ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา
สถานการณ์ในพม่าน่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงจนลุกลามเข้ามาตามชายแดนไทยยาวสองพันสี่ร้อยกิโลเมตร โปรดอ่านได้จากมหาโรคระบาดโควิด-19 จากพม่าถึงไทย เมื่อเขาไม่พร้อมแล้วเราพร้อมสักแค่ไหน? https://mgronline.com/daily/detail/9630000090999 ด้วยเหตุหลายประการดังนี้
ข้อแรก พม่ากับไทยมีพรมแดนที่เดินข้ามไปมาด้วยช่องทางธรรมชาติมากมายเหลือเกิน เดินข้ามเขา ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ หรือเดินข้ามมาเฉย ๆ ผ่านป่ามาอย่างสะดวกโยธินก็ทำได้ มีแรงงานพม่าหลบหนีเข้าเมืองมา ขึ้นรถประจำทางมากรุงเทพ ต่อรถประจำทางไปพัทยา อย่างราบรื่น ไปหางานทำที่พัทยา โดยไม่ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง ไม่ผ่านการคัดกรอง และไม่ผ่านการกักกันโรค แต่อย่างใดเลย นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นมาแล้วมากมาย ดีไม่ดีที่ดีเจติดโควิด-19 จากแถวถนนข้าวสารอาจจะติดจากแรงงานพม่าในผับบาร์ก็ได้ ไม่มีใครรู้แน่นอน
ข้อสอง โดยปกติ คนตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า เป็นญาติพี่น้องกัน และไปมาหาสู่กันระหว่างสองแผ่นดินตลอดเวลา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เด็ก ๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ เป็นชาวไทยใหญ่ แต่มาเรียนหนังสือในเมืองไทย คนไทยใหญ่ ในรัฐฉานจะไม่พอใจ หากมีใครไปบอกว่าเขาเป็นคนพม่า เขาพอใจที่จะบอกว่าตัวเองเป็นคนไทย เคารพนับถือสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และพอใจที่จะให้คนไทยมองว่าเขาเป็นคนไทยมากกว่าเป็นคนพม่า เพราะเขาพูดภาษาไทย ไม่ได้พูดภาษาพม่า ยกตัวอย่าง เชียงตุง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยด้วยซ้ำ
การที่จะขอร้องให้คนอีกฝั่งไม่ข้ามมาฝั่งไทย หากเป็นญาติพี่น้องกัน คงเป็นเรื่องยากเต็มที ต่อให้ทางราชการขอร้อง ยิ่งหากญาติพี่น้องฝั่งพม่าเจ็บป่วยต้องการข้ามมารักษาพยาบาลในฝั่งไทย เป็นเราก็อยากจะให้พี่น้องมารักษาพยาบาลในเมืองไทยมากกว่า และคงยากที่จะให้ความร่วมมือกับทางราชการในการข่าวและการผลักดันออกไปอย่างเดียว
ดังนั้นการผลักดันและการห้ามข้ามชายแดนเพื่อหนีสงครามมหาโรคระบาดโควิด-19 และการเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย แต่ทางเดียวจึงเป็นเรื่องที่ยากมากและเป็นไปไม่ได้
ข้อสาม แม้ในยามปกติ คนพม่าก็ข้ามน้ำข้ามเขา มารักษาพยาบาลในประเทศไทยอยู่แล้ว โรงพยาบาลชายแดนเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของคนพม่ามากเหลือเกิน การเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยตามโรงพยาบาลทั้งเจ็ดแห่งของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ตามชายแดนพม่ามีอยู่เจ็ดแห่งเป็นยอดนิยม แบกหามกันข้ามเข้าเจ็ดลูก ข้ามแม่น้ำเจ็ดสายมากันอย่างยากลำบากก็มากันด้วยความศรัทธา จะไม่รักษาก็ไม่ได้ เป็นเรื่องมนุษยธรรม และเป็นด่านป้องกันโรคระบาดเข้าสู่ใจกลางประเทศไทยด้วย นี่คือด่านหน้าสุดของประเทศไทย เรื่องนี้หมอวรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผางทำงานนี้ด้วยความเสียสละทุ่มเทและน่าศรัทธายิ่ง และผู้อำนวยการโรงพยาบาลอื่น ๆ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขตามชายแดนไทย-พม่าก็ทำงานหนักมากด้วยความเสียสละเช่นกัน
การผลักดันคนพม่าออกไปไม่ให้เข้าไทยนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และขาดมนุษยธรรม หากเกิด COVID-19 Pandemic หรือมหาโรคระบาดโควิด-19 ในฝั่งพม่าแล้ว การยืนยันจะใช้นโยบายแข็งกร้าว โดยการผลักดันออกไปทั้งหมด เป็นเรื่องที่ไม่มีทางได้ผล และยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลง
กลยุทธ์ที่ควรใช้คือ ยันให้อยู่ ดูแลรักษา ช่วยเหลือพม่า ป้องกันโรคระบาดในไทย
การยันให้อยู่ ต้องพยายามข้ามไปช่วยในฝั่งพม่าที่ขาดแคลนและลำบากมากในด้านทรัพยากรทางการแพทย์ ตำรวจตระเวนชายแดนจะเป็นเกราะสำคัญในการยันให้อยู่ โดยต้องใช้ไม้อ่อน สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน จะห้ามไม่ให้ญาติเขาเข้ามารักษาฝั่งไทย อย่างไรเขาก็จะลักลอบเข้ามาให้ได้อยู่ดี โปรดอ่านได้จากตำรวจตระเวนชายแดนคือเกราะป้องกันสงครามมหาโรคระบาดโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด https://mgronline.com/daily/detail/9630000090349 ตชด จะเป็นเกราะป้องกันการระบาดของโรคที่สำคัญที่สุด โรงพยาบาลชายแดนเจ็ดแห่งของกระทรวงสาธารณสุขก็เช่นกัน และมีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่างดังนี้
ประการแรก การตั้ง Camp สำหรับ state quarantine หรือการกักกันโรคบริเวณชายแดนไทย-พม่า สำคัญมาก ต้องมีการตระเตรียมอาคารสถานที่ อาหาร น้ำ ยารักษาโรค หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกัน และบุคลากรให้พร้อมในทุกกองร้อยของตำรวจตระเวนชายแดน ศบค. ต้องเร่งรับขอบริจาคหรือระดมทรัพยากร เต๊นท์ น้ำสะอาด ที่นอน และสิ่งอื่น ๆ ให้พร้อมสรรพ ขอให้นึกถึงเมื่อคราวเขมรแตก แล้วคนเขมรหนีตายสงครามและความอดอยากข้ามมาไทยนับแสนคนที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงงานด้านมนุษยธรรม ช่วยเหลือเขมรหนีตายอพยพเหล่านั้นนับแสนคนด้วยพระองค์เองในฐานะทรงเป็นองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย ไปเรียนรู้สิ่งที่พระองค์ทรงงานไว้เถิดครับ ทำตามรอยพระยุคลบาทและพระราชเสาวนีย์เถิดจะเกิดผล
ประการที่สอง เมื่อเกิดการกักกันโรค 14 หรือ 21 วันก็ตาม กระทรวงแรงงานควรหาทางผ่อนปรน ลงทะเบียนให้คนพม่าที่ผ่านการกักโรคแล้วครบถ้วน ได้ทำงานในประเทศไทย เรากำลังขาดแคลนแรงงานสำหรับงาน 3D หรืองานหนัก (Demanding) งานอันตราย (Dangerous) และงานสกปรก (Dirty) ซึ่งถึงอย่างไรแรงงานไทยก็ไม่ทำ ถ้าเรากักตัวแรงงานพม่าที่ชายแดนจนครบ 14-21 วันแล้ว ต้องหาทางให้เขาเข้ามาทำงานในบ้านเราให้ได้ ซึ่งกรมการจัดหางาน และสำนักปลัดกระทรวงแรงงานก็น่าจะช่วยได้ในเรื่องนี้ ไปเป็นแรงงานตัดและเก็บลำใยก็ได้ หรือแรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่คนไทยไม่ยอมทำงานพวกนี้ก็ได้ หากจะผลักดันกลับจะยิ่งลำบากและคนพม่าก็คงไม่อยากกลับจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพม่าจะควบคุมได้จริงๆ ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร
ประการที่สาม การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการรักษาพยาบาล การตรวจโควิด-19 ต้องจัดสรรและระดมให้เต็มที่สำหรับโรงพยาบาลชายแดน ค่ายทหาร และกองร้อยตชด. ริมชายแดนไทย-พม่า PPE หน้ากากอนามัย ต้องระดมบุคลากรให้พร้อมด้วย
ศูนย์บริหารทรัพยากรโควิด ที่นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ที่ถูกสั่งย้ายระหว่างสอบสวนกรณีการรับเงินบริษัทยา แต่มีแต่ห้องโล่งๆ ไม่มีบุคลากร ไม่มีเงิน ไม่มีทรัพยากรใด ๆ ให้ ดังที่เสนอข่าว https://mgronline.com/qol/detail/9630000077485 อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามไปที่ศูนย์บริหารทรัพยากรโควิด ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบว่าขณะนี้มีคนมาบริจาคหน้ากากอนามัยให้จำนวนห้าแสนชิ้น ที่สามารถขนส่งไปยังโรงพยาบาลชายแดนหรือกองร้อย ตชด. ที่ชายแดนได้ทันที และใครที่คิดจะไปบริจาค PPE หรือหน้ากากอนามัย หรือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือแม้แต่ยา Favipiravir หรือชื่อการค้าว่า Avigan ที่ศูนย์บริหารทรัพยากรโควิด ของกระทรวงสาธารณสุข ที่นายแพทย์ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ดูแลรักษาอยู่ ก็เชื่อได้ว่าคุณหมอจะทำหน้าที่สะพานบุญอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและแผ่นดินไทยได้มากที่สุดเช่นกัน
ศูนย์โลจิสติกส์หรือกรรมการโลจิสติกส์ของ ศบค. ไม่ได้ประชุมกันนานแล้ว น่าจะเรียกประชุมเตรียมตัวทำงานได้ งบประมาณประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่เคยได้รับมาไม่รู้จะยังมีมากน้อยแค่ไหน องค์การเภสัชกรรมก็ต้องเตรียม stock ยาหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ไว้รองรับสถานการณ์ Second outbreak เช่นกัน
ประการที่สี่ หากเป็นไปได้ ควรเจรจากับทางการสหภาพพม่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขไทย เข้าไปตั้งโรงพยาบาลสนามในฝั่งพม่าตามแนวตะเข็บชายแดน เพื่อรักษาโควิด-19 ที่กำลังระบาดในพม่า การกระทำเช่นนี้ น่าจะมีผลดีหลายอย่าง (แต่ต้องให้รัฐบาลพม่าเต็มใจด้วย) อย่างแรก คือ เป็นเรื่องของมนุษยธรรม อย่างที่สอง เป็นเรื่องสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ อย่างที่สาม เป็นการป้องกันการระบาดข้ามมาฝั่งไทย ให้ตรึงไว้ที่ชายแดนฝั่งพม่า ไม่จำเป็นต้องข้ามมารักษาฝั่งไทยก็ได้
ดังนั้น ประเด็นเร่งด่วนสำหรับไทยที่ต้องลงมือทำโดย ศบค. กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข คือ หนึ่ง ตั้งแคมป์สำหรับกักกันโรคหรือ state quarantine ตามกองร้อย ตชค ชายแดนฝั่งไทย สอง หากแรงงานพม่าที่ผ่านการกักกันโรคแล้ว น่าจะจัดหางานให้ทำในฝั่งไทยได้ เพราะการผลักดันกลับในเวลานี้ทำได้ยากมาก ควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส สาม การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการรักษาพยาบาล การตรวจโควิด-19 ต้องจัดสรรและระดมให้เต็มที่ สำหรับชายแดน และ สี่ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในฝั่งพม่า เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองมาฝั่งไทย
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ศบค. อาจจะต้องประสานงานและเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในเวลาไม่เกินสอง-สามสัปดาห์ ซึ่งเรามีเวลาไม่มากนักหากเกิดการระบาดใหญ่ของ โควิด-19 ในสหภาพพม่า และจะส่งผลกระทบกับไทยอย่างรุนแรงอย่างแน่นอน หากไม่ได้ดำเนินการดังที่ได้นำเสนอข้างต้น