นิยายจีนประเภทกำลังภายในที่โด่งดังที่สุดยุคนี้ ต้องยกให้ “มังกรหยก” ของ กิมย้ง นักประพันธ์คนดังของจีน ไม่มีเรื่องไหนฮิตเท่า ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ทางทีวีกันมาตลอด ทั้งฮ่องกงและไต้หวันแย่งกันสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้นำมาสร้างใหม่กันอีก แต่เชื่อหรือไม่ว่า ชาติที่นำ“มังกรหยก” สร้างเป็นหนังชาติแรก ก็คือ “เสือปืนไว” ไทยเรานี่เอง
ในปี ๒๕๐๑ ประยูร และ จำลอง พิศนาคะ ๒ พี่น้องนักแปลได้นำนิยายเรื่อง “มังกรหยก” มาแปลเป็นภาษาไทยลงในนิตยสาร “เพลินจิต” มีคนอ่านติดกันงอมแงม ทำให้ “เพลินจิต”ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ผู้สร้างหนังไทยเป็นเสือปืนไวอยู่แล้ว ผู้กำกับคนดัง ศิริ ศิริจินดา จึงติดต่อจำลองและประยูร พิศนาคะ ขอนำ “มังกรหยก”ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในระบบ ๑๖ มม. ไม่รู้ว่าซื้อลิขสิทธ์จากกิมย้งด้วยหรือเปล่า
การถ่ายทำหนังเรื่องนี้เป็นการถ่ายอย่างเร่งรีบให้ทันกับความดังของเรื่อง ครั้นจะใช้พระเอกนางเอกดาวดัง ก็มีคิวถ่ายให้แค่เดือนละวันสองวันคงไม่ทันกินแน่ ทั้ง ก๊วยเจ๋ง และ อึ้งย้ง จึงต้องใช้ผู้แสดงหน้าใหม่ อาศัยความดังของเรื่องก็พอ พระเอกเรื่องนี้จึงเป็น วรเทพ เทพจินดา รับบทเป็น “ก๊วยเจ๋ง” สมทบด้วยดารารุ่นเก่าอีกหลายคน อาทิเช่น ดอกดิน กัญญามาลย์, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ชูศรี มีสมมนต์, ประมินทร์ จารุจารีต, วงศ์ทอง ผลานุสนธ์ และแป๊ะอ้วน เป็นต้น
“มังกรหยก” ถ่ายทำที่โรงถ่ายหมอชิต สะพานควาย ซึ่งเป็นตลาดเก่า ยามนั้นต้องถือว่าอยู่นอกเมือง ขณะที่ลงมือถ่ายทำเพื่อเร่งให้ออกมาฉายทันขณะเรื่องกำลังดัง ก็ยังหานางเอกมาแสดงเป็น “อึ้งย้ง”ไม่ได้ แต่ขณะถ่ายอยู่นั้น ผู้กำกับ ศิริ ศิริจินดาหันไปเห็นสาวน้อยคนหนึ่งสะดุดตายืนอยู่ในกลุ่มของคนที่มาดูการถ่าย เพียงเห็นครั้งแรกความรู้สึกของผู้กำกับผู้ช่ำชองก็บอกตัวเองว่า
“คนนี้แหละคืออึ้งย้งที่กำลังหา”
แต่สาวน้อยผู้นั้นไม่รู้ตัวว่าถูกผู้กำกับชำเลืองดูตลอดเวลา จนถูกขอถ่ายรูปจึงสงสัย
หลังจากนั้นไม่กี่วัน ศิริ ศิริจินดาก็ส่งคนไปตามเธอมาพบ จับแต่งตัวเป็นสาวจีนถ่ายรูป แล้วบอกว่าจะให้เธอเป็นนางเอก“มังกรหยก” นำรูปเหล่านี้แจกจ่ายนิตยสารบันเทิงเพื่อแถลงข่าว
สาวน้อยผู้นั้นก็คือ อภิญญา เสนีย์วงศ์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น “วีระขจร” ดาวเด่นอีกดวงของวงการหนังไทยในเวลาต่อมา
เพลงโฆษณาของ “มังกรหยก” เนื้อร้องบอกรายละเอียดผู้แสดงไว้หมด ผมจำได้แค่คลับคล้ายคลับคลาแบบไม่ค่อยแน่ใจว่า
“วรเทพ เทพจินดา เป็นก๊วยเจ๋ง
อภิญญา เสนีย์วงศ์ บอกตรงตรง เธอสวยจริงจริง เป็นอึ้งย้ง อีกคนหน้าตาซื่อตรง คือ วิบูลย์ ชนะศึก เป็นเอี้ยคัง
ประมินทร์ เป็นอาวเอี้ยงฮง สมพงษ์ เป็นบ๊วยทีฮวง
แป๊ะอ้วน เป็น เล้งตี่ ชูศรีอีก็เป็นซ่าโกว
มังกรหยก มังกรหยก มังกรหยก.....”
ก็บอกแล้วว่าจำได้คลับคล้ายคลับคลา มันจึงไม่คล้องจองกันแบบนี้
มังกรหยกออกฉายต้อนรับเทศกาลตรุษจีนในปึ ๒๕๐๔ ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ ในนามของ จินดาวรรณภาพยนตร์ โดยมี สมผล ไชยวรรณ เป็นผู้อำนวยการสร้าง กำกับการแสงโดย ศิริ ศิริจินดา และมี ดอกดิน กัญญามาลย์ เป็นที่ปรึกษา
แม้ว่านิยายเรื่อง“มังกรหยก” ใน“เพลินจิต” จะฮิตอย่างถล่มทลาย แต่หนัง “มังกรหยก” กลับไม่ประสบความสำเร็จ แฟนหนังไทยคงนึกภาพกันไม่ออกว่าดาราไทยจะฟันดาบแบบจีนกันท่าไหน เคยชินแต่เห็นฟันแบบลิเก
อีก ๑๒ ปีต่อมา ผู้สร้างหนังไทยอีกรายคงไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ ศิริ ศิริจินดาสร้าง“มังกรหยก” จึงร่วมสร้างหนังกำลังภายในกับฮ่องกงพร้อมกันถึง ๓ เรื่อง นำพระเอกนางเอกยอดนิยมของไทยไปแสดงประกบกับพระเอกนางเอกฮ่องกง คือ “อัศวินดาบกายสิทธิ์” กับ“ดาบคู่สะท้านโลกันต์” มี มิตร-เพชรา นำแสดง ส่วน“จอมดาบพิชัยยุทธ” มี มิตร คู่ สุทิศา พัฒนุช
เมื่อมิตร ชัยบัญชาตายในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ “อัศวินดาบกายสิทธิ์” ถ่ายค้างไว้ไม่กี่ฉาก จึงเอา มิตร ชัยภูมิ ที่เล่นหนังไทยเรื่อง“คนึงหา” ใช้เป็นตัวปลอมมิตรปิดไปกล้องที่ฮ่องกงได้
ส่วน “ดาบคู่สะท้านโลกันต์” มีกำหนดจะนำ มิตร-เพชรา บินไปเข้ากล้องในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ในทันทีที่ได้ข่าวว่ามิตรตายในวันที่ ๘ ผู้ประสานงานในเมืองไทยก็รวดเร็วทันใจ เปิดการเจรจากับไชยา สุริยัน พระเอก ๓ ตุ๊กตาทองทันทีในคืนที่มิตรตายนั้น และนำตัวบินไปรับบทแทนมิตรคู่เพชราโดยไม่ให้เสียคิวทางฮ่องกง
สำหรับเรื่อง “จอมดาบพิชัยยุทธ” ที่ถ่ายมิตรกับสุทิศาไปได้ไม่กี่ฉาก ได้ติดต่อ ลือชัย นฤนาท พระเอกตุ๊กตาทองคนแรกไปแสดงโดยไม่ได้ตัดฉากที่มิตรแสดงไว้ออก แต่แก้บทใหม่ให้ลือชัยเป็นพระเอกอีกคนกลายเป็นพระเอกไทย ๒ คนประชันบทกับ เถียนเหย่ พระเอกฮ่องกง
หนังกำลังภายในที่ใช้ดาราไทยแสดงทั้ง ๓ เรื่องนี้ไม่มีเรื่องไหนประสบความสำเร็จเลย เช่นเดียวกับ “มังกรหยก” เนื่องจากคนดูก็คงคิดว่าถ้าจะดูหนังกำลังภายใน ก็ดูหนังที่ดาราจีนแสดง ซึ่งถนัดบทบาทประเภทนั้นมากกว่า
นี่ก็เป็นบทเรียนที่ปรากฏมาแล้ว หวังว่าคงไม่มีใครคิดสร้างหนังกำลังภายใน เป็นความผิดพลาดครั้งที่ ๓ อีก