เป็นเรื่อง “ต่อตระกูล” ไม่ทน! เปลี่ยนสัญลักษณ์ จาก “พระเกี้ยว” เป็น “ว่าวจุฬา” เพราะเชื่อประวัติศาสตร์ใหม่ ที่ “สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ” เขียนขึ้น ด้าน “อัษฎางค์-กิตติธัช” ใจตรงกัน เผยความจริง เปิดโปง “นิยายใส่ร้ายเจ้า”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (16 ส.ค. 63) เฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาค ของ รองศาสตราจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิษย์เก่าจุฬาฯ โพสต์หัวข้อ “นิสิตเก่าจุฬาฯสุดจะทนไหว!”
โดยระบุว่า “เห็นคนรุ่นหลังสร้างตราใหม่และยกย่องคณะราษฎร เป็นผู้มอบที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แทน ร.5
นิสิตจุฬาฯ ปัจจุบันกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า คณะจุฬาฯ ได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ จากพระเกี้ยว เป็น ว่าวจุฬา โดยมีข้อความล้อมรอบตราว่าวจุฬา ว่า :
“ณ ที่นี้ คณะราษฎร ได้ยกให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อก่อเกิดประโยชน์แก่การศึกษาของชาติ”
โดยอ้างประวัติศาสตร์ ความเป็นมาการก่อตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนใหม่โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ว่า :
...“... เดือนตุลาคม พ.ศ. 2482 รัฐบาลคณะราษฎรได้ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่บริเวณตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จากถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 เนื้อที่ 1,196 ไร่ 32 ตารางวา ให้เป็นทรัพย์สินเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งหมด...”...
ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ เฟซบุ๊ก Kittitouch Chaiprasith ของ ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้านปรัชญาการเมือง โพสต์ข้อความระบุว่า
“อันนี้ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนเลยว่า พวกเขาพยายามจะรื้อประวัติศาสตร์มาเขียนใหม่ โดยการบอกว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดขึ้นได้เพราะคณะราษฎร ไม่ใช่โดยในหลวงรัชกาลที่ 5-6
การเอาตราพระเกี้ยวทิ้ง เปลี่ยนตราใหม่ เขียนคำรอบวงกลมตราว่าวจุฬฯ ว่า “ณ ที่นี้ คณะราษฎร ได้ยกให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อก่อเกิดประโยชน์แก่การศึกษาของชาติ” เป็นหลักฐานที่ชัดเจน
#ข้อเท็จจริง
คณะราษฎร ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพียงแต่การโอนย้ายที่ดินจากที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. หนึ่งในคณะราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรี (2482) เท่านั้น”
แล้วแปลกดีนะครับ เวลามีเรื่องแย่ๆ ทางการเมือง คนกลุ่มเหล่านี้ชอบอ้างว่า เจ้า/ในหลวง “บงการอยู่เบื้องหลัง” เนื่องจากต้องเซ็นลงนาม (ลงพระปรมาภิไธย) ในเอกสารรับรองฝ่ายรัฐบาล/คณะรัฐประหาร
แต่กรณีแบบนี้ จอมพล ป.เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ กลับไม่ให้บอกว่า เป็นดำริของในหลวงบ้าง?”
ด้าน เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ชี้แจงละเอียดยิบ ระบุว่า
“ที่ดิน 1,309 ไร่ ของจุฬาฯ คือ ที่ดินจากพระคลังข้างที่ สมบัติของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงยกให้มหาวิทยาลัยเพื่อจัดการสอนเพื่อลูกหลานไทยทุกคน”
“ไม่ใช่คณะราษฎร์ยกให้จุฬาฯ”
............................................................................
“เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะให้ได้มีโอกาศเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉนั้น จึงขอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตสาห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ พุทธศักราช 2427
จะเห็นได้ว่า ทรงมีปณิธานชัดเจนที่จะมอบการศึกษาให้กับประชาชนไทยทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น อย่างเท่าเทียมกัน
............................................................................
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 (นับแบบเก่า) ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง
หลังสำเร็จการศึกษาให้นักเรียนเหล่านี้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก จึงมีการเปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 เพื่อเป็นรากฐานของสถาบันการศึกษาขั้นสูงต่อไป
............................................................................
ต่อมาทรงเห็นว่า ควรขยายกิจการให้กว้างขวางตามพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่และถาวรในสมเด็จพระบรมชนกาธิราช
พระองค์จึงได้พระราชทาน “เงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า” จำนวนเก้าแสนกว่าบาท ให้ใช้เพื่อสร้างอาคารเรียนและเป็นตึกบัญชาการ
บนที่ดินของ “พระคลังข้างที่” จำนวน 1,309 ไร่ อยู่ที่อำเภอปทุมวัน และเงินที่เหลือจากการสร้างก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อกิจการของโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนิน และทรงวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458
โดยมีการจัดการศึกษาใน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนคุรุศึกษา (โรงเรียนฝึกหัดครู) โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนเนติศึกษา (โรงเรียนกฎหมาย) และโรงเรียนยันตรศึกษา
............................................................................
***ที่ดิน 1,309 ไร่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือที่ดินจากพระคลังข้างที่ ซึ่งก็คือที่ดินของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 ที่ทรงยกให้มหาวิทยาลัยเพื่อจัดการสอนเพื่อลูกหลานไทยทุกคน
สมบัติจากพระคลังข้างที่ ที่คณะราษฎร์ยึดไปจากพระมหากษัตริย์ แล้วใช้ภาษากฎหมายสร้างคำว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินของพระองค์ แต่รัฐบาลคือเจ้าของตัวจริงที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของพระองค์นั้น
แล้วไอ้โม่งก็เอาความเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของรัฐบาล ไปเป่าหูชาวโลกและชาวบ้านว่า เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของในหลวง ปล่อยข่าวว่าในหลวงรวยที่สุดในโลก ในขณะที่คนไทยยากจน
............................................................................
***ทุนเริ่มต้นสำหรับก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มาจากเงินรับบริจาคจากประชาชน
เงินบริจาคแบบเดียวกันนี้ ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน เรียกร้องไม่ให้พระมหากษัตริย์รับเงินบริจาค
ทั้งๆ ที่เงินบริจาคทั้งหลายของพระมหากษัตริย์นั้น ทรงพระราชทานกลับมาเพื่อสาธารณประโยชน์เสมอมา แต่เด็กโดนไอ้โม่งหลอกว่า ในหลวงเอาเงินบริจาคไปใช้ส่วนตัว
............................................................................
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สังกัดกระทรวงธรรมการ
............................................................................
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ใช้
*** “ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นที่ปลูกสร้างสถานศึกษา”
***“และอีกส่วนหนึ่งให้ใช้จัดหาผลประโยชน์เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนซึ่งจะต้องเติบโตขึ้นในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว”
พบหลักฐานว่า มีการปรับรูปแบบการจัดการที่ดินเชิงพาณิชยกรรมมาโดยตลอด นับแต่ประดิษฐานมหาวิทยาลัย
โดยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยในเขตปทุมวัน มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามลักษณะการใช้พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตการศึกษา 595 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 184 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 374 ไร่ รวม 1,153 ไร่
โดยแต่เดิมพื้นที่ทั้งหมดมี 1,309 ไร่ แต่ในปัจจุบันวัดได้ 1,153 ไร่ เพราะตัดที่ดินส่วนที่ใช้เป็นถนนและซอยต่างๆ ในเขตที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไป
พื้นที่พาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น แยกออกจากพื้นที่การศึกษาเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน โดยพื้นที่เขตพาณิชย์จะเป็นส่วนมุมของที่ดิน ซึ่งมีถนนสายสำคัญตัดผ่านเพื่อเป็นประโยชน์แก่การเดินทางและการค้าขาย โดยมีพื้นที่พาณิชย์ทั้งหมด 374 ไร่ ปัจจุบันสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์เหล่านี้
............................................................................
มีไอ้โม่งปล่อยข้อมูลเท็จหลอกนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน ว่า
ผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
**ต้องทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าว จากกรมพระคลังข้างที่
โดยเก็บผลประโยชน์ที่ได้จากการทำประโยชน์ที่ดินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินบำรุงกิจการโรงเรียนและอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเช่าจ่ายให้แก่กรมพระคลังข้างที่
ซึ่งที่ดินของจุฬาฯ เป็นกรรมสิทธิ์ของพระคลังข้างที่ ทำให้พระคลังข้างที่สามารถบังคับให้ขึ้นค่าเช่าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือไม่ต่อสัญญาเช่าได้ด้วย
**พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานที่ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
**เพื่อต้องการนำเงินค่าเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา
ที่แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า...
ยกที่ดินให้จุฬาฯ ด้วยอุบายแนบเนียนเพียงเพื่อต้องการหารายได้จากค่าเช่า เพื่อเอาไปปรนเปรอ บํารุงบําเรอเลี้ยงดูผู้หญิง
***โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ใช่ปทุมวัน ที่ตั้งของจุฬาฯ ในปัจจุบัน
............................................................................
เวลารับข้อมูลข่าวสารใดๆ ให้อ่านช้าๆ ซ้ำๆ และพิจารณาหลายๆ รอบ และถ้ายังจับผิดไม่ได้ ให้หาข้อมูลเพิ่มเติม
จากกรณีนี้ท่านเห็นความผิดปกติของข้อมูลที่เป็นข้อกล่าวหาหรือไม่
มีไอ้โม่งสร้างนิยายการเมืองที่เป็นข้อมูลเท็จกล่าวหา ว่า
“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงพระราชทานที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการนำเงินค่าเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา
แล้วต่อมาจอมพลชื่อแปลก คืออัศวินขี้ม้าขาวที่ทำเรื่องปลดแอกที่ดินจากพระคลังข้างที่ แล้วยกที่ดิน 1,309 ไร่ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจฬาฯ
............................................................................
แต่ความจริง ที่ดิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมี 1,309 ไร่ ที่ได้มาจากพระคลังข้างที่นั้น เกิดขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
รัชกาลที่ 6 เป็นผู้ยกที่ดินจากพระคลังข้างที่ จำนวน 1,309 ไร่ ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไม่ใช่รัชกาลที่ 5 ตามที่ไอ้โม่ง ที่รู้ประวัติศาสตร์ครึ่งๆ กลางๆ เขียนขึ้นมาหลอก ปัญญาชนที่ปัญญาอ่อน
และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ยังระบุพระราชประสงค์ในการใช้ที่ดินของจุฬาฯ อย่างชัดเจนว่า...
*** “ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นที่ปลูกสร้างสถานศึกษา”
***“และอีกส่วนหนึ่งให้ใช้จัดหาผลประโยชน์เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนซึ่งจะต้องเติบโตขึ้นในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว”
............................................................................
เนื้อความที่ว่า รัชกาลที่ 5 ปล่อยที่ดินให้จุฬาฯ เช่าเพื่อเอาเงินไปเลี้ยงผู้หญิง มันต่างจากความจริงที่ว่า
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีจุดกำเนิดจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วในเวลาต่อมาได้ยกวิทยฐานะ และก่อตั้งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมที่ดิน 1,309 ไร่ ในสมัยรัชกาลที่ 6
เรื่องที่ รัชกาลที่ 5 เอาที่ดินมาให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่า เพื่อหาเงินไปปรนเปรอ บํารุงบําเรอเลี้ยงดูผู้หญิงได้ยังไง ในเมื่อเหตุการณ์ยกที่ดินให้จุฬาฯ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีพระราชินีเพียงพระองค์เดียว
............................................................................
ที่มา : กูเกิล วิกิพีเดีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แน่นอน, ประวัติศาสตร์การต่อสู้ กับประวัติศาสตร์อันแท้จริงนั้น เห็นได้ชัดว่า แตกต่างกัน ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันด้วย เพราะประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนนั้น ก็เพื่อดิสเครดิต หรือ ให้ร้ายเพื่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาได้ง่าย แต่ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ย่อมบันทึกความจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อการศึกษาและสร้างความภาคภูมิใจให้คนรุ่นหลัง
นี่อาจเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า อะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ สำหรับวิญญูชนผู้ได้ชื่อว่า “ปัญญาชน” ก็ลองคิดดู!!!