xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมจึงมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในประเทศไทย?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเข้าเรียนปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2537 และได้รับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2541

ก่อนหน้านั้นสองปี คือ ในปี 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประชวรด้วยโรคพระหทัยและไม่อาจจะเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรได้ด้วยพระองค์เอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร เป็นพระราชภาระอันหนักอึ้ง ต้องทรงประทับนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลาติดต่อกันนานหลายชั่วโมง และต้องยกใบปริญญาบัตรด้วยข้อพระหัตถ์พระราชทานบัณฑิตนับร้อยนับพัน

อาจารย์ผู้ทำหน้าที่ฝึกซ้อมซึ่งต้องทำหน้าที่ในการให้ปริญญาบัตรนั้นหลายคนเมื่อกลับไปบ้าน ด้วยอายุและสังขารทำให้ปวดไหล่และปวดแขนกันไปมากมายหลายคน

เรื่องนี้ผมได้ยินมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตที่จุฬา ปกติการซ้อมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มักเป็นอาจารย์อาวุโส อายุมาก เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติเป็นอย่างดี เมื่อทำหน้าที่ในการซ้อมรับปริญญาแก่บัณฑิต ก็บ่นปวดแขนปวดไหล่ เช่นเดียวกัน ผมมาเป็นอาจารย์ที่นิด้าเองก็ได้ยินอาจารย์รุ่นพี่ผู้ใหญ่หลายท่านเหล่านี้บ่นว่าปวดไปหมด แต่ก็เต็มใจยอมปวดเพื่อให้พิธีพระราชทานปริญญาบัตรออกมาดูดีและถูกต้องที่สุด อันเป็นความเสียสละของอาจารย์อาวุโส

แล้วขอให้ลองคิดดูว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ที่เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรจะไม่เมื่อยหรือไม่ปวดบ้างเลยหรือ

ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ คิดเลขไว เช่น คำนวณปฏิทินร้อยปีได้ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิทยาลัยหรือวิทยาลัยการศึกษา ประสานมิตร ได้เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จแล้วมีพระราชดำรัสถามว่า “วันนี้ฉันได้ให้ปริญญาบัตรไปกี่กิโล” ม.ล.ปิ่น มาลากุล อึกอัก เพราะมิได้ชั่งน้ำหนักปริญญาบัตรไว้ก่อน เพื่อกราบบังคมทูล แต่ในปีต่อมาได้ชั่งน้ำหนักใบปริญญาบัตรเอาไว้ทั้งหมดก่อนพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้กราบบังคลทูลเสียงดังว่า “วันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปริญญาบัตรไปจำนวนทั้งหมด 230 กิโลกรัม” ในทันใดนั้นก็มีพระราชดำรัสถาม ม.ล.ปิ่น ว่า “ฉันจะต้องได้อาหารสักกี่แคลอรีจึงจะพอชดเชยกับแรงงานที่ได้เสียไป”

ธรรมเนียมการพระราชทานปริญญาบัตรในเมืองไทยเกิดขึ้นครั้งแรกด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันมีที่มาจากโรงเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวังซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกาลต่อมา โดยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และโดยเงินส่วนใหญ่ที่เหลือมากมายเป็นหลายเท่าของเงินที่ประชาราษฎรถวายเพื่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า ดังนั้นเงินสร้างมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย จึงเป็นเงินจากประชาชนเพื่อการศึกษาของปวงชน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาและพระราชทานที่ดินเพื่อเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน

อย่างไรก็ตามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะแรกนั้นก็ยังไม่มีศักยภาพและความพร้อมเพียงพอที่จะจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาบัณฑิต ประเทศไทยในขณะนั้นสอนได้เพียงระดับประกาศนียบัตร และยังไม่มีผู้ใดได้รับปริญญาจากภายในประเทศไทยเลยสักคน

จนกระทั่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงตระหนักว่าโรงเรียนแพทย์ของไทยในขณะนั้นยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ ได้ทรงติดต่อมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์เพื่อให้ส่งนักวิชาการมาพัฒนาการเรียนการสอนแพทย์ในประเทศไทย ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอธิการบดีเป็นชาวต่างชาติคนแรกชื่อ ศาสตราจารย์ เอ จี เอลลิส และมาเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อีกตำแหน่งด้วย อีกทั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ยังทรงเป็นเจ้าฟ้าพระอาจารย์สอนนิสิตด้วยพระองค์เอง ขณะนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยมหิดล เช่นในปัจจุบัน นิสิตเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พญาไท และข้ามฟากไปเรียนพรีคลินิคที่ศิริราช ในเวลานั้น ศิริราช สังกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากนั้นไม่นานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีผู้สำเร็จการศึกษาบัณฑิตทางการแพทย์หรือเวชชบัณฑิต อันเป็นปริญญาบัณฑิตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นประโยชน์กับประเทศมาก ที่จะได้มีแพทย์ระดับปริญญาบัณฑิต หรือแพทยศาสตร์บัณฑิตจบไปทำงานรับใช้ประชาชนทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมต้องทรงเห็นความสำคัญของหมุดหมาย (Milestone) ในการผลิตบัณฑิตและผลิตแพทย์ระดับปริญญาได้ครั้งแรกในประเทศไทย จึงได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรเวชศาสตรบัณฑิต (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต) เป็นวาระแรกเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จนถึงกับที่กระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ต้องเชิญ ข้าราชการ เสนาบดี และ ทูตานุทูต นานาชาติ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรดังกล่าว

พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตรุ่นแรก ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ มีใจความตอนหนึ่งว่า
“…ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาให้ปริญญาแก่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในวันนี้ นับเป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของประเทศสยามด้วย เพราะว่าไม่ว่าประเทศใดๆ ความเจริญของประเทศนั้นย่อมวัดด้วยความเจริญของการศึกษานั้นอย่างหนึ่ง…”


เนื่องจากในสมัยนั้นมีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไม่มากนัก การรับพระราชทานปริญญาบัตรจึงเป็นการหมอบกราบแทบเบื้องพระบาทเพื่อรับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นราย ๆ ไปดังรูปด้านล่างนี้

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗ ) เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในการพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ภาพจาก http://www.cu100.chula.ac.th/story/370/
กระทรวงธรรมการในสมัยนั้นเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าให้การพิธีประสาทปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไปในภายหน้า เป็นการพระราชทานปริญญาบัตร หากแม้ไม่อาจจะเสด็จมาด้วยพระองค์เองได้ ก็อาจจะให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทนพระองค์ หรือรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบรมฉายาลักษณ์ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามนั้น จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการรับพระราชทานปริญญาบัตรในประเทศไทยสืบต่อมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เนื่องจากยังทรงพระเยาว์และยังต้องทรงพระอักษรในต่างแดน จึงมีบัณฑิตเพียงรุ่นเดียวที่มีโอกาสได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ ดังรูปด้านล่างนี้ เนื่องจากจำนวนบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรยังไม่มากนัก นิสิตยังคุกเข่ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่พื้นเวทีหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) เมื่อครั้งเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๔๘๗ ซึ่งเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในรัชกาล เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในภาพขณะพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต แก่ นายสุวรรณ์ แสงเพ็ชร์) ภาพจาก http://www.cu100.chula.ac.th/story/370/
ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ยังไม่มีจำนวนบัณฑิตมากนัก ธรรมเนียมในการให้บัณฑิตคุกเข่ารับเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระเจ้าแผ่นดินก็ยังคงอยู่ ดังในรูปที่ศาสตราจารย์ ดร.อมร รักษาสัตย์ ผู้ล่วงลับได้รับพระราชทานปริญญาบัตรรัฐศาสตรบัณฑิตจากพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ในปี 2498

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานปริญญาบัตรรัฐศาสตรบัณฑิต ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ (ในภาพขณะพระราชทานปริญญาบัตรรัฐศาสตรบัณฑิต แก่ นายอมร รักษาสัตย์) ภาพจาก http://www.cu100.chula.ac.th/story/370/
เมื่อจำนวนบัณฑิตผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการปรับวิธีการในการพระราชทานปริญญาบัตรให้เป็นไปเพื่อความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เป็นการเดินเข้าไปเอางาน (ยกมือขึ้นเบา ๆ หนึ่งครั้ง) ก่อนรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้แทนพระองค์

ในภาพด้านล่างนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในปี 2520 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2529

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานปริญญาบัตรอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) แก่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีประจำปีการศึกษา 2520 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2529
การพระราชทานปริญญาบัตรนั้น ทรงปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่พระทัย เช่น ปีหนึ่งไฟดับในระหว่างพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์ ทำให้บัณฑิตผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไม่มีรูปถ่ายในขณะรับพระราชทาน เมื่อไฟฟ้ามาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาล ที่ 9 จึงได้ทรงเรียกให้บัณฑิตที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรระหว่างไฟดับนั้น กลับมารับพระราชทานปริญญาบัตรใหม่อีกครั้ง

การเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตร ในบางคราวทรงสอนอย่างที่บิดาสอนบุตร เช่น พระบรมราโชวาทบางปีเตือนสติเรื่องที่นิสิตจุฬา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยกพวกตีกันกับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ หรือการที่นิสิตฉลองกันฟุ่มเฟือย หรือ CU time คือการเข้าเรียนสาย มาทำงานสาย และเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ที่ทรงทราบข้อบกพร่องของนิสิต จึงได้ทรงเตือนให้นิสิตและบัณฑิตได้มีสติ นิสิตจุฬาเคยยกพวกตีกันจนถึงขั้นถูกไล่ออกจากจุฬา เมื่อระหว่างเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร นิสิตที่จะถูกไล่ออก ได้ขอถวายฎีกากับในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งก็ได้พระราชทานให้ จนนิสิตเหล่านั้นได้กลับเข้ามาเรียนจนสำเร็จการศึกษาได้จบออกไปทำงานรับใช้ชาติ

ในบางคราวแม้ประชวรมาก แต่ก็ยังทรงพระกรุณาเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตร ดังเช่น ท่านผู้หญิง ทันตแพทย์หญิง เพชรา เตชะกัมพุช อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้เคยเล่าว่าทรงอดทนเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรให้เสร็จเสียก่อน แม้ว่าจะปวดพระทนต์มากเพียงใดก็ตาม

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรจึงไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรม แต่เป็นความผูกพันและการสื่อสาร การสอน ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับบัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร และเป็นการส่งผ่านภารกิจแห่งแผ่นดินที่พระเจ้าแผ่นดินมอบให้บัณฑิตก่อนจบออกไปทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติ

ผู้เขียนรับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2541 อันเป็นปีสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่พระสุขภาพจะไม่เอื้ออำนวยให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหนัก ๆ ได้เช่นที่ทรงงานหนักมาตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าขอสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นไปตลอดกาล

ผู้เขียนรับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2541 อันเป็นปีสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งสุดท้าย  ก่อนที่พระสุขภาพจะไม่เอื้ออำนวยให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหนัก ๆ ได้เช่นที่ทรงงานหนักมาตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าขอสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นไปตลอดกาล
ธรรมเนียมการรับพระราชทานปริญญาบัตรของไทย มีที่มาอันยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง จึงอยากจะเล่าถึงธรรมเนียมการรับปริญญาบัตรในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เช่น จะต้องเลือกเฟ้นเชิญคนที่มีชื่อเสียงและมีประวัติอันดีงาม โดยเฉพาะหากเป็นศิษย์เก่าหรือผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแห่งนั้นยิ่งเป็นการดี เพื่อมากล่าวสุนทรพจน์ที่งดงาม ให้แง่คิดก่อนบัณฑิตจะออกไปทำงาน หาได้เป็นเพียงพิธีกรรมไม่

ธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันในมหาวิทยาลัยคาทอลิคในการรับปริญญาเอก เช่น มหาวิทยาลัยที่ผมจบมานั้น คือ หนึ่ง รับปริญญาเอกในโบสถ์เก่าแก่เป็นร้อยปีของมหาวิทยาลัย หน้าแท่นบูชาพระเจ้า (ซึ่งจัดงานศีลจุ่มเป็นคริสตศาสนิกชน บวชเป็นพระ แต่งงาน หรือแม้แต่งานศพก็ที่เดียวกัน) สองคือ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผู้เป็น mentor จะทำหน้าที่คล้อง hood หรือที่เรียกกันว่า hooding ให้ลูกศิษย์ทีละคน อันเป็นการตัดสายสะดือว่าลูกศิษย์ได้ถือกำเนิดแล้วในวงวิชาการ ออกไปทำหน้าที่เพื่อสังคม ประเทศชาติ และวงวิชาการได้แล้ว เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ที่แน่นแฟ้น การรับปริญญาบัตรจึงเป็น moment of truth ที่ทำให้ครูอาจารย์ที่สอนและปั้นบัณฑิตมา ได้มีความสุข และได้สอนและให้พรก่อนจบไปทำงาน เรื่องนี้หลายคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่มีอาจารย์ที่เป็นครูแท้ ๆ หลายคนเฝ้ารอวันนี้อย่างมีความสุข

เมื่อสองสามวันมานี้เกิดกระแสว่าไม่ต้องรับพระราชทานปริญญาบัตรกันไปทั่วในโลกออนไลน์ โดยให้เหตุผลที่อาจจะฟังขึ้นและฟังไม่ขึ้นดังนี้

หนึ่ง การพระราชทานปริญญาบัตร เป็นแหล่งรายได้ของสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ข้อนี้เป็นข้อความอันเป็นเท็จ เพราะที่บัณฑิตต้องจ่ายคือค่าธรรมเนียมการรับปริญญาของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดงานสารพัดอย่าง บางมหาวิทยาลัยนักศึกษาต้องเสียเงินค่าใบปริญญาบัตรแยกออกมาต่างหากด้วยซ้ำ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมในการรับปริญญาทูลเกล้าถวายแต่อย่างใดไม่ เรื่องแบบนี้กระทรวงอุดมศึกษา (อว.) หรือบรรดาอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ควรออกมาชี้แจง

สอง การรับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นการฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น อันนี้แล้วแต่มุมมอง การรับพระราชทานปริญญาบัตร อาจจะไม่สำคัญสำหรับตัวบัณฑิตอีก และอาจจะประหยัดเงิน โดยไม่ยอมเสียค่าธรรมเนียมให้กับมหาวิทยาลัย และประหยัดเวลาโดยไม่ต้องไปร่วมซ้อมรับปริญญา ก็อาจจะทำได้ แค่ไปเสียเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อขอรับใบปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัย ที่กองบริการการศึกษาหรือสำนักทะเบียนและประมวลผลก็ทำได้ ในต่างประเทศถึงกับเสียเงินทางออนไลน์แล้วให้ส่งใบปริญญาบัตรมาที่บ้านก็ได้

แต่ในอีกมุมหนึ่ง การรับพระราชทานปริญญาบัตร ก็เป็นความสุขของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และญาติพี่น้อง เช่นกัน โอกาสง่าย ๆ ที่เราได้ทำในสิ่งที่ผู้มีพระคุณในชีวิตเราจะได้มีความสุข วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรท์สองครั้ง ได้เขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า
เมื่อเรียนจบ ผมได้งานที่ต่างประเทศ ผมบอกพ่อว่าจะไม่เข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เพราะบริษัทที่ต่างประเทศจะไม่รอผมหากไปช้า พ่อบอกว่า “ช่างมันเรื่องงาน แต่แกต้องรับปริญญาจากในหลวง”

ตลอดชีวิตพ่อแทบไม่เคยจากบ้านที่ต่างจังหวัดไปไหน แต่พ่อยอมทิ้งงานและรายได้เพื่อเป็นประจักษ์พยานลูกรับปริญญาจากพระหัตถ์ของเจ้าแผ่นดิน
ที่มา https://www.facebook.com/winlyovarin/photos/a.1502062586736369/1738781983064427/


สาม การรับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นระบบศักดินาล้าสมัย โดยความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็มีการปรับตัวเองให้ทันสมัย และมหาวิทยาลัยเองก็พยายามปรับธรรมเนียมการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรให้ทันสมัยมากขึ้นเช่นกัน ดังภาพที่เห็นว่าการรับพระราชทานปริญญาบัตรในสมัยก่อนตั้งแต่รัชกาลที่ 7 จนถึงต้นรัชกาลที่ 9 เป็นการคุกเข่ารับพระราชทานปริญญาบัตรก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นการเข้าไปยืนรับพระราชทานแทน

และล่าสุดเท่าที่ผมทราบมาจากอาจารย์ที่ทำหน้าที่ฝึกซ้อมพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร สำนักพระราชวังเอง ขอให้ยกเลิกธรรมเนียมการเอางาน คือการยกข้อมือขึ้นเบา ๆ ก่อนรับพระราชทานสิ่งใดจากพระหัตถ์ ข้อนี้เป็นธรรมเนียมที่เปลี่ยนไปมาก เพราะสมัยก่อนการเอางานเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ของผู้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินว่าไม่มีการซ่อนอาวุธไว้ในแขนเสื้อแต่อย่างใด ให้ลองนึกถึงการสะบัดแขนเสื้อซ้ายขวาสลับกันในหนังจีนกำลังภายในเพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ว่าไม่ได้ซ่อนอาวุธไว้แต่อย่างใด สมัยนี้การเอางานก่อนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไม่มีความจำเป็น เพราะมีเครื่อง X-ray ตรวจอาวุธ ถวายความปลอดภัยมาแทนที่แล้ว และการเอางานทำให้การรับพระราชทานปริญญาช้ากว่าหากมีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นจำนวนมากๆ การยกเลิกธรรมเนียมการเอางานก่อนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรโดยทางสำนักพระราชวังขอมายังมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงสะท้อนการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์เองให้ทันสมัยมากขึ้น และเห็นได้ชัดว่าหาใช่เรื่องของศักดินาล้าสมัยแต่อย่างใดไม่ โปรดชมวีดีโอพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.youtube.com/watch?v=YaFrvJxNRFw ที่ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ไม่ต้องเอางานดั่งเช่นอดีตอีกแล้ว

โดยส่วนตัว ผมมีความเห็นว่า การที่ใครจะเข้ารับหรือไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่มีใครบังคับจิตใจใครได้ หากไม่สะดวกใจ ไม่อยากเสียเงิน ไม่มีเวลา จะไม่เข้าร่วมพิธีก็ไม่มีปัญหาอะไร ดีเสียอีก ไม่ต้องเป็นภาระเพิ่มงานให้พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้แทนพระองค์ด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือ

หนึ่ง การป้ายสีหรือสร้างกระแสว่าคนที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นคนที่เชย คร่ำครึ สยบยอมต่ออำนาจ หรืออนุรักษ์นิยมจนเกินไป

สอง การใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เช่น การพระราชทานปริญญาบัตรเป็นรายได้ของพระบรมวงศานุวงศ์ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระทำอันมุ่งหวังทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่สมควรแก่เหตุ

โปรดอย่าลืมว่านี่คือประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิเสรี เมื่อคุณมีสิทธิเสรี ก็ต้องให้เกียรติและให้เสรีภาพแก่คนอื่น และไม่ทำร้ายคนอื่นด้วยเช่นกัน

อีกมุมหนึ่งที่อยากให้ลองไตร่ตรองคือ

การรับพระราชทานปริญญาน่าจะถือเป็นหมุดหมายแห่งการเริ่มต้นความสำเร็จในชีวิตของตัวเราเองในระดับหนึ่งก็ได้ การให้กำลังใจตนเองเพื่อต่อสู้ไปในอนาคต การฉลองและให้รางวัลกับความสำเร็จเล็กๆ ที่มีคนชื่นชม ยินดีด้วย เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราเริ่มต้นชีวิตการทำงานอย่างสดชื่น และคนที่ชื่นชมและยินดีด้วยถึงขนาดยอมเสียเวลามาพระราชทานปริญญาบัตรให้เป็นคนระดับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้แทนพระองค์ ย่อมเป็นเรื่องดีเป็นมงคล

น่าจะดีกว่าความขื่นขมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังจนไม่เข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรหรือพิธีประสาทปริญญาบัตร (สำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับพระราชทาน) มิใช่หรือ?


กำลังโหลดความคิดเห็น