ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในโหมดพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก แหกด้วยกระแสข่าวรัฐประหารกับการเผชิญปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัวต่อเนื่องจากพิษโควิด-19 ต้องหาหนทางรอดให้ได้เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีจึงฝันเฟื่องปลุกผีเมกะโปรเจกต์อย่าง “แลนด์บริดจ์เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย” หวังกระตุ้นการค้าการลงทุนให้คึกคัก แต่ต้องไม่ลืมว่ามีโอกาสปลุกม็อบต้านขึ้นมาเช่นกัน
การยึดโยงเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่การท่องเที่ยวบวกกับการส่งออก ซึ่งทำเงินเข้าประเทศมายาวนานหลายปี เมื่อทั้งสองขาเผชิญภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบกู่ยังไม่กลับรายได้ประเทศลดลง ทำให้รัฐบาลต้องหมุนพวงมาลัยมุ่งเน้นไปยังการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาว่า “เรากำลังจะสร้างเศรษฐกิจใหม่ เราต้องหาโครงการขนาดใหญ่ในการที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
เมกะโปรเจกต์ที่ว่านอกเหนือจากแผนงาน EEC ซึ่งเริ่มมา 5 ปีแล้ว นายกฯ บอกว่า “เราต้องหาโครงการใหม่ กำลังดูว่าเราจะเชื่อมการไปมาทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งตะวันตกและตะวันออกได้อย่างไร มันควรจะมีหรือไม่เกี่ยวกับการศึกษาทางด้านแลนด์บริดจ์ ซึ่งกำลังให้แนวทางไปศึกษากันอยู่ แต่คิดว่าจะช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจระยะยาวได้ในโอกาสต่อไป โดยเฉพาะการขนส่งข้ามตะวันตก และตะวันออกหรืออ่าวไทยกับอันดามัน โดยเฉพาะท่าเรือต่างๆ ต้องมีการพัฒนาทั้งหมด ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องเดินต่อไป ขั้นตอนการศึกษา ขั้นตอนการลงทุน สิ่งเหล่านี้เป็นผลดีในระยะยาว”
สัญญาณไฟเขียวปลุกโครงการแลนด์บริดจ์จากปากท่านผู้นำประเทศ ทำให้การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้มีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ เห็นท่าทีที่จะเอาจริงเอาจังอีกครั้งในโครงการเชื่อมเส้นทางขนส่งสองฟากฝั่งที่เป็นฝันค้างกันมาหลายรัฐบาล
มองในภาพใหญ่ย้อนทวนความจำกันก่อน อันที่จริง จะว่าไปแล้วโครงการแลนด์บริดจ์มีการพูดถึงกันมานมนานร่วมยี่สิบปี ตามแผนขยายฐานการลงทุนของประเทศโดยวางเป้าขยับจากพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด เฟส 1 สู่เฟส 2 และ 3 ตามด้วยเวสเทิร์นซีบอร์ด หรือ WSB ในเขตภาคตะวันตก และเซาท์เทิร์นซีบอร์ด หรือ SSB ในการพัฒนาเขตภาคใต้ เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ IMT-GT ที่มีโปรเจคในฝันปั้นแลนด์บริดจ์เชื่อมสงขลา-ปีนัง รวมอยู่ด้วย แต่เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทั้งเวสเทิร์นซีบอร์ด, เซาท์เทิร์นซีบอร์ด, IMT-GT ชะงักไป ต่อมามีการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่อย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด แปลงสภาพเป็นเขตเศรษฐกิจ EEC ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เฟสแรก
ด้วยความพยายามของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทุนพลังงานที่เป็นแรงผลักดันหลักยังคงไม่สิ้น การปลุกเมกะโปรเจกต์พัฒนาพื้นที่ภาคใต้ผ่านโครงการลงทุนต่างๆ มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ การขุดคอคอดกระที่ปรับมาเป็นโครงการคลองไทย และโครงการแลนด์บริดจ์ที่เปลี่ยนจุดหัวท้ายจากสงขลา-ปีนัง ภายใต้กรอบ IMT-GT มาเป็นโครงการภายในประเทศเชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย เส้นสงขลา-สตูล โดยมีแผนลงทุนต่างๆ ในจุดหัวและท้าย เช่น จังหวัดสตูล มีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบรา ที่ประชาชนเคลื่อนไหวให้เลิกล้มและขอให้ปรับเป็นเมืองท่องเที่ยวโลกแทน ส่วนสงขลาก็มีโรงไฟฟ้าและแผนลงทุนนิคมอุตสาหกรรม
ช่วงสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยแรก คณะรัฐมนตรี (ครม.) “บิ๊กตู่” มีมติเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ปรับ SSBไปเป็น Southern Economic Corridor - SEC หรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยต้องการเชื่อมลงทุนเชื่อมโยงถึง EEC ตามแผนพัฒนาจะสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง ฝั่งอันดามัน ให้เชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ส่วนฝั่งอ่าวไทยวางเป้าสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร หรือแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เป็นเส้นภาคใต้ตอนบน ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล หรืออาจปัดฝุ่นแลนด์บริดจ์ปีนัง-สงขลา ขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ รัฐบาลยังวาดแผนปั้นศูนย์กลางพลังงานและอุตสาหกรรมครบวงจร โดยเน้น 2 พื้นที่ในโซนภาคใต้ตอนกลางที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเวลานี้มีโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าก๊าซแล้วถึง 4 โรง ที่อำเภอขนอม และขยายไปได้ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดสงขลา มีโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าก๊าซแล้ว 2 โรง ที่อำเภอจะนะ ตามแผนรองรับการลงทุนอุตาสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจรตามโมเดลอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีท่อส่งก๊าซฯ โรงแยกก๊าซฯ โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี ฯลฯ
โฟกัสลงมายังโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเมื่อวันก่อน เส้นที่มีความเป็นไปได้โดยอยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงคมนาคม น่าจะเป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมชุมพร-ระนอง ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเอาไว้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 และสื่อนอกอย่าง เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ หยิบไปรายงานข่าวเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไทยเล็งผุดท่าเรือน้ำลึกพร้อมแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งภาคใต้แทนขุดคลอง เพื่อดูดเรือสินค้าจากช่องแคบมะละกาที่แออัดและมีปัญหาโจรสลัด
นายศักดิ์สยาม ระบุตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษในงานเสวนา “ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน” เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงคมนาคม เพื่อศึกษาจุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่งทะเลแล้ว พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณเพื่อศึกษาก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมระหว่างชุมพร-ระนอง และหากโครงการเกิดขึ้นจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ อีกมากมาย
จากข้อมูลที่กรมเจ้าท่า เสนอมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น เรือที่ขนส่งสินค้าจากจีน เกาหลีใต้ เวียดนาม และญี่ปุ่น จะต้องผ่านแหลมญวนแล้วไปช่องแคบมะละกา ก่อนจะไปยังอินเดีย บังคลาเทศ แอฟริกา และยุโรป แต่หากใช้แหลมญวนเป็นตัวตั้งให้เรือตัดตรงเข้ามาจังหวัดภาคใต้ของไทยบริเวณ จังหวัดชุมพร แล้วสร้างโครงสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) เชื่อมไปยัง จังหวัดระนอง แล้วขนส่งสินค้าออกทางทะเลอันดามัน จะลดระยะเวลาในการเดินทางได้ 2 วันครึ่ง
“.... ถ้าเราสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ชุมพร และที่ระนอง ซึ่งมีระบบขนถ่ายสินค้าที่เป็นระบบออโตชั่น แล้วใช้แลนด์บริดจ์ โดยทำรถไฟทางคู่ แล้วมีมอเตอร์เวย์อยู่ด้านข้าง และอาจจะทำถนนโลคัลโรดอยู่ข้างๆ มอเตอร์เวย์ เชื่อมท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งมีระยะทาง 120 กม. รถไฟจะใช้เวลาวิ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง เชื่อว่าเราจะไปตัดเวลาขนส่งลงได้ 2 วันครึ่ง” นายศักดิ์สยาม กล่าว
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ของฮ่องกง ให้ข้อมูลว่า ช่องแคบมะละกา ช่องทางการเดินเรือแคบๆ บริเวณฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมมลายูและสิงคโปร์ เป็นเส้นทางการส่งสินค้าทางทะเลระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับอินเดียและตะวันออกกลางที่สั้นที่สุด ซึ่งมีปริมาณสินค้า 1 ใน 4 ของทั้งโลกถูกขนส่งผ่านเส้นทางนี้ในแต่ละปี ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางการเดินเรือที่หนาแน่นที่สุดในโลกในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ยังรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ช่องแคบมะละกานอกจากมีความแออัดแล้วยังถูกคุกคามด้วยโจรสลัดอย่างต่อเนื่อง รายงานจาก ReCAAP ISC องค์กรรวบรวมข้อมูลด้านโจรสลัดที่มีสมาชิก 20 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ระบุว่า เหตุโจรสลัดปล้นเรือสินค้าบริเวณช่องแคบมะละกาได้เพิ่มขึ้นจาก 8 ครั้งในปี 2561 เป็น 30 ครั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา
สื่อฮ่องกง อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายศักดิ์สยาม ว่าถ้าหันมาใช้เส้นทานที่ตัดผ่านประเทศไทยจะร่นระยะเวลาขนส่งทางเรือลงซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่าทางในทางธุรกิจ โดยโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกบริเวณสองฝั่งทะเลภาคใต้และเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองแห่งด้วยถนนและรถไฟหรือที่เรียกว่าแลนด์บริดจ์ จะมาแทนการขุดคลองเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ซึ่งโครงการขุดคลองนั้นเกิดขึ้นได้ยากทั้งในแง่ความมั่นคงและส่งผลเสียหายต่อสภาพแวดล้อมมหาศาล
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณ 75 ล้านบาท ในการสำรวจการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง และอีก 90 ล้านบาท สำหรับการสำรวจเส้นทางทางถนนและรถไฟเชื่อมท่าเรือทั้งสอง โดยการศึกษาเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระดับความลึกที่ 15 เมตร ที่ชุมพร-ระนอง ได้วางไว้ 2 รูปแบ คือ พัฒนาท่าเรือเดิมที่มีหรือสร้างท่าเรือใหม่ซึ่งอาจจะถมทะเลอย่างที่ทั่วโลกทำกัน เช่น สิงคโปร์ มาเก๊า โดยจะประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชน
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะศึกษาส่วนของท่าเรือน้ำลึก รวมไปถึงเรื่องรูปแบบการลงทุนกับเอกชน (PPP) โดยศึกษาในปี 2564 ใช้เงินจากงบกลาง วงเงิน 75 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุน
ส่วนแลนด์บริดจ์ ในส่วนมอเตอร์เวย์ กรมทางหลวง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ศึกษา และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษารถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. เพื่อเชื่อมท่าเรือจากฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะได้ข้อสรุปในปี 2565 และนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป
ในมุมมองของนายศักดิ์สยาม เชื่อมั่นว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกและแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง จะตอบโจทย์การเชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้ามากกว่าโครงการขุดคลองไทย ซึ่งขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษาโครงการคลองไทย โดยมองว่า โครงการขุดคลองไม่น่าจะเหมาะสมกับไทย และยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง
“.... ผมว่าในโลกปัจจุบัน ไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไหร่สำหรับไทย เพราะว่าระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยไม่เท่ากัน เมื่อไม่เท่ากันสิ่งที่ต้องทำ คือ เวลาเรือวิ่งเข้าไปในคลอง ต้องมีจุดพักเพื่อปรับระดับน้ำ ซึ่งจะใช้งบประมาณมากและเสียเวลามากกว่ารูปแบบการทำท่าเรือและแลนด์บริดจ์ มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่เชื่อม ซึ่งจะไม่ตอบโจทย์การประหยัดเวลาและงบประมาณในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ทางน้ำ” นายศักดิ์สยาม ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อก่อนหน้านี้
เมื่อฟากฝั่งรัฐบาลและนักลงทุนขยับ เชื่อว่าอีกไม่นานภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวติดตามทวงถามความชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบต่อวิถีชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม การปลุกชีพเมกะโปรเจกต์ก็เสมือนการปลุกม็อบขึ้นมาคู่ขนานกันไป
จึงต้องเฝ้ารอติดตามกันไปว่ารัฐบาลจะดันโครงการนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงกรรในภาคใต้มีอันพังพาบกันไปเมื่อเจอแรงต้านของม็อบแทบทั้งนั้น