xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เหลือกี่บาทแล้ว! เงินสู้โควิดกว่า1ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ออกมาชี้แจงว่าตลอด 3 เดือน (มิ.ย.- ส.ค. 63)ได้อนุมัติ "เงินลงทุน" เพื่อดูแลเศรษฐกิจและสังคม จากภัยโควิด-19 "เฟสแรก" ที่ครม.เห็นชอบตามกรอบงบประมาณในหลักการไปแล้ว 92,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน มิ.ย.63 แบ่งเป็น "สารพัด" โครงการวงเงิน 45,000 ล้านบาท มีโครงการที่ครม.เห็นชอบ "ลงรายละเอียด" แล้วกว่า 43,000 ล้านบาท และเดือนต.ค.นี้ เงินจะเข้าสู่ระบบของแต่ละโครงการเป็นต้นไป

ยังต้องรอการพิจารณาจาก"คณะกรรมการกลั่นกรองฯ และครม." อีกกว่า 47,000 ล้านบาท เช่น โครงการเกษตรแปลงใหญ่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการจ้างนักศึกษา 60,000 อัตรา ในโครงการ1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย และท่องเที่ยวชุมชนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

ขณะที่ โครงการใน "เฟสสอง" จะได้เร่งเสนอต่อครม.ในเดือนต.ค.นี้ วงเงิน 90,000-100,000 ล้านบาท

รายละเอียดใน "เฟสแรก 92,000 ล้านบาท" สภาพัฒน์ ย้ำเป้าหมายต่อรัฐบาลว่า จะสามารถจ้างงานประชาชนทั่วไปได้ 410,415 ราย

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา หลายโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากครม.ไปแล้ว ระบุว่าจะสามารถจ้างงานได้ 112,907 ราย ผ่าน 7 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า 741.58 ล้านบาท ,โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 9,800 ล้านบาท ,โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล 4,700 ล้านบาท, โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน วงเงินไม่เกิน 246.69 ล้านบาท ,โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง วงเงินไม่เกิน 1,080.59 ล้านบาท,โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ วงเงินไม่เกิน 2,701.87 ล้านบาท และโครงการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน 1,014 ล้านบาท

ส่วนในเฟสสอง จะยังคงเน้นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มเติม รวมทั้งจะทำเรื่องของการพัฒนาทักษะแรงงานที่มีอยู่ในระบบให้สูงขึ้นด้วย เพื่อให้คนที่อยู่ในวัยแรงงานมีทักษะที่เหมาะสมกับแนวโน้มโลกในอนาคต ซึ่งโครงการที่รัฐบาลกำลังพิจารณานำเงินที่เหลือมาใช้ เช่น โครงการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 260,000 คน ประมาณ 20,000 ล้านบาท และ โครงการ “คนละครึ่ง”ที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการแจกเงิน 3,000 บาท ให้ผู้รับสิทธิ์ 15 ล้านคน นำไปซื้อสินค้า หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น

"เงินกู้ก้อนที่สอง" จัดสรรให้ด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ขณะนี้ใช้ไป 100 กว่าล้านบาท ยังไม่รวมที่ครม.อนุมัติให้ 1,000 ล้านบาท สำหรับจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด และเงินกู้ ก้อนที่ 3 วงเงิน 400,000 ล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

สภาพัฒน์ ยังย้ำกว่า เงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะถูกแบ่งการเสนอออกเป็น 4 เฟส ผ่านการ "ทยอยอนุมัติ" ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ และยังเป็นการบริหารเงินที่มีอยู่โดยดูจากสถานการณ์ที่จะต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดระยะที่ 2 ด้วย และ หากมีการแพร่ระบาดโควิดรอบ 2 ก็จะยังมีเงินในส่วนนี้ ดูแลเศรษฐกิจอยู่อีกส่วนหนึ่ง แต่หากไม่มีเงินจำนวนนี้ก็จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการที่คิดผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)ได้เพิ่มเติม

นั่นคือ วงเงินที่ใช้ทั้งหมดในเฟสที่ 2 และเฟสต่อๆ ไป ยังคงหลักการเดิมคือ ทยอยอนุมัติงบประมาณเป็นช่วง อาจเป็นคราวละ 1-2 แสนล้านบาท แต่หากไม่มีการแพร่ระบาดสามารถนำวงเงินไปใช้ในแพกเกจอื่นๆ ต่อไป

ทีนี้มาดู "เฟสสอง" ที่เน้นไปที่โครงการขนาดใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะเสนอ ครม.ในเดือนต.ค.นี้มีอะไรบ้าง

วงเงิน 13,500 ล้านบาท กับ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่เตรียมจ้างนักศึกษาตำบลละ 20 คน ใน 3,000 ตำบล อัตราจ้าง 6 หมื่นตำแหน่ง วงเงิน 20,400 ล้านบาท โครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรแปลงใหญ่ เน้นช่วยปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตภาคการเกษตร และเครื่องจักรต่าง ๆ เงินลง 75,000 หมู่บ้าน กองทุนๆ ละ 200,000 บาท โครงการที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหมู่บ้าน "สร้างอาชีพเสริมในชุมชนผ่าน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ (สทบ.) ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์ชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น

แว่วว่า ทั้ง 3 โครงการเบื้องต้น "สภาพัฒน์" หั่นเหี้ยน เหลือวงเงินทั้งหมด ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมใช้งบฯ ผ่าน "กระทรวงแรงงาน" ใน "โครงการ Job Expo 2020"เพื่อสร้างงานให้นักศึกษาจบใหม่ 260,000 ตำแหน่ง ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน "คนละครึ่ง.คอม" ที่หวังส่งเสริมการใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณากลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการให้ใช้เงินในส่วนที่จำเป็น และซื้อสินค้าในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่ แผงลอย คาดว่าสรุปมาตรการได้ชัดเจนในช่วง 1 เดือนข้างหน้า ก่อนเสนอ ครม.ในเดือน ต.ค.ต่อไป

สุดท้าย โครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างงาน (แผนงานที่ 3.2) โครงการจังหวัด “รอบสาม”เดือนส.ค.63 ทีคณะกรรมการฯ พิจารณาเป็นโครงการที่จังหวัดสามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ทันในวันที่ 30 ก.ย.63 นี้ และสามารถขอรับการจัดสรรงบฯได้

ย้อนกลับไปดู โครงการเงินกู้ระดับจังหวัด “รอบแรก”ครม.เห็นชอบ จำนวน 157 โครงการ วงเงิน 884.6250 ล้านบาท ขณะที่ “รอบสอง”เห็นชอบ จำนวน 53 โครงการ วงเงิน 142.3866 ล้านบาท รวม 210 โครงการ วงเงิน 1,027.0116 ล้านบาท

ขณะที่โครงการที่ถูกนำมาพิจารณาใหม่ "รอบสาม" เป็นโครงการที่ 77 จังหวัด เสนอมายังสภาพัฒน์ ทั้งสิ้น 201 โครงการ วงเงิน 1,035,099,971 บาท ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ เห็นชอบ จำนวน 26 โครงการ วงเงิน 209,465,100 บาท

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมอนุมัติงบประมาณเพียง 4 โครงการ วงเงิน 16,260,200 บาท เป็นโครงการของภาคตะวันออก 2 โครงการ วงเงิน 6,876,400 บาท และภาคใต้/ใต้ชายแดน 2 โครงการ วงเงิน 9,383,800 บาท

นอกจากนี้ ยังมีอีก 15 โครงการ วงเงิน 209,465,100 บาท ที่ถูกนำมาพิจารณาในภาพรวมด้วย เช่น โครงการใน จ.นครราชสีมา 1 โครงการ วงเงิน 25,370,000 บาท จ.ชัยภูมิ 4 โครงการ วงเงิน 9,339,300 บาท จ.ยโสธร 1 โครงการ 3,370,000 บาท จ.อ่างทอง 1 โครงการ 3,370,000 บาท จ.สมุทรสาคร 2 โครงการ 14,676,500 บาท จ.จันทบุรี 1 โครงการ 6,276,400 บาท จ.ชุมพร 1 โครงการ 7,960,200 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ ยังแจ้งถึงความคืบหน้าของการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก้อนแรก 550,000 ล้านบาท

พบว่า "เงินเยียวยาประชาชน" ใช้ไปมากที่สุด 344,734 ล้านบาท เบิกจ่ายถึงมือประชาชนรวม 30.51 ล้านราย ประกอบด้วย จ่ายเยียวยาให้กับเกษตรกรรายละ 15,000 บาท รวม 7.526 ล้านราย วงเงิน 114,352 ล้านบาท จ่ายเยียวยากลุ่มอาชีพอิสระ 16 ล้านราย วงเงิน 159,583 ล้านบาท กลุ่มเปราะบาง 6.65 ล้านราย วงเงิน 20,153 ล้านบาท ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งชาติ 1.025 ล้านราย วงเงิน 3,087 ล้านบาท และชดเชยลูกจ้าง 70,000 ราย วงเงิน 109 ล้านบาท

ฉะนั้นเงินกู้ก้อนนี้ 1.1 ล้านล้านบาท จะคงเหลือ 210,265 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลใช้จ่าย หากโควิด-19 เกิดระบาดในรอบสอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น