ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการทวงคืนสมบัติชาติกลับสู่มาตุภูมิ เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนของพลังภาคประชาชนตลอดจนภาครัฐที่มีหัวใจอนุรักษ์หวงแหนสมบัติชาติอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ดังเช่นกรณีล่าสุด “ทับหลังพระยมทรงกระบือ” ที่เคยอยู่คู่กับ “ปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์” และ “ทับหลังพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล” ที่เคยอยู่คู่กับ “ปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว”
ทั้งคู่ถูกพบจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และเตรียมส่งมอบคืนสู่ประเทศไทยในช่วงต้นปี 2564
สำหรับ ทับหลังพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล มีหลักฐานข้อมูลจากกรมศิลปากรได้เขียนบันทึกไว้ประมาณปี 2502 และ ทับหลังพระยมทรงกระบือ มีหลักฐานยืนยันเป็นภาพถ่ายเก่าขาวดำจากการสำรวจโดย มานิต วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดีกรมศิลปากร ระหว่างช่วงปี 2503 - 2504 คาดว่าน่าจะถูกนำออกนอกประเทศในช่วงเดียวกับ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง” ประมาณปี 2508
ย้อนกลับไปยังกรณีทวงคืนโบราณวัตถุครั้งสำคัญ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” จากสถาบันศิลปะในสหรัฐฯ ใช้เวลายาวนานกว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2516 กระทั่งกลับคืนสู่ประเทศไทยในปี 2531 นับเป็นบทเรียนสำคัญ ทำให้ประเทศไทยเริ่มหันมาอนุรักษ์ดูแลมรดกทาวัฒนธรรม เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้คนไทยเรียนรู้และรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุอันล้ำค่าทางประวัติศาสตร์กันอย่างจริงจัง
ทำให้ในปี 2559 หลังมีการพบทับหลังพระยมทรงกระบือที่สูญหายนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะในสหรัฐฯ จึงเกิดกระแสการเรียกร้องทวงคืน “ทับหลังปราสาทโบราณ” โดยคนในพื้นที่ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะนักวิชาการอิสระจากกลุ่มสำนึก ๓๐๐ องค์ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันรัฐบาลทวงคืนสมบัติชาติโบราณวัตถุหลายต่อหลายชิ้นจากต่างประเทศ ซึ่งโบราณวัตถุสมบัติชาติชิ้นสำคัญที่ถูกลักลอบนำประเทศมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ ศิราภรณ์ประดับศีรษะทองคำ โบราณวัตถุยุคบ้านเชียง ฯลฯ
ทั้งนี้ ล่วงเวลาเกือบ 5 ปี “ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว” และ “ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์” กำลังเตรียมกลับคืนสู่ประเทศไทย
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานติดตามโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการที่ที่จัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา และทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ยอมรับว่าทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย ปัจจุบันได้นำทับหลัง 2 ชิ้นดังกล่าวออกจากห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาจัดเก็บในห้องคลัง เพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย คาดการณ์ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะแล้วเสร็จราวเดือน มี.ค. 2564
ย้อนกลับไป ปี 2560 “รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 143/2560 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ ของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยได้มอบหมายให้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการติดตามโบราณวัตถุของไทยกลับคืนสู่ประเทศอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปฏิบัติทวงคืนสมบัติชาติครั้งนี้ กรมศิลปากรได้ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) สหรัฐอเมริกา และส่งข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการสำรวจของกรมศิลปากร ตัวอย่างเอกสารอนุญาตในการส่งออกโบราณวัตถุ เป็นต้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าโบราณวัตถุนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ประเทศสหรัฐฯ ตั้งเป้าปราบปรามเครือข่ายค้าโบราณวัตถุข้ามชาติและการฟอกเงินอย่างเด็ดขาด เดินหน้าสะสางปัญหาขบวนการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายในพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ อย่างเข้มข้น โดยสำนักความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ รัฐบาลสหรัฐฯ หรือ United States Department of Homeland Security ตรวจยึดโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วสหรัฐฯ พร้อมกับส่งคืนสู่มาตุภูมิทำให้หลายประเทศ แทบไม่ต้องเสียเงินจ้างทนายเพื่อทวงคืนสมบัติชาติ
เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ จัดการกลโกงเรื่องภาษี โดยใช้วิธีแกะรอยเครือข่ายค้าโบราณวัตถุที่ทำเป็นขบวนการเป้าหมาย “โกงภาษีชาติ” โดยมีกลวิธีผ่านนักค้าโบราณวัตถุกับภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงประเมินราคาโบราณวัตถุให้สูงลิบ แล้วนำไปบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำไปปลดหย่อนภาษี ได้ประโยชน์ทั้งผู้บริจาคและเจ้าของพิพิธภัณฑ์
นายดำรง ลีนานุรักษ์ อนุกรรมการด้านกฎหมายติดตามโบราณวัตถุ เปิดเผยว่าไทยตั้งเป้าทวงคืนวัตถุโบราณในสหรัฐฯ เพราะเป็นโอกาสทองในการที่ใช้สิทธิ์ทวงคืนสมบัติชาติ เนื่องจากสหรัฐฯ มี พ.ร.บ.ขโมยทรัพย์สินแห่งชาติ และการคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยไปยังชาวต่างชาติโดยชอบธรรมมานานกว่า 30 ปีแล้วในการปราบปรามการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายในสหรัฐฯ หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุจากต่างประเทศ ปี 2560 ไทยสบโอกาสเดินหน้าทวงคืนสมบัติชาติกลับคืน อาทิ พระสำริดกรุประโคนชัยอายุ 1200 ปี จำนวน 18 องค์ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ทับหลังเขาโล้น ฯลฯ ที่ถูกโจรกรรมไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์อย่างผิดกฎหมาย
นายเจสัน เฟล์ช อดีตนักข่าวสืบสวนการค้าโบราณวัตถุของลอสเองเจลลิส ไทม์ส เปิดเผยว่ากรณีโบราณวัตถุของไทยมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ ด้วยวิธีการผิดกฎหมาย เกิดจากขบวนการลักลอบค้าวัตถุโบราณ ซึ่งบ่อยครั้งมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยส่งวัตถุโบราณออกนอกประเทศทั้งนั้น ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่าวัตถุโบราณเป็นของโจรกรรม ไม่มีหลักฐานยืนยันการครอบครองที่ถูกต้อง สามารถดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลให้ส่งกลับคืนสู่มาตุภูมิโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม เส้นทางโจรกรรมวัตถุโบราณของไทยในยังต่างประเทศ มีปลายทางยอดนิยมอยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของไม่รู้ตนว่าครอบครองโดยผิดกฎหมาย นิยมนำไปบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับรัฐบาล และหากรัฐบาลตรวจพบเป้นวัตถุโบราณที่ครอบครองโดยผิดกฎหมาย จะไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้ง มีความผิดในฐานโกงภาษีนำไปสู่ดำเนินคดี
ข้อมูลจากการกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2557 - 2562 ระบุว่าประเทศไทยได้รับส่งมอบคืนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุทั้งหมด 751 รายการ จากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ทั้งนี้ ยังมีอีกประมาณ 260 รายการ ที่ยังต้องดำเนินการติดตามทวงคืน
อย่างไรตาม ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของปฏิบัติการทวงคืนโบราณวัตถุคืนเท่านั้น เพราะสัดส่วนคิดเป็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของสมบัติชาติที่ถูกโจรกรรมส่งออกไปทั่งโลก ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังสืบไม่พบ
ปฎิบัติการทวงคืนสมบัติชาติยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น