยภาพจากทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการเดินทางเข้ามาพร้อม ครอบครัวเพื่อมาพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศขาดรายได้และได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย ในพื้นที่ปิดที่สามารถควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้


“เครือเซ็นทรัล” ชี้ผลดีบนเงื่อนไขที่รัดกุม

ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการ STV ว่า การเริ่มที่เฉพาะกลุ่มซึ่งมีกำลังซื้อและจำนวนนักท่องเที่ยวระยะแรก 100-300 คนต่อสัปดาห์ บนเงื่อนไขที่รัดกุม ถึงแม้จะจำนวนไม่มากนักถ้าเทียบทั้งอุตสาหกรรม แต่เป็นการทดสอบระบบ หากผ่านก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการมีมาตรการที่รัดกุมอย่างเช่น มีการขอ COE (Certificate of Entry) แล้วจึงออก STV ตามเงื่อนไข โดยมีการแสดงหลักฐานการชำระเงินกับ ASQ หรือ ALSQ การที่จะต้องถูกกักตัว 14 วัน จนแน่ใจแล้วค่อยให้ออกไปเที่ยวพร้อมมี App ติดตามตัว ก็น่าจะ okay รายได้ที่คาดไว้ 1,200 ล้านบาท ต่อ 1,200 คนต่อเดือน ตกคนละ 1 ล้านก็ไม่เลว 

มาตรการนี้น่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง เพราะใน supply chain หรือ value chain ของ campaign นี้จะได้รับประโยชน์ เช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่นสายการบิน สนามบิน หรือกลุ่มที่พักกลุ่มบริการ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล Logistics และเมื่อพ้น 14 วัน สามารถออกไปท่องเที่ยวนอก ASQ หรือ ALSQ ร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจชุมชนตามสถานที่ท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์และรายได้ สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับ Credit Card อัตราแลกเปลี่ยน และ supply chain ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งในด้านการผลิต และบริการดังกล่าวด้วย กระตุ้นให้มีการผลิตสินค้าและบริการตามมาได้ระดับหนึ่ง


ความเข้มงวดของมาตรการเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นหลักปฏิบัติในช่วงนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในระหว่างที่ยังรอวัคซีน เพราะมีบทเรียนจากประเทศก่อนหน้าที่มีการทำ Travel Bubble แล้ว ต้องมา Lockdown กันใหม่

กลุ่มลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นพวกเข้ามาพักนาน หรือลองสเตย์ (Long stay) มีกำลังซื้อ หากมาไทยซึ่งมีระบบสาธารณสุขที่ดี จะเกิดความมั่นใจกว่า ผู้มีฐานะต่างอยากมาใช้ชีวิตในไทย เพราะค่าครองชีพถูก อาหารก็อร่อย สถานที่ท่องเที่ยวสวยงามหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ดร.รณชิตย้ำว่า สิ่งที่เป็นกังวลหรืออุปสรรค คือ ขั้นตอนการออก COE และ STA ตลอดจนการอนุมัติโรงรมที่จะเข้าร่วมโครงการ หากชักช้าจะทำให้ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยว และทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หันไปท่องเที่ยวประเทศอื่นแทน เพราะทุกประเทศต่างก็ต้องการรายได้ในส่วนนี้

สำหรับในส่วนของเซนทารา ก็ได้มีการเตรียมตัวในการรองรับมาตรการนี้ไว้บ้างแล้วและได้ศึกษาเรื่องนี้มาระยะหนึ่งโดยร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลธนบุรี หรือโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.รณชิตยังมีข้อเสนอแนะด้วยว่า ผมคิดว่ารัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของการท่องเที่ยว และพยายามที่จะมีแคมเปญต่างๆ ออกมา เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งภายในภายนอก โดยการเพิ่มวันหยุดยาว ปันงบประมาณสนับสนุน ให้ส่วนลด เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น ในไตรมาส 4 ซึ่งปกติเป็นไฮซีซันปีนี้คงมีปัญหา นอกจากวันหยุดยาว โครงการเราเที่ยวด้วยกัน (ซึ่งผลตอบรับยังไม่ดีเท่าที่ควร) น่าจะมีแคมเปญใหม่ๆ และกระตุ้นให้ราชการ หน่วยงานภาครัฐซึ่งมีกำลังซื้อ น่าจะประชุมสัมมนา เดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

“สิ่งที่ผู้ประกอบการประสบอยู่ คือ สภาพคล่องเนื่องจากรายได้น้อย ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ขาดทุนเงินทุนหมุนเวียนไม่พอ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก รัฐบาลน่าจจัด soft loan ดอกเบี้ยถูก ระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป เพื่อให้ผู้ประกอบการผ่านพ้นวิกฤตไปได้ก่อน”


“ดุสิตธานี” เชื่อกระตุ้นท่องเที่ยวได้

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมติของ ครม.ที่อนุมัติหลักการ แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ว่านับเป็นเจตนาที่ดีของทางภาครัฐที่จะหาหนทางกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศมีการขับเคลื่อนจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน การหมุนเวียนและกระจายรายได้ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป

กลุ่มดุสิตธานีในฐานะผู้ประกอบการก็รู้สึกขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวฯ หรือหน่วยงานทางด้านการท่องเที่ยวต่าง ที่ทำงานอย่างหนักในการจัดเตรียมมาตรการกำกับดูแล ติดตามและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ อย่างเข้มข้นและเข้มงวด ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดและขั้นตอนพอสมควรแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม ส่วนตัวมองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเข้าใจ และยิ่งน่าจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นด้วย 

ที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีได้มีการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัย ให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยว “วิถีใหม่” แล้ว และยังได้เลือกบางโรงแรมเข้ารับการตรวจสอบมาตรฐานเพื่อเป็นโรงแรมกักตัวทางเลือก (ASQ) เช่นที่ ดุสิต ปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ และยินดีให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามแนวทางที่ภาครัฐจะออกมาอย่างเต็มที่ 

ทั้งนี้ มองว่ามีความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ให้ความสนใจที่จะเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ด้วยความมั่นใจในการดูแลและการเข้าถึงทางด้านธารณสุขของไทยที่ดีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ความประทับใจในความมีน้ำใจของคนไทย มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวพักผ่อนก็สมเหตุผล ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงปลายปี ที่ภูมิอากาศทางฝั่งตะวันตกจะหนาวเย็น จะมีนักท่องเที่ยวที่อยากหนีหนาวมาพักผ่อนในไทยที่มีอากาศอบอุ่นสบายกว่า

“ถ้าโครงการนี้สำเร็จ น่าจะถือเป็นโอกาสในการทดสอบความพร้อมทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ความพร้อมของผู้ประกอบการ ความเข้าใจของประชาชนที่จะช่วยให้เราค่อยๆ เปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน กระจายสู่ประชาชนโดยรวมในทุกระดับชั้นได้เป็นอย่างดี” นางศุภจีกล่าว


STV ความหวังที่เริ่มต้น

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวทางดังกล่าวนับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ปัจจุบันภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและแรงงานกำลังเผชิญกับปัญหาอย่างหนักจากรายได้ที่หดหายไป (การระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสจากการใช้จ่ายของชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 นี้ เป็นมูลค่าประมาณ 7.87 แสนล้านบาท)

แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในแต่ละเดือนยังจำกัด แต่ก็ช่วยให้เกิดกิจกรรมหมุนเวียนในธุรกิจท่องเที่ยวได้บ้าง เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามรายละเอียดข้อกำหนด หลักการปฏิบัติและการกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการวางแผนเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน 

สำหรับโครงการ STV ล่าสุดนี้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดิน ทางเข้ามาท่องเที่ยวอาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 และหากในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาตามเป้าหมายก็อาจจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาท ซึ่งประมาณการภายใต้สมมติฐานที่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความพร้อมของทางการ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะเดินทางเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป

ทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในระยะข้างหน้ายังมีข้อจำกัดสูง แม้ว่าทางการไทยจะมีแนวทางผ่อนคลายการกับชาวต่างชาติแต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องคำนึง อย่างประเด็นการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ในหลายประเทศยังไม่คลี่คลาย เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย อินเดีย และบราซิล ขณะที่ประเทศที่การระบาดลดลงไปก่อนหน้าก็กลับมาพบผู้ติดเชื้ อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น เช่น สเปน เป็นต้น ทำให้นักท่องเที่ยวยังมีความกังวลที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้

นอกจากนี้ การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในสภาวะ New Normal ที่ยังมีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามอีกมาก เช่น ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น การที่ต้องกักตัว 14 วัน และรายได้ลดลง

จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยยังคงมีจำนวนจำกัด ทำให้ทั้งปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.72 ล้านคน (จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยมีจำนวนประมาณ 6.69 ล้านคน)


เปิดประเทศ ห่วงเชื้อเข้ามาด้วย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลมีแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนตุลาคมนี้ ว่า หากเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามา จะทำให้ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีสูงขึ้นแน่นอน เนื่องจากต่างประเทศทั่วโลกมีการระบาดที่รุนแรงกว่าประเทศไทย หากดูจำนวนตัวเลขวันนี้ (17 ก.ย.) อยู่ที่เกือบ 30 ล้านคน อีกทั้งอัตราการติดเชื้อไวขึ้นกว่าช่วงเดือนมีนาคมถึง 9 เท่า อัตราความเร็วคือ 3.5 วัน ซึ่งถือว่าไวมาก

ขณะที่ประเทศไทยตอนยังไม่เปิดประเทศ มีอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 0.5% ถือว่ามีจำนวนต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ หากเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาไม่ว่าจะมาจากประเทศอะไรความเสี่ยงย่อมมากขึ้นที่จะเกิดการติดเชื้อได้

“ททท.” คาดสร้างรายได้เดือนละพันล้าน

น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากมาตรการของ STV หรือนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษพำนักระยะยาวนั้น คาดว่าจะสร้างรายได้ในระดับหนึ่ง โดยประเมินจาก ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ประมาณ 100 คน/เที่ยวบิน สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 1,200 คน/เดือน หรือ 14,400 คน/ปี มีรายได้ 1,030.732 ล้านบาทต่อเดือน และ 12,368.79 ล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษพำนักระยะยาว รวมต่อคนต่อทริปอยู่ที่ 858,944 บาท เฉลี่ยต่อคนต่อวัน 14,316 บาท

การเปิด STV นี้ก็เสมือนเป็นหัวหอกแรกในการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็คงจะเป็นการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาตให้เข้ามาไทยได้บ้าง แม้ว่าจะยังไม่สามารถกระเตื้องกลับไปถึงขั้นเดิมก็ตาม 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยเกี่ยวกับรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปี 2563 นี้ โดยประเมินว่า มีแนวโน้มหดตัวถึง 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 70% เหลือเพียง 9.1 แสนล้านบาท เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวจาก 39 ล้านคน เหลือเพียง 6.8 ล้านคน ส่วนในปี 2564 ประเมินว่าการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ที่ 7.6 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเล็กน้อย มาอยู่ที่ 1.24 ล้านล้านบาท ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดถึง 59%




กำลังโหลดความคิดเห็น