xs
xsm
sm
md
lg

โลกในบงการของสมศักดิ์-ปวิน

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสประจำข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ หรือข่าวสดอิงลิช หลงเข้าไปโลกของปวิน (สุรชัย) ชัชวาลพงศ์พันธ์ แล้วรู้ความจริงว่า กลุ่มดังกล่าวไม่ใช่ตลาดเปิดความคิดเสรีทางการเมืองและอุดมการณ์ หรือตลาดทางความคิด หากเป็นอาณาจักรเสมือนจริงส่วนตัว (Virtual Fiefdom) ทางอุดมการณ์และจริตส่วนตัวของปวิน ในฐานะแอดมินและผู้ก่อตั้งกลุ่ม เป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จสูงสุด หากใครที่มีความคิดไม่สอดคล้องกับปวินจะถูกบล็อกขับไล่ออกจากกลุ่มทันที

พูดง่ายๆ ประวิตรต้องการบอกว่า พื้นที่นั้นเป็นอาณาเขตของจอมเผด็จการปวินนั่นเอง และคนส่วนใหญ่ก็มีประสบการณ์เช่นเดียวกับประวิตรมาก่อนแล้ว

พื้นที่ของปวินก็คล้ายๆ กับเกษียร เตชะพีระ เมื่อหลายปีก่อนผมเคยเข้าไปแสดงความเห็นโต้แย้งเขาด้วยเหตุผลปรากฏว่าผมถูกเกษียรบล็อกทันที แล้วหลายคนก็ประสบเหตุการณ์แบบเดียวกับผม สองคนนี้ต่างกับสมศักดิ์ เจียม ที่ปล่อยให้คนเข้ามาโต้แย้งความคิดได้ แต่ทั้งสมศักดิ์และปวินก็สามารถก่อตั้ง ultry-anti-royalist ขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก

คนที่เข้าไปติดตามสองคนนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ชื่อจริง เป็นชื่ออวตาร และเชื่อข้อมูลที่ได้รับการป้อนให้โดยไม่มีคำถามหรือถกเถียงกันเพื่อหาข้อมูลข้อเท็จจริง นอกจากเอ็นจอยไปกับการเมาท์มอยและเสียดเย้ยเท่านั้นเอง

โลกภายใต้การบงการของสมศักดิ์และปวิน จึงเปรียบเหมือนกับห้องเสียงสะท้อน (echo chamber) ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบถึงห้องที่ออกแบบให้มีการสะท้อนเสียงกลับไปมา เป็นพื้นที่ที่ข้อมูล ความคิด ความเชื่อหนึ่งๆ ถูกขยายหรือถูกสนับสนุนผ่านการสื่อสารและการทำซ้ำภายในระบบหนึ่งๆ ใน “ห้อง” นี้ แหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ มักไม่ถูกตั้งคำถาม มุมมองที่แตกต่างหรือท้าทายต่อข้อมูลเดิมมักถูกปิดกั้น หรือถูกนำเสนอน้อยกว่าข้อมูลที่สอดคล้องกัน

ในอดีตการทำให้คนเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองหนึ่งเราจะได้ยินคำว่าถูกล้างสมอง แต่ปัจจุบันไม่ใช่ความคิดและความเชื่อของเราในโซเชียลมีเดียที่เราแสดงออกไปนั้น มันจะสะท้อนกลับมาสู่เราด้วยอัลกอริทึมจากสิ่งที่ตัวเราสนใจด้วยความพยายามจะนำสิ่งที่เราสนใจมาแสดงให้เราเห็นซ้ำๆ จับกลุ่มให้เราอยู่กับคนที่มีความคิดไปแนวเดียวกัน และซ้ำเราเองก็จะเลือกคบหากับคนที่มีความคิดแบบเดียวกันรับแต่ข้อมูลด้านเดียวจนกลายเป็นห้องเสียงสะท้อน

เหมือนกับเราอยู่ในถ้ำเราตะโกนอะไรออกไป ก็จะมีเสียงนั้นสะท้อนกลับมา ยิ่งเราตะโกนดังเราก็จะยิ่งได้รับเสียงนั้นกลับมา

การต่อต้านระบอบกษัตริย์ที่ถ่ายทอดจากสมศักดิ์และปวินสอดรับกับภาวการณ์ทางจิตวิทยาของคนวัยหนุ่มสาวตามช่วงวัยที่มีสำนึกกบฏเป็นพื้นฐาน พวกเขาต้องการเป็นตัวของตัวเอง ออกจากการบงการของพ่อแม่ครอบครัว ในโรงเรียนที่สร้างเกราะกรงขังด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ มาทั้งชีวิต เสรีภาพในมหาวิทยาลัยที่เปิดโลกให้เห็นเสรีภาพกว้างใหญ่ เชื่อว่ามนุษย์มีเสรีที่จะทำอะไรก็ได้ จะเชื่อแนวความคิดอะไรก็ได้ จะยึดมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองใดก็ได้

เมื่อมาเจอกับคนอย่างสมศักดิ์และปวิน คนหนุ่มสาวจึงพร้อมใจกันเทิดทูนให้ทั้งสองเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของตัวเองอย่างไม่มีคำถาม

แต่เสรีภาพนั้นไม่ได้มีแต่เสรีภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อุดมการณ์ของฝ่ายหนึ่งอาจจะขัดแย้งกับอุดมการณ์ของฝ่ายหนึ่ง บางคนเป็นพวกเสรีนิยม บางคนเป็นพวกอนุรักษนิยม บางคนเป็นกษัตริย์นิยม บางคนเป็นพวกสาธารณรัฐนิยม ไม่ใช่เรื่องใครผิดใครถูก แต่ถ้าเราต้องการเปลี่ยนอุดมการณ์ของชาติให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่เราเชื่อศรัทธา ถ้ามันไปทำลายความเชื่อศรัทธาของคนอื่น ถ้ามันไม่มีกระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน มันย่อมจะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงตามมา

ความคิดของสมศักดิ์และปวินที่ออกมาล้างสมองเยาวชนคนหนุ่มสาวนั้น แม้จะเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่มันขัดแย้งกับความเห็นของคนในชาติจำนวนมากแล้ว ยังขัดแย้งกับอุดมการณ์ของรัฐ ขัดต่อกฎหมายของรัฐ จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกต่อต้านจากกลุ่มคนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่มีรัฐไหนที่ให้เสรีภาพในการเรียกร้องเปลี่ยนแปลงโค่นล้มอุดมการณ์ของรัฐ

คนส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเขาเห็นสิ่งที่บูรพกษัตริย์ทรงทำประโยชน์เพื่อสังคมไทย และเข้ามาคลี่คลายวิกฤตของประเทศในหลายๆเหตุการณ์ พวกเขาเกลียดชังนักการเมืองบางคนบางฝ่าย ทั้งจากที่เคยเห็นพฤติกรรมฉ้อฉลในระหว่างที่มีอำนาจ และหวั่นว่านักการเมืองบางคนจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทยอย่างถอนรากถอนโคน

แต่อุดมการณ์ตามระบอบเดิมของรัฐก็มีจุดอ่อนที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านหยิบมาโจมตีทั้งเรื่องพฤติกรรมของตัวบุคคล พฤติกรรมของนักการเมือง และฝ่ายกุมอำนาจรัฐ จนทำให้การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวมีเหตุผลที่รับฟังได้ แม้เสียงของคนหนุ่มสาวจะมีทั้งพลังบริสุทธิ์และมาจากแนวคิดที่ถูกฝังจนกลายเป็นพวก ultry-anti-royalist เป็นพวกต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ หรือเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองบางฝ่ายก็ตาม

ดังนั้น การตื่นตัวของเยาวชนหนุ่มสาวแม้เขาจะถูกปลูกฝังความคิดมาอย่างไร หรือแม้ว่าสิ่งที่เขาพูดไม่ใช่เรื่องที่ถูกทั้งหมด แต่มีหลายเรื่องที่ถูกและเป็นความจริง ซึ่งมีคำถามว่า ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐได้ตระหนักหรือไม่ว่า อะไรที่ทำให้คนหนุ่มสาวนักเรียน นักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้องความต้องการของพวกเขาพร้อมๆ กัน อะไรที่เป็นจุดอ่อนที่ถูกเขาโจมตี

แน่นอนนอกจากอิทธิพลความคิดของสมศักดิ์และปวินแล้ว ยังมาจากอิทธิพลของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นเขา ความคิดที่ให้ไม่เชื่อในพระเจ้าองค์ไหน ความคิดที่ทำให้ไม่เชื่อในศาสนาไหน การมุ่งให้ตรวจสอบสถาบันพระมหากษัตริย์มันก็สอดรับกับช่วงวัยที่ท้าทายของพวกเขา และสอดรับกับความรู้ในห้องเสียงสะท้อนของสมศักดิ์และปวิน

การยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิธนาธรกับพวกก็เป็นแรงฉุดที่ทำให้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมา เพราะเชื่อว่านี่เป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นเขา สื่อสารในภาษาที่คนรุ่นเขาสามารถรับฟังและเข้าถึงได้

แต่นั่นยังไม่เท่ากับว่าสิ่งที่พวกเขาตอกย้ำความเน่าเฟะของนักการเมืองของฝ่ายถือครองอำนาจครอบครองระบอบอยู่นั้นเป็นความจริง กระทั่งพวกเขามองไม่เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงวัยของเขา เมื่อบวกกับห้องเสียงสะท้อนที่คอยตอกย้ำความคิดความเชื่อด้านเดียวและหมกหมุ่นกันอยู่ในถ้ำของข้อมูลฝั่งเดียว ในกลุ่มที่มีความคิดเหมือนกันแล้วมันก็ยิ่งหล่อหลอมให้คนเหล่านี้ชิงชังกับระบอบเดิมและอำนาจรัฐเดิมมากยิ่งขึ้น

ไม่มีใครปฏิเสธว่าทุกระบอบที่จะดำรงอยู่ในสังคมนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปตามวิวัฒนาการของสังคมเพื่อการตั้งอยู่และดับไป อันเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา เมื่อมีเหตุย่อมมีผล และเมื่อเหตุดับผลก็ดับคือเมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้สิ่งนี้จึงดับไป

นอกจากทุกสิ่งจะเป็นไปตามเหตุและผลแล้ว พฤติกรรมของผู้มีอำนาจนั่นแหละที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการทำให้โลกในบงการของสมศักดิ์ ปวินใบนี้เติบโตใหญ่ขึ้นทุกวัน

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น