สำนักข่าวอิศรา เปิดบทสนทนาเทปลับ “อัยการ-บิ๊กตำรวจ” กำลังช่วยกันปั้นความเร็วรถ “บอส อยู่วิทยา” ไม่ให้เกิน 80 กม./ชม.
วันที่ 7 ก.ย. 2563 สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่บทสนทนาจากการถอดข้อความเทปบันทึกเสียงซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถเฟอร์รารี ของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555
โดย พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานผู้คำนวณความเร็วรถ นำเทปบันทึกเสียงดังกล่าวมอบให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน
เป็นพยานหลักฐานที่นายวิชาบอกว่า ได้ผ่านการพิสูจน์ตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ และทำให้คณะกรรมการเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ถึงที่มาของเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่เอกสาร 7 หน้าที่เป็นรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว ซึ่งเทปบันทึกเสียงในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ ส่งมอบให้กับคณะกรรมการชุดนายวิชา นอกจากยืนยันตัวบุคคลในห้องแล้ว ยังระบุเนื้อหาอย่างน้อย 2 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1. การเสนอให้ลงบันทึกคำให้การเป็นวันที่ 26 ก.พ. 2559 แทนที่จะเป็นวันที่ 29 ก.พ. 2559 และ 2. ปรากฏเสียงของพนักงานอัยการที่คอยให้คำแนะนำเรื่องรูปคดี
โดยข้อมูลที่คณะกรรมการชุดนายวิชานำส่งให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการระบุรายละเอียดถึงบทสนทนาตอนหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถของนายวรยุทธ ว่า สิ่งที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียง มีประเด็นที่น่าสนใจ อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. การเลือกกำหนดให้ลงวันที่สอบปากคำ 2. การกำหนดตัวเลขความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. และ 3. ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลข้อเท็จจริงในคดีนี้
บทสนทนาตอนหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : เนื่องจากรถรุ่นนี้ช่วงล่างมันเตี้ย มันไม่สูงมาก มันไม่สามารถมุดพากันไปได้
พล.ต.ต. : งั้นวันที่สอบคือตอบคำถามแรกของท่านอัยการว่าร่องรอยเฉี่ยวชน
พ.ต.อ. ว. คนที่ 1 : ถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญโดยถ้าให้ดูภาพที่พนักงานสอบสวนเอามาให้ดู ทั้งสถานที่เกิดเหตุ ทั้งสภาพความเสียหายของรถ อย่างนี้ ท่านมีความเห็นอย่างไร ก็อาจจะบอกว่าไม่ได้ถูกขูดลากไปตามที่ท่านอัยการสันนิษฐานอย่างนั้น ประเด็นที่สอง การคำนวณหาความเร็ว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะคำนวณวิธีอื่น ทางธนสิทธิ์ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ สามารถทำได้ เอาข้อมูลมาต้องทำเป็นเฟรมเป็นเฟรม เดี๋ยวจะเอากลับไปทำ เดี๋ยวจะมาตอบว่าที่ทำวิธีทางอื่นมันได้ความเร็วเท่าไร
พล.ต.ต. : หนู รายงานบอกว่าชนท้ายรถจักรยานยนต์เท่านั้นใช่หรือไม่
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : มีรายละเอียดอยู่ในนี้ครับ
พ.ต.อ. ว.คนที่ 1 : ส่วนรายงานตัวนี้ปกปิด พฐ. จะเก็บไว้หรือไม่ครับ
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : เก็บครับ
พล.ต.อ. : ผู้กำกับสอบไปสองช็อตว่าตามนั้น สอบอันนี้ไปก่อน อีกอันสอบเพิ่มเติม เอาวันที่ให้มันต่าง จะได้จบ
อัยการ : เอาวันแรกเป็นวันที่ 26 ไปก่อน
พ.ต.อ. ว.คนที่ 1 : ก็ได้ครับ แต่ถามธนสิทธิ์เค้าก่อน
พล.ต.อ. : ต้องเอาให้เสร็จเลยนะ
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : ผมมาทำงานวันที่ 25 ครับ
อัยการ : ขอสอบ
พ.ต.อ. ว.คนที่ 1 : วันนี้ยังไม่ทันด้วย ธนสิทธิ์ ยังไม่คำนวณเลย ถ้าให้การวันนี้เลย จะดู
อัยการ : อยากให้ขอให้เป็น 79.22 ตามที่ อาจารย์สายประสิทธิ์คำนวณ
พล.ต.ต. : เราคำนวณตามอาจารย์ได้หรือไม่
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : คำนวณก็อาจจะได้สูงกว่านั้นนิดหน่อย แต่คงสูงถึง 100 กว่า
อัยการ : เปล่า คือ ตามกฎหมายเนี่ย ห้ามขับเกิน 80 อยากจะขอความกรุณาให้มันอยู่ที่ range ตรงนั้น
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : เดี๋ยวลองไปดูตัวเลขก่อน
พล.ต.ต. : อาจารย์คิดได้ 79.22
อัยการ : ครับผม
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : ตัวเลขตรงนี้ต้องยอมรับว่า มันมีโอกาสคลาดเคลื่อน ถึงแม้เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย โอกาสที่เราจะคำนวณแล้วไม่ตรงกันก็มีเยอะพอสมควร อย่างเช่นที่อาจารย์คำนวณให้ดู จะเห็นว่า ท่านอาจารย์นับ 5 เฟรม 6 เฟรม สมมติถ้าเป็นการนับ อาจารย์ท่านหนึ่งอาจจะเล็งได้ 6 เฟรม อาจารย์อีกท่านเล็งได้ 5 เฟรม 20% แล้วนะฮะ ง่ายๆ เลย ตัวเลขที่คลาดเคลื่อน 20% เห็นๆ เลย ฉะนั้น ในการคำนวณจริง มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงพอสมควร เดี๋ยวๆ คงไปนั่งเล็ง
อัยการ : อันนี้ขอความกรุณาท่านผู้การ คือ ทางอัยการเค้าสั่งมาอย่างนี้ คือ เค้าก็มองว่าเค้าจะช่วยนะ คือ ก็อยากให้เค้าสบายใจนิดนึง ใช่ไหมฮะ เวลาเค้าจะสั่ง คือที่เค้าสั่งมาเนี่ย เค้าตั้งใจจะช่วยเต็มที่ แล้วก็อยากจะขอความกรุณานะฮะ เรียนตรงๆ เลยฮะ
พล.ต.ต. : อาจารย์เค้ามีวิธีคิดได้ 79.22 เราไปลองดูว่าคิดตามเค้าได้หรือไม่
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : ผมมีความคิดขออนุญาตเสนอ ปกติผมจะใช้วิธี ก็คือ ไอ้ 177 เป็นความเร็วสูงที่สุดที่ได้ คำนวณใหม่ได้ความเร็วขั้นต่ำ ถ้าจะไปบอกว่าไอ้ 177 นั่นผิดเสียเลยทีเดียว
พล.ต.อ. : ก็ไม่ต้องบอกว่าผิดสิ เราใช้คำนวณกันคนละแบบ error จากการคำนวณ คำนวณทดแทน
พ.ต.ต. ว.คนที่ 2 : ผมก็เลยใช้คำว่า ไอ้ 177 เป็นความเร็วสูงที่สุดที่เป็นไปได้ แต่ลองคำนวณอีกทีได้ความเร็วขั้นต่ำได้ซัก 70 สมมตินะฮะ คำนวณอีกครั้งได้ความเร็วขั้นต่ำ ต่ำสุดมันได้เท่านี้ สูงสุดก็ปล่อยมันไป ตัวเลขเป็นความเร็วขั้นต่ำ
พล.ต.อ. : ถ้าตอบอย่างนั้นไม่เคลียร์นะ
พ.ต.อ. ว.คนที่ 2 : งั้นตัวเลข 177 มันจะค้างอยู่
พล.ต.อ. : เราก็อ้างว่า error จากการคำนวณได้หรือไม่ เหมือนที่อาจารย์เค้าบอก แต่จริงๆ ทุกอย่างเหมือนกันหมด การแทนค่าสูตรแทนการจับประเด็น
พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น : มีเรื่องระยะที่วัดอาจมีความเคลื่อนได้ เนื่องจากเวลากลางคืนกับกลางวันมันอาจจะมีมุมมองที่ไม่เห็นชัดเจน
พล.ต.อ. : เราไปพูดอย่างนั้นได้หรือไม่ล่ะ จะได้เป็นการ error จากเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ error แต่เป็นการผิดพลาดจากการวัด การคำนวณอะไรอย่างเนี่ย
พ.ต.อ. ว.คนที่ 2 : การคำนวณเนี่ย ในที่สุดคำนวณได้เป็นช่วง ตั้งแต่ 70-177
พล.ต.อ. : แต่ช่วง range กว้าง
พ.ต.อ. ว.คนที่ 2 : อันนี้ไม่เป็นไรครับ เราอธิบายได้ว่าช่วงมันกว้าง เพราะเนื่องจากภาพไม่ชัด อะไรก็ว่าไป มีแสงรบกวนจนไม่สามารถประมาณได้อย่างแม่นยำ เพื่อประโยชน์ อาจต้องใช้สำนวนซักนิดนึง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เพื่อประโยชน์ให้เลือกใช้ ตัวเลขค่าต่ำ คือ แทนที่จะใช้ตัวเลขค่าสูง คือ มันมีตัวเลขให้เลือกน้อยสุด 70 มากสุด 177 มันเป็นไปทั้งนั้นแหล่ะ 70 ก็ได้ 71 ก็ได้ 72 ก็ได้ 150 ก็ได้ แต่ความเป็นไปได้ทั้งหมด เราจะไปหยิบตัวเลขสูงมาก็คงไม่เหมาะ ไม่ยุติธรรมกับผู้ต้องหา หยิบตัวเลขต่ำสุด ความเร็วต่ำสุดที่เป็นไปได้
อัยการ : คือ ถ้าผมมองจากสำนวนที่ผมได้รับของกลางจากพนักงานสอบสวน แจ้งประสงค์ให้ข้าฯ ตรวจพิสูจน์เนี่ย ระบุให้ข้าฯ ตรวจที่เวลา 5.34 น. 17 วินาที ซึ่งข้าฯ ก็คำนวณโดยใช้วิ่งจากซ้ายผ่านกล้องระยะทางอาจจะผิดพลาดได้ ประกอบกับพนักงานสอบสวนภาพถ่ายบันทึกตรวจที่เกิดเหตุเอกสารหมายลำดับที่ 23/1 และ 2 ซึ่งเป็นสภาพการจราจรขณะเวลา 5.20 น. สภาพจราจรที่ปรากฏเนี่ย มันไม่สามารถขับ 177 ได้ นั่นก็แสดงว่ามันต้องมีความผิดพลาดในการวัดระยะทางกับเวลาที่ใช้ในการขับเคลื่อน แต่ถ้าใช้วิธีการ...”
ทั้งหมดเป็นเพียงบทสนทนาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถของนายวรยุทธ ที่ปรากฏให้เห็นพฤติการณ์ตามที่ข้อมูลที่คณะกรรมการและนายวิชาได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนไปก่อนหน้านี้
โดยรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ส่งให้แก่นายกรัฐมนตรี นายวิชายืนยันว่า ได้ระบุชื่อและตำแหน่งที่ชัดเจนของตัวละครทั้งหมดให้นายกรัฐมนตรีให้รับทราบ
ขณะที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นำประเด็นข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการไปดำเนินการต่อ โดยเฉพาะการดำเนินการบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญา วินัย และจริยธรรม ที่ระบุว่า มีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 8 กลุ่มตามที่ปรากเฏป็นข่าวไปก่อนหน้านี้