xs
xsm
sm
md
lg

ลุยไฟฟ้าชุมชน สั่งปรับเกณฑ์-ไม่รอแก้PDP ดันงบกองทุนฯสร้างงาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“สุพัฒนพงษ์” สั่งทบทวนหลักเกณฑ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ภายใน 30 วัน ดันเป็น “บทแทรก” ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับปัจจุบัน (PDP2018) แทนฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ประเดิมรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน 200 เมกะวัตต์นำร่อง

วานนี้ (20 ส.ค.) ที่กระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ว่า นโยบายการบริหารงานด้านพลังงานมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้พลังงานขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างรายได้ และวางรากฐานสู่อนาคต รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะบรรเทาค่าครองชีพประชาชนโดยจะเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรึงราคาพลังงาน เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่จะต้องมีการพิจารณารายละเอียดต่อไป

“พลังงานในอนาคตนั้นจะมุ่งเน้นและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นของคนไทย พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ดังนั้นจะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ (Execution) เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในยามวิกฤติโควิด-19 ซึ่งได้มอบให้ผู้บริหารทำแผนระยะ 5 ปี ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้ติดตามได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องมุ่งระยะยาว” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ปรับเกณฑ์ไฟฟ้าชุมชนใน 30 วัน


นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการบริหารส่วนใหญ่ยังเน้นสานงานเดิม โดยเฉพาะเร่งด่วนได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานหาข้อสรุปโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากภายใน 30 วัน โดยมีเป้าหมายเปิดรับซื้อภายในปีนี้ เพียงแต่ให้มั่นใจว่ารายได้นั้น จะต้องตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง เบื้องต้นจะทำเป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้เห็นว่าเกษตรกรเป็นผู้ได้รับประโยชน์ เกิดการจ้างงานและมีรายได้จากการปลูกและขายพืชพลังงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า จึงให้ไปศึกษารายละเอียด ทั้งนี้ การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในทางเทคนิคสามารถดำเนินการได้ โดยจัดทำเป็นบทแทรกอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ และเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยไม่ต้องรอดำเนินการตามแผนPDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่อย่างใด เบื้องต้นคาดว่าอาจจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 100-200 เมกะวัตต์ นำร่องก่อน โดยไม่ระบุว่าเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick win 100 เมกะวัตต์ แต่จะเปิดกว้างให้กับเอกชนและวิสาหกิจที่สนใจด้วย ซึ่งต้องรอผลการศึกษาของกระทรวงพลังงานก่อนว่าปริมาณดังกล่าวเหมาะสมและตรงกับ

วัตถุประสงค์ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกรหรือไม่ คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ในปลายปีนี้ และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 64

“แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เป็นการจัดทำก่อนช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ในขณะที่สถานการณ์ความต้องการใช้พลังงานจากผลกระทบโควิด-19 มีการปรับลดค่อนข้างมาก ดังนั้น การปรับปรุงแผน PDP จึงมีความสำคัญ โดยต้องรอให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคพลังงานค่อนข้างนิ่งเสียก่อน จึงค่อยมาดูเรื่องของการปรับทบทวนแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนไม่จำเป็นต้องรอให้แผน PDP ฉบับปรับปรุง เพราะสามารถทำเป็นบทแทรกเพื่อขอความเห็นตามขั้นตอนของกระทรวงพลังงานได้เลย” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

งบกองทุนฯเน้นกระจายรายได้


นายสุพัฒนพงษ์ ยังได้กล่าวถึงนโยบายอื่นๆด้วยว่า ในส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่เปิดรับซื้อไฟส่วนเกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ต้องการให้เพิ่มอัตรารับซื้อ แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟจนเกินไป จึงให้ไปศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคประชาชนก็ยังคงดำเนินการในส่วนนี้ ไม่ได้ยกเลิกอะไร แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนนักยังมีเวลา นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปีงบประมาณ 2564 โดยการบริหารงานขณะนี้ที่มีการกลั่นกรองโครงการแล้วในส่วนของงบปี 2563 ก็จะเดินหน้าต่อไปเพื่อนำไปสู่การพิจารณาอนุมัติ ขณะเดียวกัน จากการหารือร่วมกับรัฐและเอกชนด้านพลังงานได้มอบหมายให้ช่วยกันคิดว่าจะช่วยแก้ไขเศรษฐกิจได้อย่างไร โดยเฉพาะรองรับการจ้างงานของนักศึกษาจบใหม่ 4-5 แสนคน และการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์

“จะเร่งรัดการอนุมัติโครงการภายใต้กองทุนอนุรักษ์ฯ ปี 2563 วงเงิน5.6 พันล้านบาท ที่ผ่านการพิจารณาจากอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการโดยเร็ว ส่วนการจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ ประจำปี 2564 นั้น จะมีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้เน้นเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้เพื่อกระจายสู่ท้องถิ่นเป็นหลัก แต่จะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงินของกองทุนฯด้วย” รมว.พลังงาน ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น