xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีเธอไม่ตาย! หัวเว่ยโชว์ยอดผู้ใช้ไทยเกิน 4 ล้าน ย้ำทุกคนรับได้เรื่องไร้กูเกิล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หัวเว่ยมีแผนจะนำอุปกรณ์ใหม่เข้ามาทำตลาดไทยเพิ่มเติมอีกในอนาคต คาดว่าจะนำเข้าลำโพงอัจฉริยะได้ในไตรมาสแรกปีหน้า
หัวเว่ยโชว์สถิติสวยงามตอกย้ำสินค้าคอนซูเมอร์ขายดี ระบุกลุ่มสมาร์ทโฟนและสมาร์ทดีไวซ์มียอดขายเพิ่มสูงขึ้น 34% เบ็ดเสร็จหัวเว่ยยังคงนั่งอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนโลกราว 17.6% บนยอดจัดส่งโทรํศัพท์มือถือรวม 240 ล้านเครื่องตลอดปี 2019 คุยฟุ้งสมาร์ทโฟนระบบ HMS ที่ไร้เงาแอนดรอยด์นั้นมียอดจำหน่ายตีตื้นจนเกือบเท่ารุ่นที่มาพร้อมแอนดรอยด์แล้ว เป็นสัญญาณชี้ว่าลูกค้ายอมรับได้ ส่งให้จำนวนผู้ใช้ Huawei ID ทั่วโลกแตะระดับ 300 ล้านบัญชี โดยในไทยทะลุ 4 ล้านบัญชีเรียบร้อย

อิงมาร์ หวาง ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) ระบุว่า โทรศัพท์มือถือเป็น 1 ใน 5 อุปกรณ์ที่หัวเว่ยทำตลาดในประเทศไทย นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป แท็บเล็ต หูฟังไร้สาย และนาฬิกาสมาร์ทวอตช์ซึ่งจะเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน หัวเว่ยมีแผนจะนำอุปกรณ์ใหม่เข้ามาทำตลาดไทยเพิ่มเติมอีกในอนาคต คาดว่าจะนำเข้าลำโพงอัจฉริยะได้ในไตรมาสแรกปีหน้า ขณะที่แว่นตาเสมือนจริงและหน้าจออัจฉริยะนั้นยังไม่มีกำหนดที่แน่ชัด ทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผนพัฒนาธุรกิจคอนซูเมอร์ของหัวเว่ยที่พยายามดูแลทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยเน้นพัฒนาระบบอีโคซิสเต็มของตัวเองที่สามารถทำงานกับระบบปฏิบัติการอื่นได้ราบรื่น ซึ่งอีกหลายอุปกรณ์ IoT ที่จะแจ้งเกิดตามมาในอีโคซิสเต็มหัวเว่ย นั้นจะมีระบบนิเวศที่แยกกันกับกูเกิล มีความเป็นอิสระทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

“เราร่วมมือกับธุรกิจไทยเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มอย่างจริงจัง จนวันนี้ 90% ของแอปยอดนิยมของไทยกลุ่ม Top 200 เข้ามาให้บริการที่ระบบเราแล้ว แปลว่าผู้บริโภคยอมรับแล้ว และเริ่มรู้สึกว่าไม่มีปัญหาในการใช้แอปบนสมาร์ทโฟนหัวเว่ย โดยเฉพาะธนาคารหลัก 12 แห่งล้วนทำแอปพลิเคชันบน HMS ทั้งหมด ยังมีผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซทั้งช้อปปื้ ลาซาด้า ล้วนเห็นว่า HMS สร้างความแข็งแกร่งได้เหมือนกัน เพราะเรามีผู้ใช้มากกว่า 4 ล้านคนผู้ใช้ในประเทศไทย เป็นกลุ่มใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้

อิงมาร์ หวาง ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)
ตัวเลข 4 ล้านรายที่อิงมาร์ ระบุนั้นมาจากจำนวนบัญชีผู้ใช้ “หัวเว่ยไอดี” (Huawei ID) ที่ลงทะเบียนในไทย จำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้ใช้ประจำทุกเดือนราว 2.4 ล้านบัญชี คำนวณเป็น 1 ใน 10 ของ Huawei ID จำนวน 20 ล้านบัญชีทั่วเอเชียแปซิฟิกที่แอ็กทีฟในแต่ละเดือน โดยทั้ง APAC ซึ่งรวมตลาดอินเดีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่นมี Huawei ID รวม 34 ล้านบัญชี ขณะที่ Huawei ID ทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 300 ล้านบัญชี

บัญชี Huawei ID ถือเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดปริมาณการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์หัวเว่ย ในวันที่หัวเว่ยถูกสั่งห้ามใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับกูเกิลและแอนดรอยด์ ระบบ HMS หรือ Huawei Mobile Services จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางซึ่งผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทดีไวซ์ได้ตามไลฟ์สไตล์ ร่วมกับอีโคซิสเต็ม HiLink ที่หัวเว่ยโชว์ว่ามีผู้ใช้มากกว่า 50 ล้านรายแล้ว บนจำนวนอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ (โดยไม่ใช้สมาร์ทโฟน) ราว 180 ล้านชิ้น และจำนวนพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจของอีโคซิสเต็ม HiLink ที่เพิ่มมากกว่า 800 รายทั่วโลก

อิงมาร์ ยังเน้นย้ำว่า หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญในด้านวิจัยและพัฒนา โดยมียอดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงมากกว่า 6 แสนล้านหยวน (ราว 2.7 ล้านล้านบาท) ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากสมาร์ทโฟน ผลงานโบแดงของธุรกิจคอนซูเมอร์หัวเว่ยในปีที่ผ่านมาคือกลุ่มคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป (PC) ที่ขายดีจนมียอดจัดส่งเพิ่ม 200% สัดส่วนการเติบโตนี้เท่ากับหูฟังไร้สายที่เติบโต 2 เท่าเช่นกัน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสวมใส่ได้ขายดีขึ้น 170% 

นานาอุปกรณ์ที่หัวเว่ยทำตลาดในประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น