สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่หัวเว่ยบอกชาวไทยว่า “ทำได้” ใน 2 เรื่อง นั่นคือการทำให้บริษัทยังมียอดขายสินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์ที่เพิ่มขึ้น และการทำให้สมาร์ทโฟนและสมาร์ทดีไวซ์ของตัวเองทำงานได้ดี ในวันที่ถูกบีบให้ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง
ที่หัวเว่ยทำแบบนี้ได้อาจเป็นเพราะพลังฝ่ามืออรหันต์ เจ้ายุทธภพอาจจะฟาดฝ่ามือเดียวแล้วปราสาททั้งหลังถล่มลงมา แต่หัวเว่ยใช้ฝ่ามือตัวเองผลักดัน “ชีวิตเอไอไร้รอยต่อ” เพื่อทำให้จักรวาลสมาร์ทดีไวซ์ของตัวเองทำงานได้ราบรื่นเหมือนสมัยที่ยัง “อยู่กิน” กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ หัวเว่ยซัดฝ่ามือนี้แบบรัวๆ ในทุกไลฟ์สไตล์ผ่านวิทยายุทธ์ “1+8+N” ยอดวิชาจากคัมภีร์ที่หัวเว่ยย้ำว่าจะยึดถือแบบยาวๆ เพื่อเพิ่มดีกรีกำลังภายในที่แข็งแกร่งจนสร้างอีโคซิสเต็มส์อัจฉริยะ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการแก่ผู้ใช้ได้สำเร็จ
คู่ต่อสู้ที่หัวเว่ยต้องพิชิตให้ได้ คือ ผลกระทบจากการถูกขึ้นบัญชี ELหรือ Entity List ของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นบัญชีที่ไม่อนุญาตให้บริษัทอเมริกันจำหน่ายสินค้า บริการ หรือเทคโนโลยีกับบริษัทที่อยู่ในรายการ EL นี้ หนึ่งในธุรกิจหัวเว่ยที่ถูกผลกระทบนี้ทิ่มตำมากที่สุดคือธุรกิจสมาร์ทโฟนและสมาร์ทดีไวซ์ เพราะสินค้าสำหรับคอนซูเมอร์เหล่านี้จะใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคกังวลกันมากว่าสมาร์ทโฟนหัวเว่ยอาจใช้บริการของกูเกิล (Google) เฟซบุ๊ก (Facebook) ไม่ได้ในอนาคต รวมถึงอีกหลายบริการยอดนิยมบนแอนดรอยด์
***ไม่ต้องห่วง HMS ทำได้
จากที่เคยเป็นระบบ GMS (Google Mobile Services) หัวเว่ย ระบุว่า อุปกรณ์ระบบ HMS (Huawei Mobile Services) ที่ตัวเองพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนนั้นได้รับผลตอบรับดีเยี่ยมจากตลาดโลกและประเทศไทย ตัวชี้วัดหนึ่งที่หัวเว่ยใช้คือการนับจำนวน Huawei ID ซึ่งเมื่อใครมีบัญชีกับหัวเว่ย ก็สามารถใช้ทุกบริการของหัวเว่ยได้ ปรากฏว่าวันนี้หัวเว่ยมี Huawei ID มากกว่า 4 ล้านบัญชีในไทย จำนวนผู้ใช้ต่อเดือนคือ 2.4 ล้านราย จากทั้งหมด 20 ล้านรายในภูมิภาค หรือ 300 ล้านบัญชีทั่วโลก
กลยุทธ์ที่หัวเว่ยใช้คือการวางสมาร์ทโฟนเป็นศูนย์กลาง แล้วทำตลาดอุปกรณ์รอบข้างที่จะใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟนคู่ไปด้วย อุปกรณ์รอบข้างเหล่านี้แบ่งเป็น 8 ชนิด คือ แล็ปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ทวอทช์ หูฟังไร้สาย แว่นตา ทีวีหรือหน้าจออัจฉริยะ ลำโพง และรถยนต์ ซึ่งหัวเว่ยให้บริการในตลาดไทยแล้ว 5 ชนิด อีก 3 ชนิดมีแผนทยอยทำตลาดเพิ่มในอนาคต
ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ 8 อย่างที่จะมาล้อมรอบไข่แดง อย่างสมาร์ทโฟน แต่ยังมีอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT และเครือข่ายการเชื่อมต่อที่จะมอบประสบการณ์การทำงานที่ลื่นไหล เต็มประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของกลยุทธ์ที่หัวเว่ยตั้งชื่อให้ว่า “กลยุทธ์ 1+8+N” โดยเลข 1 หมายถึงสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์หลักที่เชื่อมต่อและควบคุมการทำงานของดีไวซ์อื่นอีก 8 อย่าง ส่วน N คือ IoT ขณะที่เครื่องหมายบวกคือเครือข่ายการเชื่อมต่อในบริเวณกว้าง (WAN) และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระยะใกล้ เช่น Huawei Share และ HiLink โดยมี Router, CPE, T-Box และ Module ที่จะผสานเครือข่ายอีโคซิสเต็มส์ของหัวเว่ยให้สมบูรณ์
ความน่าสนใจคือหัวเว่ย บอกว่า กลยุทธ์ 1+8+N ไม่ได้เกิดจากการมโนว่าหัวเว่ยอยากขายอะไร แต่จะทำวิจัยเพื่อหาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และจำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหาที่พบ เชื่อว่ากลยุทธ์ 1+8+N จะทำให้หัวเว่ยได้เปรียบกว่าคู่แข่งที่ไม่มีสินค้าครอบคลุมพอ
หัวเว่ยพยายามนำทุกสิ่งมาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ในยุคที่ AI, 5G, IoT, AR, VR และอีกหลายอย่างจะเปลี่ยนวิถีชีวิตเราทุกคน จากไทม์ไลน์ 6 ปีที่แล้วซึ่งหัวเว่ยจับมือกับไลก้า (Leica) ทำ P9 เขย่าวงการสมาร์ทโฟนเพื่อการถ่ายภาพ วันนี้หัวเว่ยมีสินค้ากลุ่มแว่นตาอัจฉริยะที่ร่วมมือกับบริษัทเกาหลี แถมยังขยายไปนาฬิกา หูฟังไร้สาย คอมพิวเตอร์รุ่นเล็กและใหญ่ เราท์เตอร์ 5G ลำโพงอัจฉริยะ และทีวี สะท้อนว่าอีโคซิสเต็มส์ HiLink ของบริษัทเริ่มขยายตัว จนมีสินค้ากลุ่มหุ่นยนต์ โคมไฟ แปรงสีฟันไฟฟ้า เครื่องกรองอากาศ ปลั๊กไฟ เครื่องดูดฝุ่นออกมาทำตลาด ทั้งหมดนี้จะขยายอีกเพราะหัวเว่ยจะเปิดกว้าง จับมือกับพันธมิตรที่มีพลังในการทำให้เกิดบริการที่แตกต่าง
ถึงตรงนี้ หัวเว่ยพยายามชูว่าผู้ใช้หัวเว่ยจะได้รับประสบการณ์ลื่นไหล เช่น ฟีเจอร์ Huawei Share ที่ผู้ใช้สามารถแชร์ข้อมูลผ่านการแตะสมาร์ทโฟน การสาธิตพบว่า Huawei Share ส่งได้ทั้งข้อมูลเพลงภาพ และวิดีโอ ซึ่งไม่เพียงส่งระหว่างสมาร์ทโฟนด้วยกัน แต่ยังส่งไปที่พีซี ทีวี ลำโพง ได้ในเวลาไม่กี่วินาที และหากแชร์หน้าจอสมาร์ทโฟนไปที่พีซีที่มีหน้าจอทัชสกรีน ก็สามารถแตะที่หน้าจอพีซีเพื่อควบคุมสมาร์ทโฟนได้จากระยะไกล
การสาธิตยังโชว์ว่าสมาร์ทโฟนหัวเว่ยสามารถใช้ไว-ไฟจากเราท์เตอร์ได้โดยการแตะ ผู้ใช้ไม่ต้องกรอกรหัสผ่านแบบปกติ จุดนี้หัวเว่ยระบุว่า ไม่มีปัญหาความปลอดภัย เพราะทุกอย่างเชื่อมกับบัญชีหัวเว่ยไอดี โดยทุกอย่างอยู่บนคลาวด์และผูกกับระบบปฏิบัติการที่ปลอดภัย 100% ทั้งหมดทำได้ในการแตะครั้งเดียว
ดาวเด่นของอุปกรณ์ HMS ยังอยู่ที่ MeeTime แอปพลิเคชันวิดีโอแชตที่มีจุดเริ่มต้นจากพนักงานที่เป็นห่วงแม่ระหว่างทำงานไกลบ้าน แม่ของพนักงานรายนี้สูงวัยมากจนกดปุ่มใช้งานสมาร์ทโฟนไม่คล่อง พนักงานรายนี้จึงพัฒนาฟีเจอร์แชร์หน้าจอระหว่างโทร.วิดีโอ ทำให้สามารถอธิบายเป็นขั้นตอนการกดปุ่มได้ง่าย ช่วยให้การสอนซื้อสินค้าออนไลน์ หรือการใช้งานอื่นทำได้สะดวกขึ้นแม้ผู้ใช้ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน รวมถึงแท็กซี่ที่สามารถแชร์หน้าจอผ่าน Meetime เพื่อให้ลูกค้าที่อยู่ปลายสายเห็นวิวรอบข้างว่าจอดอยู่ที่ไหน
อีกจุดที่มองข้ามไม่ได้คือพัฒนาการของ HUAWEI AppGallery แม้หัวเว่ยจะยืนยันว่าพัฒนามานานแล้ว แต่ก็เพิ่งเร่งเครื่องเมื่อปี 62 จนตอนนี้พบว่า 90% ของแอปไทยฮอตฮิต 200 อันดับ สามารถให้บริการบน AppGallery แล้ว โดยแอปธนาคารรายใหญ่และระบบแชตที่คนไทยนิยมใช้อย่างไลน์ล้วนมาครบเซ็ต ผลจากการติดต่อโดยตรงเพื่อหาทางให้มีแอปบนระบบของหัวเว่ยได้เร็วที่สุด ซึ่งมีไม่กี่บริษัทที่ทำแบบนี้ได้
ทั้งหมดนี้หัวเว่ยพยายามย้ำว่าจะไม่ตัดสินว่า AppGallery ประสบความสำเร็จด้วยจำนวนแอป แต่จะตัดสินด้วยสัดส่วนแอปที่ทำให้คนไทยใช้งานแล้วพึงพอใจจริง เบื้องต้น มีการปรับระบบเสิร์ชแอปในอุปกรณ์หัวเว่ย ให้ระบบแสดงผลการเสิร์ชนอกเครื่อง เป็นการการันตีว่าผู้ใช้สามารถค้นหาและดาวน์โหลดแอปนับล้านได้แม้แอปนั้นจะไม่มีใน AppGallery
***ทำได้เพราะฐานใหญ่
อิงมาร์ หวาง ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) บอกว่า 1+8+N จะเป็นกลยุทธ์ระยะยาวในการพัฒนาธุรกิจคอนซูเมอร์ของบริษัท โดยขณะนี้หัวเว่ยดูแลทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้วยตัวเอง มีระบบ HiLink ที่สามารถทำงานกับระบบปฏิบัติการอื่นๆ ได้ด้วย และยังมีสินค้า IoT อีกหลายชนิดที่มีระบบนิเวศแยกกันกับ GMS ของกูเกิลชัดเจน สะท้อนว่าสถานการณ์อีโคซิสเต็มสหัวเว่ยในไทยนั้นไปได้ดี เพราะผู้ใช้หลายล้านคนที่หัวเว่ยมีนั้นเป็นกลุ่มใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้
“เราไม่ได้อยากทำ HMS แต่ไม่มีทางเลือก เราต้องการสร้างระบบของหัวเว่ยขึ้นมาเพื่อแทนที่ GMS ซึ่งใหญ่มาก เรามีการร่วมมือกับท้องถิ่นจน 90% ของแอปไทยระดับต้นมาที่ระบบเราแล้ว แปลว่าผู้บริโภคจะยอมรับเพราะเริ่มรู้สึกว่าไม่มีปัญหาในการใช้แอป โดยเฉพาะธนาคาร แอป 12 ธนาคารไทยส่วนใหญ่ทำบน HMS หมด รวมถึงอีคอมเมิร์ซอย่างช้อปปี้ ลาซาด้า ก็เห็นว่า HMS สร้างความแข็งแกร่งได้เหมือนกัน เพราะผู้ใช้มากกว่า 4 ล้านคนในไทย เป็นกลุ่มใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้ ทำให้รายใหญ่ร่วมสร้างแอปเพราะมีแฟนคลับที่ใช้หัวเว่ยอยู่”
เมื่อยิ่งสร้างอีโคซิสเต็มส์ และหาความร่วมมือ หัวเว่ย ระบุว่า จากที่เริ่มเปิดตัวมือถือ HMS รุ่นแรกช่วง พ.ย.62 ในที่สุดอุปกรณ์ระบบ HMS ก็มียอดจำหน่ายเทียบเท่าอุปกรณ์ GMS ในเดือน มิ.ย.63
แม้ยอดขายจะวัดความสำเร็จได้ แต่หัวเว่ยย้ำว่าจุดวัดความสำเร็จของบริษัทคืออีโคซิสเต็มส์ การมีโซลูชันครบวงจรที่สื่อสารกันได้แบบไร้รอยต่อบนเทคโนโลยีที่คนอื่นไม่มี รวมถึงการสร้างซูเปอร์ดีไวซ์ ที่ทำได้ทุกอย่าง ทั้งหมดสะท้อนสิ่งที่หัวเว่ยมั่นใจว่าจะนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญมาทำให้ผู้บริโภคยอมรับ
หัวเว่ยมองว่าความท้าทายใหญ่ที่สุดในปีนี้คือโควิด-19 การล็อกดาวน์หลายเดือนทำให้บริษัทได้รับผลกระทบ ตอนนี้สถานการณ์เริ่มกำลังเข้าที่ และหัวเว่ยเชื่อว่าจะเข้าที่ยิ่งขึ้นเมื่อบริษัทเดินแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ทุกเดือน
“เชื่อว่าจะมีโอกาสในวิกฤตเพราะทีมยังลงทุนเหมือนเดิมและวางเป้าหมายเท่าเดิม คาดว่าช่วง ต.ค.-พ.ย.นี้จะเปิดตัวพีซีรุ่นใหม่ และอีกหลายสินค้าในช่วงครึ่งหลังปีนี้ จนทำให้สถานการณ์กลับมาปกติได้โดยเร็ว”
บอกแล้ว อะไร อะไร “หัวเว่ย” ก็ทำได้!