xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมจึงมีครุยวิทยฐานะพระราชทาน? แล้วฉันจะค้านต่อต้านสังคม จะแต่งอย่างไรก็ได้

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
น้องใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ปี 2537
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


วันนี้เกิดมีเหตุวิวาทะในห้องรวมพลคนอักษร อันเป็นห้องใน Facebook ของนิสิตเก่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อรองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา (วินิจฉัยกุล) ดิถียนต์ หรือแก้วเก้าหรือ ว. วินิจฉัยกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้เขียนกลอน ว่า 
 
สู้เหนื่อยยากพากเพียรเรียนศึกษา เป็นบัณฑิตจุฬาฯสง่าศรี
กว่าได้ครุยพระราชทานก็นานปี ถูกย่ำยีเหลือจะกล่าวร้าวรานใจ


เพื่อวิพากษ์การแต่งชุดครุยบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การสวมรองเท้าผ้าใบ การใส่หน้ากากผี หน้ากากขาว ในขณะที่ผู้หญิงบางคนสวมกางเกงขายาวแต่สวมครุยทับอย่างไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติชุดครุยของสถาบันที่ตัวเองสำเร็จการศึกษามา (หรือไม่? หรืออาจจะแค่แอบอ้างเป็นบัณฑิตจุฬา?)


หลังจากนั้นก็มีทัวร์ลงด้วยถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย กร่าง อยู่มากพอสมควร จนน่าตกใจ






พักเรื่องวิวาทะ แล้วเรามาทำความเข้าใจประวัติความเป็นมาของครุยให้เข้าใจรากเหง้าความสำคัญกันดีกว่า

ครุยหรือ gown คือ ชื่อเสื้อจำพวกหนึ่ง ใช้สวมหรือคลุม มีหลายชนิด ใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศหรือแสดงหน้าที่ในพิธีการหรือแสดงวิทยฐานะ (พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554) ในเมื่อครุยนั้นเป็นเครื่องสวมใส่สำหรับประดับเกียรติยศ ผู้ที่มีเกียรติยศก็สมควรที่จะให้เกียรติตัวเองและให้เกียรติกับครุยที่ตนเองสวมใส่ โดยเฉพาะที่มาของครุยซึ่งมีประวัติศาสตร์และที่มา เสื้อครุยนั้นเชื่อมโยงกับศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ที่บาทหลวงสวมใส่ในการประกอบพิธีทางศาสนาในโบสถ์ โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสวมครุยในมหาวิทยาลัย

สำหรับประเทศไทย หลักฐานการสวมครุยเก่าแก่ที่สุดย้อนหลังไปจนสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีจิตรกรชาวฝรั่งเศสวาดภาพพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือออกพระวิสูตรสุนทรในขณะนั้นสวมครุยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายล์ และมีหลายคนสันนิษฐานว่าขนบการสวมครุยของไทยน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซียหรืออิหร่านมากกว่าชาติตะวันตก

การสวมเสื้อครุยเพื่อประดับเกียรติยศ แบ่งเป็นหลายวัตถุประสงค์หรือตามเกียรติยศของผู้สวมใส่ น่าจะแบ่งได้ 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

หนึ่ง ครุยพระราชวงศ์ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสวมในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ฉลองพระองค์ครุยองค์ที่สำคัญที่สุดคือ ฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชภูษิตาภรณ์ หรือฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี ซึ่งปักทองแล่ง (นำทองคำแท่งมารีดเป็นเส้นและปักประทับบนฉลองพระองค์ครุย) อันเป็นงานฝีมืออันปราณีตสมบัติของชาติอันควรแก่ความภาคภูมิใจ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี ทรงสวมในพระราชพิธีอันสำคัญได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จออกมหาสมาคม เป็นต้น


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสวมฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีหรือฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชภูษิตาภรณ์ เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ให้ปวงชนชาวไทยได้กราบทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

สอง ครุยเสนามาตย์ เป็นครุยสำหรับขุนนางผู้มีตำแหน่งสำคัญหรือผู้ที่มีตำแหน่งเฝ้าต่อหน้าฝ่าละอองธุลีพระบาท

ทั้งนี้ตามพระราชกำหนดเสื้อครุย 2457 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กำหนดว่าผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นต่างๆ จะสามารถสวมครุยประดับตราจุลจอมเกล้าได้ ดังรูปด้านล่างนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สวมครุยประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า


ในสมัยปัจจุบันกำหนดให้ประธานของสามอำนาจอธิปไตยคือ นายกรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) ประธานรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) และประธานศาลฎีกา (ฝ่ายตุลาการ) สามารถสวมใส่ครุยเสนามาตย์ได้ เช่น สวมใส่เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรในวโรกาสเสด็จออกมหาสมาคม ในรูปด้านล่างนี้นักโทษหนีคดีหญิงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สวมชุดครุยเสนามาตย์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมในปี 2555 แม้ว่าจะไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าใดๆ แต่โดยตำแหน่งเฝ้าก็สวมครุยเสนามาตย์ได้ตามหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ


รวมไปถึงพระยาแรกนาซึ่งผู้รับตำแหน่งทำหน้าที่นี้ถวายเสมอคือปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพระยาแรกนาจะสวมครุยพระยาแรกนาขณะประกอบพิธีหน้าพระที่นั่ง


เช่นเดียวกันกับพราหมณ์ราชสำนักที่ร่วมเดินส่งเสด็จระยะสุดท้ายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพก็สวมครุยพราหมณ์ราชสำนักและเปลือยผมมวยเป็นการถวายความอาลัยสูงสุดในกระบวนแห่พระเมรุมาศ


และผู้พิพากษาผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยก็สวมครุยตุลาการบนบัลลังก์ศาลตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ดังกล่าว อันเป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นครุยเสนามาตย์อันเป็นครุยเกียรติยศของผู้ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศหรือมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อหน้าพระพักตร์

สาม ครุยวิทยฐานะ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Academic gown อันเป็นครุยแสดงฐานะความรู้ของผู้ได้รับปริญญาหรือมีหน้าที่ให้การศึกษา ในต่างประเทศทุกมหาวิทยาลัยมีการสวมเสื้อครุยและมีการ hooding อันเป็นการเชื่อมโยงกับศาสนจักร ดังที่ได้เล่าไว้ใน ทำไมจึงมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในประเทศไทย? https://mgronline.com/daily/detail/9630000081597 ดังที่ผู้เขียนเองได้รับปริญญาในโบสถ์เก่าแก่อายุนับร้อยปีของมหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เป็นคน hooding ให้ หน้าแท่นประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มหาวิทยาลัยแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีครุยหรือ academic gown หลากสีสัน มีการกำหนดสัญลักษณ์และสีของครุยและแถบสีต่างๆ ให้เป็นของคณะและของมหาวิทยาลัยตามปรัชญาความเชื่อและประวัติความเป็นมา

ครุยวิทยฐานะของไทย ที่เป็นครุยพระราชทานนั้นมีเพียงสามสถาบัน

หนึ่ง ครุยอาจารย์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานครุยจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่ผู้ตรวจการพิเศษ กรรมการ อาจารย์ และครูของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ดังรูปด้านล่างนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อคราเสด็จพระราชดำเนินเหยียบวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในรัชกาลตามพระราชประเพณีในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐

ภาพจาก http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal98.htm
สองครุยเนติบัณฑิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ. 2457 ดังรูปด้านล่างนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิต ที่แสนงามสง่า


และสาม ครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำเนิดจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัตร อย่างไรก็ตามทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้ใช้เข็มวิทยฐานะเป็นรูปตราพระเกี้ยวประดับที่อกเสื้อได้เพื่อเป็นเกียรติยศ ดังปรากฎในระเบียบการทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อ 13 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2457 ความว่า

นิสสิตของโรงเรียน เมื่อสอบไล่ได้เป็นบัณฑิตแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เสื้อครุยสำหรับเกียรติยศบัณฑิตได้ และจะมีเข็มตราโรงเรียนสำหรับประดับอกเสื้อข้างซ้ายเป็นเกียรติยศด้วย ข้างหลังเข็มจารึกนาม และปีที่ได้เป็นบัณฑิต ส่วนศิษย์ที่สอบไล่ได้แต่เพียงประกาศนียบัตร์ของโรงเรียนนั้น จะมีแต่เข็มตราของโรงเรียน สำหรับประดับอกเสื้อข้างขวา เมื่อได้ออกรับราชการแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และทั้งเจ้ากระทรวงที่นักเรียนผู้นั้นรับราชการอยู่มีความเห็นชอบด้วยว่ารับราชการเรียบร้อยดี


จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงรับเป็นพระธุระในการพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาโดยขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ Rockefeller และสามารถจัดการศึกษาถึงระดับปริญญา เวชชบัณฑิต หรือแพทยศาสตร์บัณฑิตในปัจจุบัน ได้เป็นรุ่นแรกในปี 2471 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จึงได้มีความคิดที่จะออกแบบเสื้อครุยพระราชทานให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบบที่ออกแบบนั้นมีอยู่ห้าแบบด้วยกัน และได้นำแบบทั้งห้ากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้นำแบบครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ออกแบบไว้เข้าไปพิจารณาในที่ประชุมเสนาบดีสภา จนได้แบบชุดครุยพระราชทานมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้มีการตราพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2473 ด้วยแบบผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นในบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง และซ่อนความหมายของครุยพระราชทานผ่านศิลปะการออกแบบอันแยบคายดังนี้

พื้นของสำรด ซึ่งบูรพาจารย์และศิลปินในอดีตได้เลือกสักหลาดเป็นพื้นสำรดสีดำ สำหรับบัณฑิตและมหาบัณฑิต ระดับดุษฎีบัณฑิตใช้พื้นสำรดสีแดงชาด และใช้สีเหลืองสำหรับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก ท่านผู้รู้ทั้งศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี และประวัติศาสตร์ อธิบายว่า การใช้สีดำเป็นการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์ จึงโปรดเกล้าฯให้ใช้สีดำหรือน้ำเงินเข้มเป็นสีประจำพระองค์ การใช้สีแดงชาดเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ใช้สีบานเย็นสำหรับกรม มหาดเล็กและโรงเรียนมหาดเล็กใช้สีแดงชาดสำหรับสีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำรัชกาล (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า) แต่ในชั้นหลังต่อมาใช้สี ชมพู ส่วนการใช้สีเหลืองเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ และใช้กับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกเท่านั้น https://sites.google.com/site/chulalonguniversity/seux-khruy-phrarachthan




ในพระบรมฉายาลักษณ์ด้านบน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสวมฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีสีเหลืองเป็นพื้นสีของสำรด รับการทูลเกล้าถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกจากนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื่องจากครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครุยพระราชทาน และมีผู้ปลอมแปลง ทำเลียนแบบ แอบอ้าง ว่าเป็นบัณฑิตจุฬา ทำให้ พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 หมวด 8 ได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการใช้ครุยอย่างไม่ถูกต้องหรือแอบอ้างดังนี้

มาตรา 69 ผู้ใดใช้ครุยพระบรมราชูปถัมภก ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องต่างกายของนิสิตและผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย หรือสิ่งใดที่เลียนแบบสิ่งดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใดๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะหรือมีตำแหน่งเช่นนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 70 ผู้ใด
(1)ปลอม หรือทำเลียนแบบซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะทำเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใดๆ
(2)ใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยปลอมหรือซึ่งทำเลียนแบบ หรือ
(3)ใช้ หรือทำให้ปรากฎซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ โดยฝ่าฝืนมาตรา 67 วรรคสาม
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) เป็นผู้กระทำผิดตาม (2) ด้วย ให้ลงโทษตาม (2) แต่กระทงเดียว
ความผิดตาม (3) เป็นความผิดอันยอมความได้

อาจจะกล่าวได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับพระราชทานครุยของมหาวิทยาลัยสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต อีกทั้งครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีกฎหมายกำกับและมีบทลงโทษหากมีการปลอมแปลงแอบอ้างสวมใส่

อย่างไรก็ตามไม่ได้มีกฎหมายห้ามว่าจะสวมใส่ครุยพระราชทานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแบบใดได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละปัจเจกบุคคลว่าเมื่อได้สวมชุดอันแสดงเกียรติยศแล้ว จะรู้จักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และมีเกียรติพอที่จะให้เกียรติตนเองให้สมกับเกียรติยศที่ได้รับมาจากความพากเพียรของตนเองจนสำเร็จการศึกษาหรือไม่

ผมคิดว่าขณะนี้ ท่าทีของเยาวชน นิสิต นักศึกษา นักเรียนบางคน ค่อนข้างไม่น่ารักเลย ประชาธิปไตยของน้องๆ หลายครั้ง ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย ที่เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่น้อย

แค่ ณเดช คุกิมิยะ หรือ ดาราอีกหลายคน โพสต์ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ไปถล่มเขาในโลกออนไลน์ ด่าทออย่างหนักหน่วง พาทัวร์ไปลง นิสัยนี้ปวินที่โตเกียวก็ทำแบบนี้ และคงเป็นต้นแบบที่ไม่ดีด้วย พฤติกรรมประชาธิปไตยปากว่าตาขยิบ มือถือสากปากถือศีล เรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง แต่ไม่เคารพสิทธิ์ของคนอื่น นี่หรือคือประชาธิปไตย ใครเห็นต่างพากันมารุมถล่ม เป็นการระรานไม่เคารพสิทธิ์และความคิดเห็นของคนอื่น แต่เรียกร้องมากมายเหลือเกิน ละเมิด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นที่ตนเองเรียกร้องกันหนักหนา

พฤติกรรมแบบนี้ เกิดขึ้นมากหลัง 14 ตุลาคม 1516 และมีความหยาบกระด้างกร่างรุนแรงที่สุดก่อน 6 ตุลาคม 2519 ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเป็นซ้ายกันไปทั้งหมด หัวหน้าขบวนการนักศึกษาไปตรวจตาชั่งแม่ค้าในตลาดว่าโกงตาชั่งหรือไม่ โดยที่ตนเองไม่ได้มีอำนาจหน้าที่หรือถืออำนาจรัฐใดๆ ในการตรวจตาชั่ง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในยุคนั้นเกลียดชังนักเรียนนิสิตนักศึกษากันมากมาย

ผมได้รับฟังมาว่าในราวปี 2518 นักศึกษาไปส่งเสริมให้สหภาพแรงงานยึดโรงงานจากนายทุน โรงงานนั้นคือโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ยี่ห้อดังของบิดานักการเมืองชื่อดังคนหนึ่ง แล้วเอามาบริหารกันเอง เอาอำนาจเถื่อนอันใดไปยึดโรงงานมาจากนายทุนก็ไม่ทราบ แต่บริหารกันเองได้หกเดือนก็เจ๊งไม่เป็นท่าทั้งๆ ที่ได้โรงงานกันมาฟรีๆ ไม่มีต้นทุนอันใดเลย

พฤติกรรมเช่นนี้ ไม่ได้แตกต่างจากยุวชนเรดการ์ดแต่อย่างใด ที่ไม่ยอมรับความเห็นต่าง และต่อต้านขัดขืนสังคม อะไรที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ต้องต่อต้านไปให้หมด ต่อต้านพ่อแม่ บุพการี ไม่ให้มีความกตัญญูกตเวที พฤติกรรมเยี่ยงยุวชนเรดการ์ดของน้องๆ เป็นสิ่งที่น่ากลัว และเป็นอันตรายกับตัวน้องๆ เอง ใครจะรับเข้าทำงาน สมัยนี้เขาสืบประวัติทางออนไลน์ได้ง่ายมากเหลือเกิน

เรื่องที่ใส่ชุดครุยโดยไม่เหมาะสมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านสังคม อะไรที่สังคมเห็นว่าดีงามในแง่วัฒนธรรม ก็จะต้องโจมตีว่าไม่จำเป็นและคร่ำครึเอาไว้ก่อน ไม่เคารพความเห็นต่าง กร่างเอาแต่ความเห็นของตนเป็นใหญ่ใช่หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น