“ดาบมังกรหยก” นิยายจากปลายปากกาของ “กิมย้ง” ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง ซึ่งก็ยังสร้างกระแสความนิยมได้เช่นเคย
ถ้าเมืองไทยมี “บ้านทรายทอง”, ฮอลลีวูดมี “โรมิโอ แอน จูเรียส” ที่เป็นวรรณกรรมที่ถูกหยิบมาสร้างเป็นหนังครั้งแล้วครั้งเล่า วงการบันเทิงจีน (ที่นับ ฮ่องกง, ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่เอาไว้ด้วยกัน) ก็คงมี “มังกรหยก” ที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนัง และซีรีส์ซ้ำไปซ้ำมา ราวกับว่าผู้ชมสามารถดูได้ไม่มีวันเบื่อ
ล่าสุด “ดาบมังกรหยก” นิยายชุดที่ 3 ในชุด “มังกรหยก” ได้ถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์อีกครั้งโดย Beijing Cathay Media Ltd. ซึ่งเป็นว่าเป็น “ดาบมังกรหยก” เวอร์ชั่นที่ 9 ในรอบ 40 ปี เลยทีเดียว
ในซีรีส์ ดาบมังกรหยก เวอร์ชันล่าสุด ดาราหนุ่มดาวรุ่ง เจิ้งซุ่นซี จะรับบทเป็น เตียบ่อกี้ ส่วน อีว์ฉี และ เจียนเหริ่นซือ รับบทเป็น เตียเมี่ยง กับ จิวจี้เยียก ตามลำดับ แต่ที่ฮือฮาที่สุด กลับเป็น โจวไห่เม่ย ที่เคยรับบทเป็นตัวละครสำคัญ จิวจี้เยียก ใน ดาบมังกรหยก ฉบับ ปี 1994 ที่คราวนี้จะได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าสำนักง้อไบ้ แม่ชีมิกจ้อ กันเลยทีเดียว โดยซีรีส์ยังจะมีดารากังฟูเจ้าบทบาท ฝานเส้าหวง มารับบทเป็น เซิ่งคุน ตัวร้ายของเรื่องด้วย
จริง ๆ แล้วการนำมังกรหยก กลับมาสร้างใหม่เรื่อย ๆ ก็มีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เพราะในการสร้างแต่ละครั้ง ซีรีส์ก็พัฒนาเรื่องเทคนิคไปเรื่อย ๆ คุณภาพการถ่ายทำก็ดีขึ้นตามยุคสมัย จะให้คนยุคนี้ย้อนกลับไปดูซีรีส์เก่าเมื่อ 20 – 30 ปีก่อน ก็คงไม่ไหวเหมือนกัน แม้จะเล่าเรื่องได้สนุกแค่ไหนก็ตาม
เนื้อหาไม่เคยตกสมัย
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิยายของ กิมย้ง สามารถหยิบนำมาสร้างได้เรื่อย ๆ ก็คือเนื้อหาของนิยายมีความร่วมสมัยอยู่เสมอ กิมย้ง สอดแทรกความเห็นทางการเมืองต่าง ๆ ลงไปในนิยายกำลังภายในได้อย่างแนบเนียน ผลงานแต่ละเรื่องสามารถสะท้อนความเป็นไปในสังคมได้จนน่าทึ่ง
จึงไม่แปลกที่ ดาบมังกรหยก มักจะถูกพูดถึงโดยผู้นำทางการเมือง และเศรษฐกิจ รวมถึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันเสมอ
มหาเศรษฐีคนดังอย่าง “แจ็ก หม่า” (ผู้ชื่นชอบนิยายกำลังภายในแบบสุด ๆ และมักจะเรียกตัวเองว่าเป็น ฟงชิงหยาง) แฟนตัวยงของ กิมย้ง ก็เคยอ้างประโยคจาก ดาบมังกรหยก ในตอนที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องทำในสิ่งที่ควรทำต่อไป”
หรือล่าสุดในสถาการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 แจ็ก หม่า ที่บริจาคเงินช่วยเหลือ และหน้ากากอนามัยให้กับชาวอิหร่านก็ยังเปรยว่าเมื่อนึกถึงอิหร่านแล้วเขาก็จะนึกถึงไปถึงเรื่องที่ว่า ที่นี่คือ เปอร์เซีย บ้านเกิดของ “เซี่ยวเจียว” ตัวละครใน ดาบมังกรหยก นั่นเอง
ว่ากันว่าอดีตผู้นำจีนอย่าง “เติ้งเสี่ยวผิง” ก็ชื่นชอบนิยายเรื่อง ดาบมังกรหยก มากถึงขั้นที่เคยเปรยกับเจ้าตัวเมื่อครั้งที่ทั้งคู่เจอกันว่า “นิยายของคุณมอบแรงบันดาลใจให้กับผมมากมาย” ซึ่งว่ากันว่า ดาบมังกรหยก คือผลงานที่ เติ้งเสี่ยวผิง ชื่นชอบมาก
“ดาบมังกรหยก” ภาพสะท้อนการรวมชาติจีน
ไม่แปลกที่ เติ้งเสี่ยวผิง จะชอบนิยายอย่าง ดาบมังกรหยก เพราะชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลาย ๆ คนมองว่าการต่อสู้ของเหล่าจอมยุทธในนิยายเรื่องนี้ มีอะไรคล้าย ๆ กับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่พอสมควร
ดาบมังกรหยก เล่าเรื่องในสมัยปลายราชวงศ์หยวน ที่จอมยุทธได้มีบทบาทสำคัญในการ “กู้ประเทศ” คืนมาจากพวกมองโกล
และชาวจีนยังมองว่าตัวละครอย่าง “เตียบ่อกี้” ก็เป็นเหมือนตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เกิดมาพร้อมกับชะตากรรมในการต่อสู้แย่งชิง และรวบรวมแผ่นดินจีนให้กลับมาเป็นปึกแผ่น
ต้นกำเนิดของ เตียบ่อกี้ ก็มีความน่าสนใจ เขาเป็นลูกชายของศิษย์เอกแห่งสำนักบู๊ตึ้ง และมีแม่เป็นลูกสาวของผู้ยิ่งใหญ่จากพรรคเม้งก้า ที่ถูกชาวจีนมองว่าเป็นพรรคมารผู้ชั่วร้าย ที่มีพื้นเพมาจากชาวนอกด่าน
สุดท้าย เตียบ่อกี้ ที่มีพ่อเป็นธรรมะ และแม่เป็นฝ่ายอธรรม กลับกลายเป็นผู้ผสานรอยร้าวของจอมยุทธทั้งสองฝั่ง ไม่แตกต่างอะไรกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่รวบรวมความแตกแยกในประเทศ จนสามารถรวมเป็นสาธารณะรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จ
“เตียบ่อกี้” พระเอกผู้น่ารำคาญ?
เสน่ห์อีกประการของ ดาบมังกรหยก ก็คือพระเอกที่ชื่อว่า เตียบ่อกี้ นี่เอง เป็นเสน่ห์ที่ผู้อ่านผู้ชมหลายคนอาจจะไม่ค่อยสมอารมณ์นัก กับความสมจริงของตัวละครตัวนี้ ที่ กิมย้ง ออกแบบมาให้เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ที่มีทั้งด้านดี และไม่ดีในตัวเอง
อาจจะเพราะผู้เขียนแต่ง ดาบมังกรหยก เป็นเรื่องสุดท้ายในไตรภาค ตอนอายุประมาณเกือบ 40 ปี ตอนนั้น กิมย้ง ดูจะเข้าใจโลกมากขึ้น และเขียนตัวละครออกมาได้สมจริงมากขึ้น
ทั้ง ๆ ที่มีวิทยายุทธสูงสุด เตียบ่อกี้ กลับกลายเป็นพระเอกที่มีความเป็น “วีรบุรุษ” น้อยที่สุดของ กิมย้ง เตียบ่อกี้ ไม่ได้มีอุดมการณ์อันสูงส่ง ไม่ได้กล้าหาญแบบ ก๊วยเจ๋ง ไม่ได้รักเดียวใจเดียวกับ เอี๊ยก้วย ตลอดเรื่อง เตียบ่อกี้ พัวพันกับผู้หญิงหลายคน และแทบทั้งเรื่องก็ไม่ได้แสดงออกว่ามั่นคงต่อผู้หญิงคนใดอย่างชัดเจนเลย
แต่สุดท้ายอย่างที่ทราบกันดี เตียบ่อกี้ ก็ไม่ได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศแต่อย่างใด เพราะแม้จะมีส่วนอย่างยิ่งในการทวงคืนแผ่นดินจนกลับมาเป็นของชาวฮั่น แต่ เตียบ่อกี้ ก็ขาดคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างไป
เตียบ่อกี้ อาจจะไม่ได้เป็นตัวละครที่ผู้อ่านชื่นชอบที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าความสมจริงของตัวละครตัวนี้ คือเสน่ห์ของ “ดาบมังกรหยก” โดยแท้