xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมประเทศในมือส.ว.

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการลงประชามติ เพราะไม่เห็นด้วยที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนให้คณะรัฐประหารสามารถสืบทอดอำนาจด้วยเสียงของ ส.ว.แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติมาแล้ว ผมก็ไม่เห็นด้วยเพราะมีความเชื่อว่า เสียงข้างมากไม่สามารถโหวตให้เรื่องที่ไม่ถูกต้องกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องไปได้

เราไม่สามารถโหวตให้คนที่ฆ่าคนตายเป็นคนที่ไม่มีความผิดได้ เราไม่สามารถโหวตให้ 2 บวก 2 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 4 กลายเป็น 5 ได้ หรือถ้ามีคนโหวตให้ผลออกมาอย่างนั้นด้วยเสียงข้างมาก ก็ไม่สามารถทำให้ผลลัพธ์ที่ผิดกลายเป็นถูกได้อย่างน้อยในจิตใต้สำนึกถูกต้องดีงามของความเป็นมนุษย์

ผมจึงเห็นด้วยที่ผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญยุบสภาฯ และเลือกตั้งกันใหม่ ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัดเสียง ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป และมองว่า การแก้กติกาให้เป็นธรรม แล้วกลับไปเลือกตั้งกันใหม่จะเป็นทางออกของวิกฤตในบ้านเรา พรรคไหนชนะได้เสียงข้างมากพรรคนั้นก็เป็นรัฐบาลไป

เท่าที่ฟังดูตอนนี้มี ส.ว.ทั้งที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่ปัญหาของการแก้รัฐธรรมนูญก็คือ ต้องใช้เสียง ส.ว.ถึง 84 เสียงถึงจะแก้ได้ ดังนั้นหลายคนจึงมองว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะให้ ส.ว.ออกเสียงเพื่อตัดสิทธิของตัวเอง

แต่ผมอยากชวนคิดว่า ส.ว.จะต้องตระหนักให้ได้ว่า ถ้าเราอยู่ในโลกเราย่อมจะแสวงหาความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ความเสมอภาค อยู่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม และอยู่บนความยุติธรรม ถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้วโลกก็จะมีความวุ่นวายแน่นอนสุดท้ายจะต้องใช้กำลังเข้าตัดสินกัน ดังนั้น ส.ว.ทุกคนต้องคิดให้ได้ว่า วันนี้เราเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งหรือไม่ เป็นต้นเหตุของความไม่ยุติธรรมหรือไม่

ผมไม่ได้หมายความว่า ส.ว.กำลังกระทำในสิ่งที่ผิด แน่นอนที่มาของ ส.ว.และอำนาจที่มีอยู่นั้นเป็นอำนาจที่มาตามกฎหมายเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

แต่ต้องไม่ลืมว่า เพราะที่มาจาก คสช.นั้นทำให้กลายเป็นพันธสัญญาว่า เราจะต้องโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพร้อมเพรียงกันไม่แตกแถวแม้แต่คนเดียว มันไม่ใช่วิถีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่วิถีที่แยกแยะดีชั่ว ไม่ได้ใช้การพิจารณาถึงความเหมาะสม แต่เป็นข้อตกลงที่บีบบังคับให้ต้องตัดสินใจอย่างนี้ไปในทางเดียวกันทั้งหมด

เท่ากับยังไม่รู้ผลการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คนเลย เพียงแค่เปิดตัวลงสมัครในฐานะนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ก็มีเสียงเหนือผู้อื่นอยู่ในมือแล้วถึง 250 เสียง

กติกาแบบนี้ไม่ใช่เพียงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นกติกาที่ยุติธรรม แต่มันเรียกได้ด้วยว่า เป็นกติกาที่เห็นคุณค่าของมนุษย์ไม่เท่ากัน เพราะประชาชนทุกคนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถตัดสินใจเลือกได้เพียงคนเดียว แต่มีคนคนหนึ่งสามารถเลือกคน 250 คนมาเพื่อให้เลือกตัวเองกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก

แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาก็เห็นแล้วว่า มันยิ่งทำให้บ้านเมืองของเราอยู่กับความขัดแย้งยิ่งขึ้น การพยายามชวนเชื่อว่า รัฐบาล คสช.เป็นรัฐบาลที่ทำให้บ้านเมืองสงบนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง เพราะเราเห็นแล้วว่าสุดท้าย เมื่อทหารถอยกลับไปอยู่ในกองทัพ ปืนที่กดประชาชนเอาไว้หายไป ความขัดแย้งก็ยิ่งทวีคูณขึ้นมาอีก และมันกำลังบานปลายเป็นความขัดแย้งไปสู่สถาบันหลักของชาติด้วยซ้ำไป

สภาพที่เห็นอยู่ในบ้านเมืองทุกวันนี้ การเกิดขึ้นของการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทั่วประเทศหนักขึ้นรุนแรงขึ้นและกำลังบานปลายไปอย่างไม่คาดฝัน มันเป็นคำตอบอยู่แล้วว่า ความสงบจบที่ลุงตู่อย่างที่ชวนเชื่อกันหรือไม่

เพราะคนอีกฝั่งหนึ่งเขาเชื่อว่า อำนาจรัฐภายใต้รัฐบาลสืบทอดอำนาจจากกติกาที่ไม่เป็นธรรมนั้น มันเชื่อมโยงทับซ้อนอยู่กับความมั่นคงและสถาบันอื่นในประเทศ เมื่อเขาต้องการอำนาจรัฐและโค่นล้มรัฐบาล เขาจึงปลุกระดมความเชื่อที่ซ่อนอยู่ข้างหลังจนเขาเชื่อว่า ถ้าผลักให้รัฐบาลล้มครืนลงได้ เขาสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประเทศได้

ความเชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งต่างๆ ของมนุษย์นั้น ย่อมมีความแตกต่างกันเสมอ ความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองก็แตกต่างกัน แต่แน่นอนว่า เรามีอุดมการณ์ของรัฐ รูปแบบของรัฐที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ความคิดความเชื่อทางการเมืองของเราจึงมีกรอบที่ขีดให้เดิน ถ้าใครจะเปลี่ยนแปลงระบอบของรัฐก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย และถ้าจะเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จก็ต้องยึดอำนาจรัฐมาให้ได้เพื่อเป็นรัฏฐาธิปัตย์เสียเอง ที่ผ่านมาเมื่อบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายก็มีทหารเท่านั้นที่ทำได้เพราะมีอาวุธนั่นเอง

แม้แต่การรัฐประหาร 2475 ก็ต้องยึดอำนาจด้วยกำลังทหารและอาวุธ ถ้ารอให้เกิดเหตุการณ์ประชาชนจับอาวุธลุกขึ้นสู้ (people up-rising) เพื่อให้เป็นการปฏิวัติประชาชน (people revolution) นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากในภาวะที่ประชาชนแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย แล้วผู้มีอำนาจได้ประโยชน์จากการแบ่งแยกแล้วปกครองในเวลานี้ แต่สภาพเช่นนี้มีแต่ทำให้บ้านเมืองบอบช้ำและส่งผลต่อชีวิตของเราทุกคนในที่สุด

การพยายามเอาเหตุการณ์ในอดีตมาอธิบายเช่น ส.ว.ที่กลายเป็นสภาผัวเมีย หรือการเมืองในอดีตเคยเป็นเผด็จการรัฐสภา หรือสภาทาสนั้นไม่ใช่เหตุผลที่จะมาอธิบายที่มาของ ส.ว.ปัจจุบันให้เกิดภาพที่ดีงามหรือเกิดความชอบธรรมขึ้นได้ เพราะเหมือนเอาเรื่องที่ไม่ถูกต้องมาอธิบายเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

ส.ว.ต้องตระหนักว่าตอนนี้ภารกิจในการหาทางออกให้กับประเทศชาติ ให้ออกจากวิกฤตความขัดแย้งอย่างน้อยในเบื้องต้นนั้นตกอยู่ในมือของ ส.ว. 250 คน เราจะเลือกการยึดมั่นอยู่ในอำนาจท่ามกลางความขัดแย้งหรือจะพาประเทศออกจากความขัดแย้งแต่ต้องแลกด้วยผลประโยชน์ของเราเอง

แน่นอนว่า ความขัดแย้งในบ้านเรานั้นมาจากการชิงอำนาจกันของฝ่ายปกครองโดยเอาประชาชนที่มีความแตกแยกกันเป็นเครื่องมือ แม้วันนี้จะเปลี่ยนจากความขัดแย้งของคนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองของฝ่ายที่เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ มาเป็นการลุกขึ้นสู้ของเยาวชนคนหนุ่มสาวนักเรียน นักศึกษา แต่เบื้องหลังของการชุมนุมมีเรื่องของขั้วอำนาจทางการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนนั่นเอง

เราอาจพูดว่า เมื่อรู้อยู่ว่า เบื้องหลังของการชุมนุมคือ การแย่งชิงประโยชน์ทางการเมืองของอีกขั้วอำนาจ ดังนั้นเราต้องแข็งขืนและต่อต้านอย่างสุดฤทธิ์ แต่คิดไหมว่านั่นก็ยิ่งจะทำให้ประเทศบอบช้ำ ถ้าถามว่าแล้วทำอย่างไรคำตอบของผมก็เหมือนที่กล่าวมาข้างต้นว่า เราทำกติกาให้เป็นธรรม แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วกลับมาเลือกตั้งกันใหม่

ไม่ต้องกังวลว่าใครจะชนะเพราะสุดท้ายแล้วในระบอบประชาธิปไตยอำนาจของประชาชนย่อมเป็นใหญ่ หากใครเข้ามาใช้อำนาจแล้ว กลับใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลก็เป็นความชอบธรรมของประชาชนอยู่แล้วที่เราจะลุกขึ้นมาขับไล่ เหมือนเช่นที่เราเคยขับไล่ระบอบทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พยายามใช้เสียงข้างมากแก้ผิดให้เป็นถูก

ทุกวันนี้เราย่อมจะต้องมองเห็นอยู่แล้วว่า ความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองนั้น นอกจากทำให้ประชาชนเกิดความขัดแย้งกันแล้ว วิกฤตกำลังลุกลามไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะมีคนที่กล้าออกมาท้าทายมากขึ้น

ผมจึงเชื่อว่า ส.ว.นี่แหละที่เป็นคำตอบสุดท้ายว่า จะยอมลดอำนาจเพื่อพาประเทศออกจากวิกฤตหรือไม่

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น