xs
xsm
sm
md
lg

มหาโรคระบาดโควิด-19 จากพม่าถึงไทย เมื่อเขาไม่พร้อมแล้วเราพร้อมสักแค่ไหน?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา


ผมอ่านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศพม่า ซึ่งวิเคราะห์และประมวลข้อมูลโดยศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นข้อมูล ณ ณ วันที่ 3 กันยายน 2563 แล้วทำให้เกิดความรู้สึกสองประการ

ประการแรก ทำให้ผมยิ่งมั่นใจว่าบทความที่ผมเพิ่งเขียนไปคือ ตำรวจตระเวนชายแดนคือเกราะป้องกันสงครามมหาโรคระบาดโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด https://mgronline.com/daily/detail/9630000090349 จะเป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน

ตำรวจตระเวนชายแดนจะมีความสำคัญยิ่งสำหรับ COVID-19 Second Outbreak ในครั้งนี้น่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างรวดเร็วมาก

แต่ผมเพิ่งได้รับทราบมาว่า ตชด. เป็นตำรวจที่น่าสงสารมาก เพราะทำงานชายแดน จะไปรีดไถใครหรือแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบแบบตำรวจในเมืองก็ทำแทบไม่ได้ ภารกิจงานก็หนัก แต่ได้งบประมาณน้อยนิด และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะครูโรงเรียน ตชด. หรือ ครู ตชด. นั้น เป็นแค่พลตำรวจ ซึ่งขาดแคลนสวัสดิการและไม่ได้รับการดูแลที่ดีนัก มีเงินเดือนอันน้อยนิด ทำงานหนักในถิ่นทุรกันดารด้วยความเสียสละ ผมได้รับทราบสภาพปัญหาว่า ตชด. อยู่กันอย่างอัตคัตและยากลำบาก แม้กระทั่งยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เก่าคร่ำคร่า ล้าสมัย ไม่เพียงพอ ทำให้ผมเกิดความกังวลเช่นกันว่า ในสภาพเช่นนี้ แต่ภารกิจอันหนักอึ้งในการดูแลชายแดนไทยเพื่อป้องกันการระบาดอันยิ่งใหญ่ตลอดพรมแดนอันยาวไกลหลายพันกิโลเมตรและมีช่องทางธรรมชาติมากมายเช่นนั้น จะเป็นงานยากลำบากมากเพียงใด

ผมหวังว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะให้ความสำคัญกับ ตชด. มากขึ้น และหวังว่ารัฐบาลจะดูแล ตชด. โดยสนับสนุนทรัพยากร กำลังพล งบประมาณเพื่อสู้ศึกโควิด-19 ครั้งนี้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ประการที่สอง ผมนึกถึงโรงพยาบาลชุมชน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่รักษาประชาชนตามชายแดน คนที่ผมนึกถึงมากที่สุดคือคุณหมอวรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก เพราะเคยได้สนทนาด้วย เคยได้รับรู้และเคยได้ยินว่ามีความเสียสละทุ่มเท และเป็นแพทย์ชนบทที่แท้จริง ไม่ใช่แพทย์อ้างชนบทที่อ้างชนบทเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์และพวกพ้อง (อย่างพวกชมรมแพทย์บางชมรม )

พี่หมอวรวิทย์ กล่าวว่า โรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเชื้อชาติ ใครเจ็บป่วยมาก็ต้องรักษาทั้งหมด หากไม่รักษาเขา โรคระบาดก็จะลุกลามมาที่ประชาชนของเรา โดยปกติไม่มีเหตุการณ์อะไรหรือไม่มีมหาโรคระบาด คนทางฝั่งพม่าก็แบกหามกันบนตะแคร่บนเปล ร่อแร่ข้ามภูเขาสูง ข้ามลำน้ำมารักษาที่ฝั่งไทยอยู่แล้ว ที่โรงพยาบาลอุ้มผางก็รักษาทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะมีเงินรักษาหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะไม่จ่ายเงินให้ พี่หมอวรวิทย์และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขโรงพยาบาลอุ้มผางก็รักษาให้ด้วยความเต็มใจ ยินดี หาเงิน ประหยัดเงิน เสียสละทำงานที่ชายแดน เป็นนักรบชายแดนที่ทำให้โรคระบาดต่างๆ จากอีกฝั่งของแผ่นดินไม่ลุกลามระบาดเข้ามาประเทศไทย พี่หมอวรวิทย์ขอรับบริจาคยาที่ยังไม่หมดอายุ สิ่งของ และสิ่งต่างๆ จากในเมืองที่ใช้กันไม่คุ้มค่าไปรักษาคนไข้ชายขอบเหล่านี้ ด้วยจรรยาแพทย์และมนุษยธรรมเมตตา ที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง


Second outbreak โควิด-19 ฝั่งพม่าที่ลุกลามระบาดอย่างรุนแรงในเวลานี้ ก็คงมีการหามคนไข้พม่า กะเหรี่ยง ข้ามภูเขา ข้ามแผ่นน้ำ ข้ามแผ่นดิน เข้ามาเพื่อหวังจะมีชีวิตรอดเมื่อถึงมือแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลชุมชนฝั่งตะเข็บชายแดนไทยมากมายมหาศาลแค่ไหน แล้วโรงพยาบาลชุมชนในชายแดนห่างไกลที่ผมได้เคยไปเห็นด้วยตาตนเอง อย่างโรงพยาบาลอุ้มผางจะมีวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ น้ำยาตรวจ ยารักษาโควิด-19 เพียงพอแค่ไหนในการรักษาคนไข้โควิด-19 ที่อาจจะทะลักมาจากฝั่งประเทศพม่ามากมายเหลือเกิน

กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมรับสถานการณ์เหล่านี้แล้วหรือไม่? และหากโรงพยาบาลเล็กๆ อย่างโรงพยาบาลอุ้มผาง หรือแม้แต่โรงพยาบาลใหญ่ริมชายแดน อย่างโรงพยาบาลแม่สอด ไม่สามารถรองรับได้ การระบาดของโควิด-19 จากฝั่งพม่าจะลุกลามเข้าไปสู่ใจกลางของประเทศไทยและจังหวัดอื่นๆ อย่างรวดเร็วหรือไม่ ก็เป็นคำถามที่ผมกังวลเช่นกัน

ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ของพม่าที่ทาง กระทรวง อว. ประมวลมามีดังนี้

หนึ่ง ผู้ติดเชื้อสะสม ณ วันที่ 3 กันยายน 2563 มีจำนวน 1,052 ราย

สอง จำนวนการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 คิดเป็น 3,016 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ณ วันที่ 3 กันยายน 2563 (อันดับที่ 180 ของโลก/เป็นอันดับสุดท้ายของภูมิภาคอาเซียน)

สาม รัฐฉาน (Shan) รัฐกะยา (Kayah) รัฐกะเหรี่ยง (Kayin) รัฐมอญ (Mon) และเขตตะนาวศรี (Tanintharyi) ติดต่อกับ 7 จังหวัดของไทย คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง แผนที่แสดงจำนวนผู้ตรวจและยืนยันว่าติดเชื้อแสดงในรูปด้านล่าง และประชิดชายแดนไทยแล้ว


ที่สำคัญคือ โรคโควิด-19 มีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ (Asymptomatic Patient) ที่ไม่มีอาการอะไรเลย จึงไม่ได้รับการคัดกรองและตรวจเชื้อ ค่อนข้างมาก อย่างน้อยร้อยละ 25-70 ซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน อย่างไรก็ตามสามารถอนุมานได้ทันทีว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหภาพพม่ามากกว่าที่แสดงในแผนที่ด้านล่างนี้ที่ประมวลผลโดย อว. อีกหลายเท่า

สี่ การระบาดรอบสองของโควิด 19 ในพม่าเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว ลุกลามมาจากบังคลาเทศ เข้ามารัฐยะไข่ ลุกลามมาถึงใจกลางกรุงย่างกุ้งแล้ว ขณะนี้กรุงย่างกุ้งที่แสนสวยงาม เงียบ lock down เป็นป่าช้า แม้จะ lock down รัฐยะไข่แล้ว แต่การระบาดก็ยังคงเพิ่มขึ้นแบบ exponential ดัง timeline ด้านล่างนี้




ห้า ประเทศพม่ามีห้องปฏิบัติการทดสอบโควิด-19 ทั้งหมด 7 แห่งทั่วประเทศ ทำการทดสอบได้ราว 1,100-2,000 ตัวอย่างต่อวัน (น้อยกว่าไทยแบบไม่เห็นฝุ่น)

หก Center for Disease Control and Prevention ของประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศเตือนภัยความเสี่ยงระดับ 3 ในประเทศพม่า (เป็นระดับที่สูงมาก) ไทยเราได้ระดับหนึ่ง มีความเสี่ยงต่ำมากในการระบาดของโควิด-19

เจ็ด สหภาพพม่าเองไม่พร้อมในทางการแพทย์และสาธารณสุขเลย ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ไม่มีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอ ไม่มีเตียงไอซียูเพียงพอ หากเกิดมหาโรคระบาด

CDC ระบุให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นทั้งหมดไปยังพม่า และระบุถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของพม่า

แปด พม่าประกาศปิดโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 หลังจากเคยเปิดโรงเรียนกลับมาแล้วหลังจากการระบาดรอบแรกซาลง

เก้า พม่าได้วางแผนป้องกัน ควบคุม ตั้งรับการระบาดโควิด-19 รอบสองดังนี้


ผมคิดว่า พม่า ยังไม่มีความพร้อมในการรับมือกับมหาโรคระบาดโควิด-19 รอบสองเลย และคงมีผลกระทบกับไทยอย่างแน่นอน อย่างน้อยจะมีคนไข้โควิด-19 ทะลักเข้ามาจากฝั่งพม่ามายังโรงพยาบาลตามตะเข็บชายแดนอย่างเลี่ยงไม่ได้ และคงห้ามเข้าไม่ได้เช่นกัน

ขณะนี้ได้ยินข่าวมาว่ามีคนจีนที่ไปค้าขายในพม่าได้ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเมย หนีโรคระบาดโควิด-19 ในพม่าเข้ามายังฝั่งไทยแล้วถูกจับได้ ได้ยินข่าวคนพม่าพยายามหลบหนีเข้าเมืองไทยตามช่องทางธรรมชาติเพื่อให้รอดพ้นจากโรคระบาดโควิด-19 แต่ในทางกลับกันคนพม่าที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไม่ได้ผ่านการคัดกรองเหล่านี้ก็จะเป็นพาหะนำโรคโควิด-19 ให้ระบาดในประเทศไทยเป็นระลอกสองอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน

การวางแผนในการรับมือการระบาดรอบสองนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ และสถานการณ์ที่อาจจะลุกลามเข้ามาจากทางพม่าให้พร้อมด้วย

ขอให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ทุกคน ขอให้ทุกคนปลอดภัย และขอให้พี่น้องชาวไทยจงร่วมมือร่วมใจในการป้องกันมหาโรคระบาดโควิด-19 รอบสองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัย และ Social Distancing


กำลังโหลดความคิดเห็น