xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเมตตา“9ปลดแอก”รอดคุก “อานนท์”ไม่เข็ดขอนำม็อบต่อ ก.ศึกษาฯสั่งเปิด รร.ฟัง นร.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ตำรวจตามรวบ 9 แกนนำม็อบปลดแอก โดยแจ้งความฐานสร้างความปั่นป่วน-กระด้างกระเดื่อง บช.น.ยันทำตามหลักกฎหมาย นำตัวขึ้นศาลฝากขังผลัดแรก ศาลเมตตาให้ประกับตัวทั้ง 9 คน เงื่อนไขห้ามกระทำซ้eข้อหาเดิม

วานนี้ ( 20 ส.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ฐานะโฆษก บช.น. แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับกุมผู้ชุมนุมทางการเมืองว่า ด้วยวันที่ 19 - 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ทาง บช.น. ได้ทำการจับกุมแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุมต่างๆ ในห้วงที่ผ่านมา รวม 9 ราย ซึ่งเป็นการจับกุมตามหมายจับศาลอาญา ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ปราศรัยกิจกรรม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์ฐานสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะฯ เป็นต้น ไว้ที่ สน.ชนะสงคราม และถูกจับกุมที่หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 19 ส.ค. จากนั้นนำตัวส่ง สน.ชนะสงคราม ดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนอีก 8 รายเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรว่ามีแกนนำหลายรายได้กระทำความผิดอาญา เป็นกรณีที่จะขออนุมัติศาลออกหมายจับและศาลได้ออกหมายจับตามกรณีดังกล่าว โดยได้มีการจับกุมแกนนำในห้วงก่อนหน้านี้ไปแล้ว จำนวน 3 ราย คือ นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายอานนท์ นำภา และ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เมื่อวันที่ 19 - 20 ส.ค.ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวแกนนำตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 11 ส.ค.63 เพิ่มเติมอีก จำนวน 8 ราย ได้แก่ นางสุวรรณา ตาลเหล็ก ตัวแทนกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย, นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 ส.ค., นายกรกช แสงเย็นพันธ์ แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก, นายทศพร สินสมบุญ แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก, นายเดชาธร บำรุงเมือง หรือ ฮอคกี้ Hockhacker ศิลปิน RapAgainstDictatorship เจ้าของบทเพลง ประเทศกูมี, นายธานี สะสม แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก, นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ และนายธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ บุ๊ค แร็ปเปอร์วง Eleven Finger วัย 19 ปี ในข้อหาทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ และร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ เป็นต้น

"บช.น. ขอเรียนให้ทราบว่า การดำเนินคดีและการจับกุมแกนนำจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของผู้ถูกจับกุม ได้ให้แพทย์ตรวจร่างกาย แจ้งสิทธิ และควบคุมตัวตามกฎหมาย" รองผบช.น. กล่าว

โดยพนักงานสอบสวน สน.สงคราม และสน.สำราญราษฎร์ ได้นำตัวนายอานนท์ และอีก 8 ผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลฝากขังต่อศาลอาญา ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวน ระบุว่า ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาจะครบกำหนด 48 ชม. หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานอีก 6 ปาก รอผลตรวจตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ซึ่งหากผู้ต้องหายื่นขอประกันตัว ทางพนักงานสอบสวนไม่ประสงค์จะคัดค้านการประกัน จึงขออนุญาตฝากขังผู้ต้องหา ครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20-31 ส.ค.63 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และทนายความของผู้ต้องหาทั้งหมดยื่นคำคัดค้านคำร้องขอหมายขังดังกล่าว

ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณาชั่วคราว โดยมีประกันในวงเงินคนละ 1 แสนบาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน ศาลได้แจ้งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวและปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว ทั้งนี้มีรายงานว่า มีนักวิชาการ, ส.ส.พรรคก้าวไกล และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวม 9 ตนได้ใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด

ภายหลังได้รับการปล่อยตัว นายเดชาธร บำรุงเมือง หรือ ฮ็อกกี้ กล่าวขอบคุณศาลที่เมตตา ร่วมถึงประชาชนและทุกฝ่ายที่ติดตามให้กำลังใจ ยืนยันจะเคลื่อนไหวโดยร้องเพลงแรปตามเวทีต่าง ๆ เพราะเชื่อเพลงสามารถใช้แสดงออกทางความคิดได้ และเพลงประเทศกูมีก็ไม่ผิดกฎหมาย

ขณะที่ นายอานนท์ นำภา ทนายความ ยืนยันเดินหน้าปราศรัยต่อไป ตามกรอบที่ตัวเองวางไว้ ยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย โดยศาลเป็นผู้บอกเองว่าสามารถร่วมชุมนุมได้ พร้อมระบุว่า ศาลได้ตำหนิเจ้าหน้าที่ว่าควรใช้มาตรการที่มีในการจัดการแก้ปัญหา ไม่ใช่โยนให้ศาลตลอดเพราะอาจเกิดความวุ่นวายได้ ซึ่งหลังจากนี้หากมีการร้องขอออกหมายจับศาลอาจไม่รับคำร้อง

อีกด้าน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ได้พยายามออกไปพูดคุยกับกลุ่มนักเรียนเลว ที่จัดกิจกรรม “เลิกเรียนไปกระทรวง” ทำกิจกรรม ผูกโบว์ขาว เป่านกหวีด ชูสามนิ้ว เพื่อขับไล่นายณัฏฐพล ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ค ระบุว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจเรื่องการชุมชุมตามหลักประชาธิปไตย การเรียกร้องสิทธิ หรือแม้แต่การใช้สัญลักษณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก ถึงแม้จะได้พูดคุยและรับฟังจากน้องๆ นักเรียนแค่บางส่วน เสียดายที่ไม่ได้รับโอกาสให้พูดคุยบนเวทีได้ แต่นับเป็นเรื่องน่ายินดีและขอชื่นชมที่เรามีอนาคตของประเทศที่สนใจและตั้งคำถามกับอนาคตของพวกเขาเอง ทั้งปัญหาทางเพศ การถูกคุกคามในโรงเรียน หลักสูตรการเรียนการสอน งบประมาณการศึกษาที่ถูกตัด การแต่งเครื่องแบบและทรงผม ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา หรืออีกนัยหนึ่งคือ การตั้งคำถามกับสิทธิและเสรีภาพทั้งความคิดและการกระทำ ภายใต้หน้าที่และบทบาทความเป็นนักเรียนในสถานศึกษานั้นมีมากแค่ไหน

“ผมขอชวนน้องๆ นักเรียนมาพูดคุยกันอีกทีนะครับ คราวนี้จะชวนมานั่งในกระทรวงดีกว่า จริงๆ เมื่อวานผมก็ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงช่วยเตรียมเก้าอี้ไว้ที่ลานหน้ากระทรวงนะครับเผื่อได้นั่งคุยกัน แต่น้องๆส่วนใหญ่เลือกอยู่ริมรั้วกระทรวง คราวหน้าเข้ามาคุยกัน และจะได้เล่าให้ฟังว่าที่น้องๆ เรียกร้องได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง สิ่งไหนยังไม่ได้ทำ ก็ได้หาแนวทางร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล หรือมีข้อเรียกร้อง เสนอแนะเพิ่มเติมก็จะได้มาคุยกัน หาทางออกด้วยกันนะ #นัดใหม่ในกระทรวง” นายณัฏฐพล ระบุ

วันเดียวกัน นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ รมว.ศึกษาธิการ ให้โรงเรียนเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน และให้รวบรวมข้อคิดเห็นและสรุปแนวทางแก้ปัญหานั้น วานนี้ (20ส.ค.) สำนักงานปลัดศธ. ได้ ออกหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง การเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ถึงหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด แจ้งให้สถานศึกษาเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียน นักศึกษา โดยนักเรียน นักศึกษาแสดงความคิดเห็นผ่านกิจกรรมของสภานักเรียน หรือ องค์กร/กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้แทนนักเรียน นักศึกษาในระดับสถานศึกษา ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาคำนึงถึงการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ก่อนนำข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษา เสนอต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือ หน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ เพื่อเสนอผู้บริหารกระทรวงต่อไป ภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น