ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จั่วหัวเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า มี “เทปลับ” และ “ภาพลับ” ที่แสดงความมีอยู่จริงของ “อ๊อด อ๊อด” ซึ่งเป็น “ตัวตั้งตัวตี” ใน “ขบวนการช่วยเหลือบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา” ให้หลุดพ้นจากคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 และนำไปสู่การที่ “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง”
โดยเรื่อง “ลับๆ” ดังกล่าวส่งผลให้คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงชุดที่ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้ง ซึ่งมี “วิชา มหาคุณ” เป็นประธาน เสนอให้กัน “พ.ต.อ.ธ.และรองศาสตราจารย์ ส.” เอาไว้เป็นพยานในการเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยทั้งสองคนคือผู้ที่มี “เทปลับ” และ “ภาพลับ” ยืนยันว่า “อ๊อด อ๊อด” คือ “บิ๊กตำรวจ” ผู้มีส่วนสำคัญเรื่องการเปลี่ยนความเร็วของรถ
และสัปดาห์นี้ รายละเอียดใน “เทปบันทึกเสียงในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว” ก็ปรากฏออกมาสู่สายตาของสาธารณชน ซึ่งนอกจากยืนยันตัวบุคคลในห้องแล้ว ยังระบุเนื้อหาอย่างน้อย 2 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1.การเสนอให้ลงบันทึกคำให้การเป็นวันที่ 26 ก.พ.2559 แทนที่จะเป็นวันที่ 29 ก.พ.2559 และ 2.ปรากฏเสียงของพนักงานอัยการที่คอยให้คำแนะนำเรื่องรูปคดี
อย่างไรก็ดี เรื่องของคดีบอสมิได้สั่นสะเทือนเฉพาะวงการยุติธรรมไทยเท่านั้น หากแต่ยังลามไปถึง “วงการกีฬา” เนื่องด้วยตัวละครสำคัญของเรื่องคือ “เบอร์หนึ่ง” ของสมาคมกีฬาใหญ่ จนมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
“กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน” คอลัมนิสต์กีฬาชื่อดังได้เขียนบทความเรื่อง “อวสานของ ลูกกบ” โดยวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ในบางช่วงบางตอนอย่างน่าสนใจว่า...
“เรื่องที่ หัวขบวน เข้าไปเกี่ยวข้องเต็มๆ กับการช่วยบิดผันคดีที่ลูกชายตระกูลเครื่องดื่มชูกำลังเมาเหล้าเมายาขับรถชนตำรวจตายแล้วหลบหนี โดยทางพ่อแม่ก็พยายามอำพรางคดีอย่างสุดฤทธิ์ เอาจนมีคำสั่งไม่ฟ้อง บางข้อหาหมดอายุความ เกิดความสงสัยในหมู่ประชาชนอย่างแรง จนเกิดมี คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา และเชิญ ลูกกบ ไปให้ข้อมูลนั้น ซึ่งแกก็ยิ้มร่าหลังเข้าให้ข้อมูลพร้อมแสดงหลักฐานว่า ตอนนั้นตนไปต่างประเทศ และที่ไม่ได้รีบออกมาชี้แจงตั้งแต่แรกก็เพราะ อยากรู้ว่าใครคือเพื่อนแท้ที่เข้ามาให้กำลังใจช่วยเหลือ และใครคือคนที่รอซ้ำเติมทำร้าย
“เมื่อได้ฟังการให้ข้อมูลดังกล่าว ผมก็เชื่อในความบริสุทธิ์ แม้จะคิดสงสัยบ้างว่า ถ้าจะมีส่วนบิดผันคดี มันไม่จำเป็นต้องสุมหัววางแผนกันวันนั้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเผยแพร่บทสนทนาจากการถอดข้อความเทปบันทึกเสียง “อัยการ-บิ๊กตำรวจ” ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถเฟอร์รารี่ของลูกชายตระกูลเครื่องดื่มชูกำลัง มันชี้ชัดว่า ลูกกบ เกี่ยวข้องอย่างร้ายกาจทีเดียว
“ยิ่งเมื่อวันก่อนมีข่าวเรื่องเพื่อนร่วมทีมงานของ ลูกกบ ขอลาออกบ้างแล้ว อันนี้ ลูกพี่คงสั่งมาว่า ร่วมงานกับทางนี้ไม่เหมาะเสียแล้ว ทำให้พอมองเห็นความล่มสลายจนอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ใครที่ทำทุจริตอะไรไว้ ตั้งแต่เวลาไหนก็ตาม เมื่อน้ำลด ตอมันก็ผุดโผล่มาให้เห็น ใครก็คงเลือกอยู่เคียงข้างเป็นเพื่อนแท้กันไม่ได้แล้ว ไม่เช่นนั้น สังคม ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร คอลัมน์วันนี้ มีคนแนะให้ผมเขียนเปิดทางก่อน น้องๆสื่อมวลชนคนอื่นๆจะได้ไม่ต้องมัวเกรงใจครับ”
ความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า “เสียงยี้” ได้ขยายวงกว้างออกไป และแม้จะยังมิได้ต้องคำพิพากษาหรือมีความผิดตามกฎหมาย แต่ปัญหาเรื่อง “ความสง่างาม” ในการดำรงตำแหน่ง “นายกฯ สมาคม” ของ “ลูกกบ” หรือ “อ๊อด อ๊อด” กำลังมีปัญหา
ยิ่งเมื่อล้วงลึกลงไปในรายละเอียดของ “บทสนทนา” ดังกล่าว ก็ยิ่งเห็นความโยงใยที่ไม่อาจปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้
บทสนทนาบางช่วงบางตอนบรรยายเอาไว้ดังต่อไปนี้
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : เนื่องจากรถรุ่นนี้ช่วงล่างมันเตี้ย มันไม่สูงมาก มันไม่สามารถมุดพากันไปได้
พล.ต.ต. : งั้นวันที่สอบคือตอบคำถามแรกของท่านอัยการว่าร่องรอยเฉี่ยวชน
พ.ต.อ. ว. คนที่ 1 : ถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญโดยถ้าให้ดูภาพที่พนักงานสอบสวนเอามาให้ดู ทั้งสถานที่เกิดเหตุ ทั้งสภาพความเสียหายของรถ อย่างนี้ ท่านมีความเห็นอย่างไร ก็อาจจะบอกว่าไม่ได้ถูกขูดลากไปตามที่ท่านอัยการสันนิษฐานอย่างนั้น ประเด็นที่สอง การคำนวณหาความเร็วเป็นไปได้หรือไม่ที่จะคำนวณวิธีอื่น ทางธนสิทธิก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ สามารถทำได้ เอาข้อมูลมาต้องทำเป็นเฟรมเป็นเฟรม เดี๋ยวจะเอากลับไปทำ เดี่ยวจะมาตอบว่าที่ทำวิธีทางอื่นมันได้ความเร็วเท่าไร
พล.ต.ต. : หนู รายงานบอกว่าชนท้ายรถจักรยานยนต์เท่านั้นใช่หรือไม่
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : มีรายละเอียดอยู่ในนี้ครับ
พ.ต.อ. ว.คนที่ 1 : ส่วนรายงานตัวนี้ปกปิด พฐ. จะเก็บไว้หรือไม่ครับ
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : เก็บครับ
พล.ต.อ. : ผู้กำกับสอบไปสองชอตว่าตามนั้น สอบอันนี้ไปก่อน อีกอันสอบเพิ่มเติม เอาวันที่ให้มันต่าง จะได้จบ
อัยการ : เอาวันแรกเป็นวันที่ 26 ไปก่อน
พ.ต.อ. ว.คนที่ 1 : ก็ได้ครับ แต่ถามธนสิทธิเค้าก่อน
พล.ต.อ. : ต้องเอาให้เสร็จเลยนะ
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : ผมมาทำงานวันที่ 25 ครับ
อัยการ : ขอสอบ
พ.ต.อ. ว.คนที่ 1 : วันนี้ยังไม่ทันด้วย ธนสิทธิ ยังไม่คำนวณเลย ถ้าให้การวันนี้เลย จะดู
อัยการ : อยากให้ขอให้เป็น 79.22 ตามที่ อาจารย์สายประสิทธิ์คำนวณ
พล.ต.ต. : เราคำนวณตามอาจารย์ได้หรือไม่
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : คำนวณก็อาจจะได้สูงกว่านั้นนิดหน่อย แต่คงสูงถึง 100 กว่า
อัยการ : เปล่า คือ ตามกฎหมายเนี่ย ห้ามขับเกิน 80 อยากจะขอความกรุณาให้มันอยู่ที่ range ตรงนั้น
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : เดี่ยวลองไปดูตัวเลขก่อน
พล.ต.ต. : อาจารย์คิดได้ 79.22
อัยการ : ครับผม
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : ตัวเลขตรงนี้ต้องยอมรับว่า มันมีโอกาสคลาดเคลื่อน ถึงแม้เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย โอกาสที่เราจะคำนวณแล้วไม่ตรงกันก็มีเยอะพอสมควร อย่างเช่นที่อาจารย์คำนวณให้ดู จะเห็นว่าท่านอาจารย์นับ 5 เฟรม 6 เฟรม สมมติถ้าเป็นการนับ อาจารย์ท่านหนึ่งอาจจะเล็งได้ 6 เฟรม อาจารย์อีกท่านเล็งได้ 5 เฟรม 20% แล้วนะฮะ ง่ายๆเลย ตัวเลขที่คลาดเคลื่อน 20% เห็นๆเลย ฉะนั้นในการคำนวณจริง มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงพอสมควร เดี๋ยวๆ คงไปนั่งเล็ง
อัยการ : อันนี้ขอความกรุณาท่านผู้การ คือ ทางอัยการเค้าสั่งมาอย่างนี้ คือ เค้าก็มองว่าเค้าจะช่วยนะ คือก็อยากให้เค้าสบายใจนิดนึง ใช่ไหมฮะ เวลาเค้าจะสั่ง คือที่เค้าสั่งมาเนี่ย เค้าตั้งใจจะช่วยเต็มที่ แล้วก็อยากจะขอความกรุณานะฮะ เรียนตรงๆ เลยฮะ
พล.ต.ต. : อาจารย์เค้ามีวิธีคิดได้ 79.22 เราไปลองดูว่าคิดตามเค้าได้หรือไม่
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : ผมมีความคิดขออนุญาตเสนอ ปกติผมจะใช้วิธีก็คือ ไอ้ 177 เป็นความเร็วสูงที่สุดที่ได้ คำนวณใหม่ได้ความเร็วขั้นต่ำ ถ้าจะไปบอกว่าไอ้ 177 นั่นผิดเสียเลยทีเดียว
พล.ต.อ. : ก็ไม่ต้องบอกว่าผิดสิ เราใช้คำนวณกันคนละแบบ error จากการคำนวณ คำนวณทดแทน
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : ผมก็เลยใช้คำว่า ไอ้ 177 เป็นความเร็วสูงที่สุดที่เป็นไปได้ แต่ลองคำนวณอีกทีได้ความเร็วขั้นต่ำได้ซัก 70 สมมตินะฮะ คำนวณอีกครั้งได้ความเร็วขั้นต่ำ ต่ำสุดมันได้เท่านี้ สูงสุดก็ปล่อยมันไป ตัวเลขเป็นความเร็วขั้นต่ำ
พล.ต.อ. : ถ้าตอบอย่างนั้นไม่เคลียร์นะ
พ.ต.อ. ว.คนที่ 2 : งั้นตัวเลข 177 มันจะค้างอยู่
พล.ต.อ. : เราก็อ้างว่า error จากการคำนวณได้หรือไม่ เหมือนที่อาจารย์เค้าบอก แต่จริงๆ ทุกอย่างเหมือนกันหมด การแทนค่าสูตรแทนการจับประเด็น
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : มีเรื่องระยะที่วัดอาจมีความเคลื่อนได้ เนื่องจากเวลากลางคืนกับกลางวันมันอาจจะมีมุมมองที่ไม่เห็นชัดเจน
พล.ต.อ. : เราไปพูดอย่างนั้นได้หรือไม่ล่ะ จะได้เป็นการ error จากเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ error แต่เป็นการผิดพลาดจากการวัด การคำนวณอะไรอย่างเนี่ย
พ.ต.อ. ว.คนที่ 2 : การคำนวณเนี่ย ในที่สุดคำนวณได้เป็นช่วง ตั้งแต่ 70 – 177
พล.ต.อ. : แต่ช่วง range กว้าง
พ.ต.อ. ว.คนที่ 2 : อันนี้ไม่เป็นไรครับ เราอธิบายได้ว่าช่วงมันกว้างเพราะเนื่องจากภาพไม่ชัด อะไรก็ว่าไป มีแสงรบกวนจนไม่สามารถประมาณได้อย่างแม่นยำ เพื่อประโยชน์ อาจต้องใช้สำนวนซักนิดนึง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เพื่อประโยชน์ให้เลือกใช้ ตัวเลขค่าต่ำ คือแทนที่จะใช้ตัวเลขค่าสูง คือมันมีตัวเลขให้เลือกน้อยสุด 70 มากสุด 177 มันเป็นไปทั้งนั้นแหล่ะ 70 ก็ได้ 71 ก็ได้ 72 ก็ได้ 150 ก็ได้ แต่ความเป็นไปได้ทั้งหมด เราจะไปหยิบตัวเลขสูงมาก็คงไม่เหมาะ ไม่ยุติธรรมกับผู้ต้องหา หยิบตัวเลขต่ำสุด ความเร็วต่ำสุดที่เป็นไปได้
อัยการ : คือถ้าผมมองจากสำนวนที่ผมได้รับของกลางจากพนักงานสอบสวน แจ้งประสงค์ให้ข้าฯ ตรวจพิสูจน์เนี่ย ระบุให้ข้าตรวจฯที่เวลา 5.34 น. 17 วินาที ซึ่งข้าฯ ก็คำนวณโดยใช้วิ่งจากซ้ายผ่านกล้องระยะทางอาจจะผิดพลาดได้ ประกอบกับพนักงานสอบสวนภาพถ่ายบันทึกตรวจที่เกิดเหตุเอกสารหมายลำดับที่ 23/1 และ 2 ซึ่งเป็นสภาพการจราจรขณะเวลา 5.20 น. สภาพจราจรที่ปรากฏเนี่ย มันไม่สามารถขับ 177 ได้ นั่นก็แสดงว่ามันต้องมีความผิดพลาดในการวัดระยะทางกับเวลาที่ใช้ในการขับเคลื่อน แต่ถ้าใช้วิธีการ...
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า แม้คณะกรรมการชุด “อาจารย์วิชา” จะใช้ “ชื่อย่อ” แต่ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ชื่อย่อเหล่านั้นคือใคร และน่าจะนำไปสู่กระบวนการเอาผิดได้ไม่ยากนัก
ที่สำคัญคือ “ลุงตู่” ลั่นสัจวาจาว่าจะจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษให้ได้ เพราะถือเป็นความอัปยศของระบบยุติธรรมที่ถูกครอบงำโดย “เครือข่ายใหญ่” และ สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างเลวร้ายที่สุด
ทว่า ทำไปทำมาเรื่องไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะดูทรงแล้วคงต้องใช้เวลาอีก “พักใหญ่” กว่าจะลากคอคนทำผิดมาลงโทษได้ด้วยทุกอย่างกำลังจะดำเนินไปใน “ร่องเดิม” ไม่ได้รวบรัดและฉับไวเหมือนที่สังคมปรารถนา
หลายองค์กรเรียกร้องให้ “นายกฯ ลุงตู่” เปิดเผยข้อมูลผลการสอบสวน แต่“นายกฯ ลุงตู่” ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับ “คดีบอส” ตามข้อสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบ หนักไปกว่านั้นก็คือ “นายกฯ ลุงตู่” เอ่ยปากออกมาชุดเจนว่า ให้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ท หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นฝ่ายดำเนินการ
“ข้อมูลต่างๆ ขณะนี้ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ และผมก็ได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แล้ว เอาข้อมูลทั้งหมดไปสังคายนา ไปสังเคราะห์ออกมา ก่อนที่จะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาก็จะมีการเปิดเผยตอนนั้น
“ไม่ต้องกลัวหรอก จะปิดได้อย่างไร ปิดไม่ได้ จะใครเกี่ยวข้องตรงไหนก็ต้องเปิดออกมาหมดล่ะ เดี๋ยว ป.ป.ท.เขาต้องรวบรวมดำเนินการก่อน เราไปพูดเองก่อนก็ดูไม่ค่อยดี เพราะผมเป็นรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรี จะไปก้าวเกี่ยวเรื่องยุติธรรมมากๆ มันไม่ดี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาเปิดไป เพราะผมอำนวยความสะดวกเขาดำเนินการได้อยู่แล้ว
“เดี๋ยวเขาเปิดเผยรายชื่อมากี่คน บอกตอนนี้ก็เท่ากับผมมาพูดเอง มันไม่ใช่ รายชื่อเขาส่งมา ผมก็ส่งรายชื่อให้ ป.ป.ท.เขาไป เดี๋ยวก็จะเรียกคณะนี้มาสอบเช่น ตำรวจ หรือใครที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฉะนั้นทุกคนก็ต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย”
นั่นคือคำอธิบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะที่ พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ชี้แจงว่า ในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบชุดอาจารย์วิชาระบุไว้ชัดเจนว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับคดี 8 กลุ่ม ซึ่งผู้เกี่ยวข้องหลัก คือ กลุ่มพนักงานสอบสวนส่วนต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการ ในสำนักงานอัยการสูงสุด
ทั้งนี้ ป.ป.ท.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการส่งรายชื่อของบุคคลต่างๆ ไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงานให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย ดีเอสไอ ป.ป.ช. สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และป.ป.ท. ซึ่งแต่ละหน่วยจะมีอำนาจหน้าที่สอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ตามรายชื่อที่ระบุอยู่ในรายงาน
และเมื่อแต่ละหน่วยงานสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะรายงานมาให้ ป.ป.ท.รับทราบผลการสอบสวนว่า แต่ละหน่วยได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นป.ป.ท.ก็จะนำเสนอรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
และ ป.ป.ท.บอกด้วยว่า การสอบข้อเท็จจริงไม่ได้มีกำหนดกรอบระยะเวลาให้แต่หน่วยงานว่าจะดำเนินการเสร็จเมื่อใด แต่ทั้ง 5 หน่วยงานจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกฎหมายกำหนด
มองในแง่ดีก็พอจะกล้อมแกล้มได้ว่า เพื่อให้มี “หลักฐาน” มัดจนไม่มีร่องให้ดิ้นหลุดได้ เพราะจะฟันเปรี้ยงปร้างแบบที่เคยใช้ “มาตรา 44” ก็เกรงว่าจะมีช่องโหว่จนถูกฟ้องกลับได้
แต่ถ้ามองในแง่ร้าย ก็ไม่แปลกใจที่สังคมจะอดปริวิตกและตั้งคำถามกลับไปที่ “นายกฯ ลุงตู่” ไม่ได้ว่า แล้ว “ชาตินี้” จะสามารถเอาผิดกับ “เครือข่ายใหญ่” ได้หรือไม่ แถมยังพาลสงสัยไปได้อีกว่า กำลังจะมีการประวิงเวลาไปเรื่อยๆ หรือไม่ อย่างไร
ยิ่งเมื่อฟังคำอธิบายจาก ป.ป.ท.ก็ยิ่งน่ากลุ้มเพราะจาก ป.ป.ท.ข้อมูลก็จะถูกส่งผ่านไปยัง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเมื่อสอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้วก็จะส่งกลับมาที่ ป.ป.ท.ก่อนที่จะนำเสนอ “นายกฯ ลุงตู่” ต่อไป
ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า การทำงานของ “รัฐราชการ” นั้น เนิบนาบแค่ไหน กว่าจะสอบ กว่าจะตั้งคณะกรรมการ กว่าจะดำเนินไปสู่กระบวนการเอาผิด มิใช่ใช้เวลาเป็นปีๆ หรอกหรือ
ที่น่าปริวิตกก็คือ ยิ่งทอดเวลานานไป การแทรกแซงกระบวนการสืบสวนสอบสวนก็จะยิ่งมีโอกาสสูงขึ้นเหมือนดังเช่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้กับ “กระบวนการร้องขอความเป็นธรรมผ่านกมธ.ยุค สนช.” จนทำให้ “บอส” หลุดคดีจากการปรุงแต่งหลักฐานเพื่อช่วยเหลือ
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ประชาชนก็อดคิดไม่ได้ว่า “เอ๊ะ! หรือนี่กำลังเข้าสู่กระบวนการลากถ่วงเต็มรูปแบบ” อีกแล้วครับท่าน