xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การทูตวัคซีนโควิด

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



ย่างเข้าเดือนที่ 9 แล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยุติลงได้เมื่อไร หลายๆ ประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 2 ถึงแม้ว่าจะอยู่ในวงจำกัด และสามารถรับมือได้ดีกว่าระลอกแรก แต่ก็เป็นสัญญาณว่า ไวรัสโควิดยังอยู่ เมื่อเงื่อนไขภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวย ก็พร้อมจะโจมตีมนุษย์ที่อ่อนแอได้ตลอดเวลา

วันที่ 14 กันยายน ที่อังกฤษเป็นวันแรกที่มีการบังคับใช้มาตรการห้ามรวมตัวกันเกิน 6 คน หลังจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 17-29 ปี และยุโรปอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอีกรอบหนึ่ง เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาวกำลังมาเยือน

รอบบ้านเราชายแดนด้านตะวันตก โควิด-19 เดินทางจากอินเดีย บังกลาเทศ จู่โจมเข้าเมียนมาร์ถึงกรุงย่างกุ้งแล้ว และมีโอกาสสูงที่จะข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทย พร้อมกับผู้หลบหนีเข้าเมือง

ความหวังเดียวคือ วัคซีน องค์การอนามัยโลกบอกว่า ตอนนี้มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิค-19 ประมาณ 180 ตัว แต่ยังไม่มีตัวไหนผ่านการทดสอบทางคลินิกอย่างสมบูรณ์ และไม่คิดว่า จะมีวัคซีนตัวไหนได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงว่า เขาหวังว่า สหรัฐฯ จะมีวัคซีนใช้ก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดี หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน บริษัทที่กำลังคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี 9 ราย ลงนามร่วมกันในข้อตกลงว่า จะรักษามาตรฐานทางวิทยาศาสตร์และจริยธรรมในการพัฒนาวัคซีน

นอกจากนั้น ผู้บริหารระดับสูง 8 คน ของสำนักงานอาหารและยา สหรัฐฯ เผยแพร่บทความผ่านสื่อว่า พวกเขาจะไม่ยอมให้การเมืองมีอิทธิพลต่อกระบวนการประเมินความปลอดภัยของวัคซีน

ขณะนี้ มีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลอง 6 ตัวที่มีความเป็นไปได้สูงว่า จะพิชิตไวรัสโควิดได้ 3 ตัวเป็นของชาติตะวันตก คือ โมเดอร์นาของสหรัฐฯ ไบโอเอนเทค บริษัทไบโอเทค เยอรมนีที่ร่วมมือกับไฟเซอร์ของอเมริกา แอสตราเซเนกา บริษัทสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

อีก 3 ตัว เป็นวัคซีนจีน คือ วัคซีนทดลองของบริษัทซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นของรัฐบาล 2 ตัว และของซิโนแวค ไบโอเทค ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน 1 ตัว

ส่วนวัคซีนสปุตนิก 5 ของรัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดีปูติน ประกาศเมื่อกลางเดือนที่แล้วว่า เป็นวัคซีนตัวแรกของโลกที่ต้านไวรัสโควิดได้ และรับรองความปลอดภัย โดยอ้างว่า ลูกสาวตัวเองก็ได้รับวัคซีนนี้แล้ว ถูกมองว่า เป็นโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า เพราะจู่ๆ สปุตนิก 5 ก็โผล่ขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีข่าวการคิดค้นวัคซีนของรัสเซียแล้ว และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการทดลองกับคนในระยะที่ 2 และ 3

สำหรับจีนได้มีการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ผ่านการทดลองกับคนในขั้นที่ 3 ให้กับคนในกลุ่มจำกัดไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลจีนอนุมัติการฉีดวัคซีน ในเงื่อนไข “ฉุกเฉิน” คือ ฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ บุคลากรทางสาธารณสุขที่เป็นแนวหน้าในการควบคุมการระบาด เจ้าหน้าที่ตามชายแดนประเทศ ผู้สื่อข่าว และคนงานที่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จีนไปร่วมลงทุน หรือบริษัทจีนเป็นผู้ก่อสร้าง

จีนอ้างว่า ถึงแม้วัคซีนทั้ง 3 ตัวยังไม่ผ่านการทดลองกับคนในขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นการทดลองขั้นสุดท้ายเพื่อดูว่า ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนหลักพันถึงหมื่นคน แต่เท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่าคนหลายหมื่นคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วมีอาการข้างเคียง แต่พบว่า คนงานจีนที่ได้วัคซีนไปทำงานในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ไม่มีการติดเชื้อเลยในช่วงที่ผ่านมา

วัคซีนต้านโควิด นอกจากจะเป็นความหวังเดียวที่จะหยุดยั้งการระบาดแล้ว ยังเป็น เครื่องมือในทางการเมือง และการทูตของมหาอำนาจด้วย

ทรัมป์ ต้องการให้สหรัฐฯ มีวัคซีนก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดี รัสเซียประกาศความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนก่อนชาติใดๆ ในโลก จีนสัญญาว่า จะมอบวัคซีนต้านโควิดให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับคนอเมริกันก่อน หลังจากนั้น จึงจะจำหน่ายวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้สั่งจองวัคซีนที่ยังอยู่ระหว่างการทดลองหลายร้อยล้านโดส ทั้งจากผู้ผลิตในประเทศ และผู้ผลิตของเยอรมนี และอังกฤษ

ตรงข้ามกับจีน ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศต่อที่ประชุมประจำปีทางไกล ของสมัชชาอนามัยโลก เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เมื่อจีนพัฒนาวัคซีนต้านโควิดสำเร็จแล้ว ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนนี้ได้ในราคาต้นทุน และวัคซีนนี้ ถือว่า เป็นสมบัติของมนุษยชาติ

ในการประชุมผู้นำประเทศกลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง เมื่อปลายเดือนสิงหาคม หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวกับที่ประชุมว่า สมาชิก 5 ประเทศของกลุ่มคือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และไทย จะเข้าถึงวัคซีนของจีน

เช่นเดียวกับการรับปากกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่สหรัฐฯ กับจีนกำลังยื้อแย่งให้มาเป็นพวก โดยเฉพาะ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีน เรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้

นี่คือมิติด้านการทูตของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่จีนนำใช้สร้างภาพลักษณ์ ความเป็นผู้นำของโลกในการสู้กับไวรัสโควิด และซื้อใจประเทศที่เป็นผลประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ของจีน โดยที่ยังไม่ชัดเจนว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิดจะใช้ได้เมื่อไร และหากว่าใช้ได้โดยปลอดภัยแล้ว แต่ละประเทศที่จีนไปรับปากไว้ จะได้รับวัคซีนเมื่อไร พร้อมกับคนจีน หรือว่าต้องรอให้คนจีน 1.2 พันล้านคนได้รับวัคซีนก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น