ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ฝันใหญ่ในการทำให้ คลองแสนแสบ น้ำใสสะอาดของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คลอดแผนฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี 2558 จวบจนปี 2563 น้ำในคลองแสนแสบยังคงมีสีดำเน่าเหม็นไม่ต่างไปจากเดิม แต่ใช่ว่าไม่เกิดความคืบหน้าเลย เพราะที่ผ่านมาหลายหน่วยงานร่วมบูรณาการพัฒนาทั้งระบบความปลอดภัย ปรับปรุงภูมิทัศน์ ระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ ให้ประชาชนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกันบ้าง
ไม่นานมานี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ เร่งรัดให้ขับเคลื่อนการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ หวังคืนคลองสวยน้ำใสให้คนกรุงฯ โดยย้ำว่ารัฐบาลมุ่งหวังให้คลองแสนแสบได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการแก้ไขปัญหาน้ำเสียอย่างเข้มข้นและจริงจัง ประชาชนมีความปลอดภัยทางน้ำ ขณะเดียวกันสามารถรองรับการระบายน้ำในพื้นที่โดยรอบในฤดูฝน และเพิ่มขีดความสามารถการระบายน้ำในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออก
ยอมรับว่าที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวบ้านริมคลอง ส่งผลให้คลองแสนแสบได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้นตามลำดับ แต่การพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบให้กลับมาใสสะอาดนั้นเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย
นับตั้งแต่ ปี 2558 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มอบหมายกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลการพัฒนาคลองแสนแสบซึ่งอยู่ในพื้นที่ กทม. ประมาณ 45.5 กม. พร้อมประกาศจะปรับสภาพคลองแสนแสบให้ใสสะอาดภายใน 2 ปี หรือในปี 2560 โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับลูกเดินหน้าแผนปฎิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาด
ครั้งนั้นตกเป็นข่าวครึกโครมเพราะครั้งนั้น ทางการไทยวาดฝันให้ “คลองแสนแสบ” พัฒนาเฉกเช่นเดียวกับ “คลองชองกเยชอน (Cheonggyecheon)” แห่งกรุงโซล แห่งประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเดิมน้ำเน่าเสียอย่างรุนแรงแต่ทางการเกาหลีใต้ฟื้นฟูให้กลับมาใสสะอาด จนกลายเป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงโซล สามารถลดมลพิษทางอากาศได้มากถึง 33%
หลังผ่านไป 2 ปี กระทั่ง ปี 2560 น้ำในคลองแสนแสบยังดำสนิทเน่าเหม็นไม่เปลี่ยนแปลง กระทั่ง พล.อ.ประวิตร ที่นั่งเป็นประธานในการประชุมหารือเรื่องโครงการพัฒนาคลองแสนแสบสะอาดใสภายใน 2 ปี เห็นชอบให้ขยายเวลาเป็น 5 ปี
ขณะเดียวกันก็มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทบทวนปรับปรุงการดำเนินการบำบัดน้ำเสียคลองแสนแสบให้เป็นระบบและเกิดความยั่งยืน ภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาด โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการทบทวนและจัดทำแผนการบำบัดน้ำเสียคลองแสนแสบในระยะยาวอย่างเป็นระบบและรูปธรรม แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ 1 ปี ระยะ 5 ปี และระยะ 20 ปี มุ่งหวังเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนคลองแสนแสบและชาวเมือง และพัฒนาเส้นทางการจราจรทางน้ำ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ กทม.
สำหรับความคืบหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟูคลองแสนแสบ ล่าสุด ปี 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ระบุว่า กทม. เดินหน้าโครงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและระบบความปลอดภัยทางน้ำในคลองต้นแบบ นำร่องคลองแสนแสบให้เห็นผลใน 6 เดือน โดยขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการโยธา และสำนักงานเขต 21 เขต ที่มีคลองแสนแสบและคลองสาขาไหลผ่าน ได้ออกสำรวจสภาพกายภาพคลองแสนแสบและเตรียมแผนพัฒนาคลองแสนแสบใน 3 ด้านตามเป้าหมายได้แก่ งานพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย งานปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมสองฝั่งคลอง และการดูแลความปลอดภัยทางน้ำ
“การดำเนินการครั้งนี้ กทม. จะใช้ทั้งความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย มีการจัดระเบียบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง การซ่อมแซมและปรับปรุงสภาพแวดล้อมสองฝั่งคลอง ปรับปรุงทางเดิน โป๊ะ ท่าเรือ และระบบไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งมีการจัดทำแผนจัดการน้ำเสียในคูคลอง จัดทำบัญชีสถานประกอบการ ร้านค้า อาคาร โรงงาน โรงแรม อู่ซ่อมรถ ตลอดจนสถานที่ต่างๆ เพื่อการติดตามประเมินผล และดำเนินคดีกับสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กทม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน”
ทั้งนี้ การดำเนินการฟื้นฟูคลองแสนแสบ แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบความปลอดภัยทางน้ำในคลองต้นแบบ (คลองผดุงกรุงเกษม และคลองแสนแสบ) ภายใต้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูคลองแสนแสบในระยะเร่งด่วน โดยอาศัยมาตรการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และภาคประชาชน จิตอาสา และสถานประกอบการ ในการดำเนินภารกิจ 5 ด้าน ได้แก่ 1. การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 2. การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลอง 3. การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ริมฝั่งคลอง 4. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง และ 5. การพัฒนาขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ
ระยะกลาง ดำเนินการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมและการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสีย ขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 โครงการ รวมความสามารถในการบำบัด น้ำเสียรวม 504,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย (เพิ่มเติม) ริมคลองแสนแสบช่วงถนนวิทยุคลองตัน เข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง งบประมาณ 542 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย (เพิ่มเติม)พื้นที่เขตห้วยขวาง เข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง งบประมาณ 1,600 ล้านบาท 3. โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 1 งบประมาณ 630 ล้านบาท 4. โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 งบประมาณ 2,430 ล้านบาท 5. โครงการก่อสร้างระบบรวบรวม น้ำเสีย และระบบรวบรวมน้ำเสียคลองเตย งบประมาณ 12,468 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอกองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุน และ 6. โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียจากพื้นที่รับน้ำคลองลาดโตนด งบประมาณ 294 ล้านบาท
และ ระยะยาว เป็นการดำเนินการก่อสร้าง ระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่ครอบคลุมคลองแสนแสบและคลองสาขา จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียวังทองหลาง โครงการบำบัดน้ำเสียสะพานสูง โครงการบำบัดน้ำเสียบางเขน โครงการบำบัดน้ำเสียดอนเมือง โครงการบำบัดน้ำเสียบึงกุ่ม โครงการบำบัดน้ำเสียหนองจอก 1 และโครงการบำบัดน้ำเสียลาดพร้าว
กล่าวสำหรับสภาพน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบ เป็นผลเนื่องจากการสะสมของเสียที่ระบายมาจากชุมชน ภาคอุตสาหกรรมไหลลงสู่คลองโดยตรงเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อของเสียสะสมเป็นจำนวนมากทำให้ลำคลองเกิดสภาวะขาดออกซิเจน และเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและมีสีดำสนิท
นอกจากนี้ คลองแสนแสบยังเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำของคนกรุงเทพฯ ตัดผ่านใจกลางเมืองระหว่าง ท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง เขตบางกะปิ ถึง ท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ทั้งหมด 28 ท่าเรือ เรียกว่าสามารถย่นระยะการเดินทางในกรุงเทพฯ ได้มาก โดยบริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) เป็นผู้รับสัมปทานเดินเรือเพียงรายเดียว รับส่งผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 62,016 คน
แผนฟื้นฟูคลองแสนแสบยังรวมไปถึงการพัฒนาเรือโดยสาร บ.ครอบครัวขนส่ง ขานรับนโยบายรัฐ เตรียมเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้ารูปแบบใหม่ในปี 2564 หลังจากมีการทดสอบเรือไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบ ตามโครงการจัดหาระบบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบ เพื่อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่ กรมเจ้าท่า มีแผนพัฒนาด้านความปลอดภัยติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV จากเดิมมีการติดตั้งอยู่แล้ว 114 ตัว โดยจะติดตั้งใหม่อีก 188 ตัว ให้ครอบคลุมทั้ง 28 ท่าในคลองแสนแสบ พร้อมกันนี้ กระทรวงคมนาคม ได้พัฒนาศักยภาพท่าเรือโดยสารเพื่อเชื่อมต่อระบบรถ เรือ และราง อาทิ ท่าเรือคลองแสนแสบที่เปิดให้บริการทั้ง 25 ท่า โดยเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง 4 จุด ประกอบด้วย ท่าเรือราม1 และท่าเรืออโศก เชื่อมต่อสายสีน้ำเงิน ท่าเรือสะพานหัวช้างและท่าเรือสะพานตากสินเชื่อมต่อสายสีเขียว
แม้วันนี้คลองแสนแสบยังไม่ใสสะอาดตามที่รัฐบาลวาดฝันไว้ แต่อย่างน้อยๆ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรอบด้านอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว