xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อลาวถังแตก ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อขึ้นรถไฟ One Belt One Road

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"




กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ ปรับลดอันดับเครดิตของประเทศเพื่อนบ้านของเรา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ลงไปรวดเดียว 2 ขั้น จาก B 3 มาเป็น Caa 2 ซึ่งเป็นระดับที่เรียกว่า Junk Bond คือ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้

พูดง่ายๆ คือ เครดิตไม่ดีแล้ว ไม่น่าเชื่อถือ ถ้าไปกู้เงินต่างประเทศ ก็จะกู้ยาก ไม่ค่อยมีเจ้าหนี้ประเทศไหนอยากให้กู้ ถ้าจะให้ ก็ขอคิดดอกเบี้ยแพงกว่าปกติ เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะถูกเบี้ยวหนี้

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASPS) สรุปเหตุผลของมูดี้ส์ ในการลดอันดับเครดิตลาว ครั้งนี้ว่า เนื่องจาก

1. ปี 2564 คาดว่า ลาวจะขาดดุลงบประมาณ 6.7% ของจีดีพี เพิ่มจาก 3.5% ของจีดีพี ในปี 2563

2. เงินทุนสำรองอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญ คือ เหลือเพียง 864 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าระดับหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญที่ถึงกำหนดชำระในปีนี้

3. ขาดวิธีการจัดหาเงินที่โปร่งใสและความไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการภาระหนี้ที่ครบกำหนด

มีทุนสำรองอยู่แค่ 864 ล้านเหรียญ แต่มีหนี้ที่จะต้องชำระทันที 1.2 พันล้านเหรียญ จากจำนวนหนี้ทั้งหมด 12,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ลาวจึงอยู่ในภาวะ “ถังแตก” ของจริง

เจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ของลาว คือ จีน และไทย เป็นเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วปานกลางจีน-ลาวจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์และโครงการอื่นๆ ที่จีนได้สัมปทาน และเงินกู้จากธนาคารไทยที่กู้มาสร้างเขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย และเวียดนาม

โครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง หรือ One Belt One Road ของจีน เป็นรถไฟรางเดี่ยวสำหรับขนสินค้า ไม่ใช่บรรทุกผู้โดยสาร ปัจจุบันการก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีกำหนดจะเปิดให้บริการสิ้นปี 2564

รถไฟจีน-ลาวสายนี้ ตามแผน 1 แถบ 1 เส้นทางแล้ว จะเชื่อมต่อกับรถไฟไทย-จีน ที่หนองคาย เพื่อผ่านลงใต้ไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่รถไฟไทย-จีนดำเนินไปอย่างล่าช้า จนถึงตอนนี้เพิ่งจะถมคันดินเพื่อวางรางรถไฟไปได้แค่ 3.5 กิโลเมตร จากสถานีกลางดงถึงปางสีดา จังหวัดนครราชสีมา

รถไฟไทย-จีน จึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับรถไฟจีน-ลาว อยู่เสมอ ในทำนองว่า ประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตกขบวนรถไฟเชื่อมโลก 1 แถบ 1 เส้นทางที่จีนเป็นคนขับ สู้ลาวไม่ได้ ที่การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว อีกปีกว่าๆ คนลาวก็จะนั่งรถไฟจากเวียงจันทน์ไปคุนหมิงแล้ว

ในความเป็นจริง รถไฟไทย-จีนล่าช้าเกือบ 6 ปีแล้ว ได้แค่คันทาง 3.5 กิโลเมตร ก็เพราะว่า รัฐบาลไทยไม่ยอมตามเงื่อนไขของจีนที่เอาเปรียบไทยทุกอย่าง ตั้งแต่ตอนแรก ที่จะขอลงทุนเองทั้งหมด แต่ขอสัมปทานที่ดินสองข้างทางรถไฟนาน 99 ปี เมื่อไทยไม่ยอม จีนก็ขอลงทุนแค่วางระบบบริหารการเดินรถ ให้ไทยเป็นคนลงทุนก่อสร้างวางราง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยต้องใช้แบบก่อสร้าง วัสดุ วิศวกรจากจีน และกู้เงินจากจีนในอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุให้ต้องมีการเจรจาต่อรองกันถึงสิบกว่ารอบ

สุดท้ายแล้ว ไทยตัดสินใจทำเองทั้งหมด ไม่ต้องให้จีนมาร่วมทุน แต่เพื่อให้เป็นไปตามพันธสัญญา เพราะโครงการรถไฟไทย-จีนนี้ เป็นเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศไทยจึงตกลงว่า จะยึดถือแบบก่อสร้างขอจีน และซื้อรถไฟเทคโนโลยีรถไฟจากจีน ส่วนการก่อสร้างใช้บริษัทไทย

ในขณะที่ลาว ยอมตามจีนทุกอย่าง จีนขนคนงานนับหมื่นๆ คนมาสร้างทางรถไฟมูลค่า 2 แสนกว่าล้านบาท โดยที่มีการตั้งบริษัทร่วมทุนจีน-ลาว เป็นผู้ลงทุน และบริหารการเดินรถ จีนถือหุ้นใหญ่ ลาวถือหุ้นเพียง 15% แต่รัฐบาลไม่มีเงินมาถือหุ้น จีนจึงให้กู้เงิน โดยลาวต้องเอารายได้จากเหมืองแร่โปแตช 2-3 แห่งมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้

รถไฟจีน-ลาว ไม่ใช่ของฟรีที่จีนสร้างให้ลาวในฐานะผู้ร่วมลงทุนด้วยต้องจ่ายค่าก่อสร้างตามสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ให้กับบริษัทรถไฟจีนที่มาร่วมทุน ในขณะเดียวกันก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้จากจีนมาเพื่อมาร่วมทุนกับจีน

นอกจากหนี้ก้อนใหญ่แล้ว ลาวไม่ได้อะไรจากรถไฟจีน-ลาวเลย ได้เป็นแค่ทางผ่านของสินค้าจีนจากคุนหมิงเข้าไทยเท่านั้น และได้ชื่อว่า ไม่ตกขบวนรถไฟ 1 แถบ 1 เส้นทาง

โครงการรถไฟจีน-ลาว เพียงโครงการเดียว ไม่ใช่โครงการที่ทำให้ลาวถังแตก จนถูกมูดี้ส์ลดเกรดหนี้ให้เป็นจังค์บอนด์ แต่ยังมีโครงการลงทุนของจีนในลาวอีกหลายโครงการ ที่ทำให้จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของลาว เช่น โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำอู และแม่น้ำโขง 7 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้มณฑลยูนนาน จีนได้สัมปทาน 65 ปี โครงการมอเตอร์เวย์เวียงจันทน์-วังเวียงระยะทาง 109 กิโลเมตร จีนได้สัมปทาน 50 ปี โครงการศูนย์การค้า โรงพยาบาลที่หลวงพระบาง มหาวิทยาลัยที่เวียงจันทน์ ที่จีนลงทุนก่อสร้างให้ก่อน แต่ลาวต้องผ่อนชำระหนี้เป็นงวดๆ

โครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นตัวอย่างของการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จีนเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อลาวไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะมีทุนสำรองน้อยกว่าหนี้ที่ต้องชำระ ก็ต้องขอให้จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นโอกาสที่จีนจะกำหนดเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด อย่างเช่น การยึดโครงการนี้มาเป็นของตัวเองทั้งหมด ดังที่เกิดขึ้นกับโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ศรีลังกามาแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น