xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กลุ่ม PTT ทำกำไรหมื่นล้าน GULF ขาขึ้นพุ่ง 1.8 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เศรษฐกิจขาลงทั้งโลกจากพิษโวรัสโควิด-19 ที่ฉุดความต้องการใช้พลังงานลดลงตาม ทำให้ลุ้นกันว่าผลประกอบการไตรมาส 2/2563 ของกลุ่มธุรกิจนี้จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ต่อเมื่อกลุ่มปตท.และกัลฟ์ ประกาศตัวเลขพลิกมีกำไร ก็พอจะสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมมีโอกาสฟื้นตัว

ตามคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ที่ออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 ซึ่งพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมติฐานด้านเศรษฐกิจปีนี้กรณีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปรับตัวลดลงรุนแรง 9-10% จะส่งผลให้การใช้พลังงานของประเทศลดลง 7.9% โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลง 6.3% ดีเซลลดลง 4% น้ำมันเครื่องบินลดลง 43.5% แอลพีจีลด 10.9% น้ำมันเตาลด 10% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 3%

ส่วนสถานการณ์พลังงานภาพรวม 6 เดือนแรกปีนี้การใช้พลังงานขั้นต้นลดลง 10.1% เมื่อแยกเป็นรายเชื้อเพลิงพบว่าการใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลง 12% เป็นการลดลงทุกประเภท ก๊าซธรรมชาติลดลง 8.5% ถ่านหินลิกไนต์ลดลง 0.3% การใช้ไฟฟ้าลดลง 3.9% ซึ่งการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงมาจากมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ธุรกิจหยุดกิจการชั่วคราว ยกเว้นภาคครัวเรือนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากการทำงานอยู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างกลุ่ม ปตท. ผู้นำในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน สามารถทำกำไรได้กว่าหมื่นล้านจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น


 ถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมาของ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ว่า ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 54,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,823 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.4 จากไตรมาส 1 ปี 2563  


 สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนเป็นผลมาจากการวางแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีค่าเสื่อมราคาและภาษีเงินได้ลดลง ส่งผลให้มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวน 12,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 100 จากขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 1,554 ล้านบาท 
แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2563 กับช่วงเดียวกันปีก่อน ปตท.มีกำไรสุทธิลดลง 53.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 25,938.13 ล้านบาท เป็นผลจากราคาและปริมาณการขายที่ปรับลดลงหลายกลุ่มธุรกิจ

ส่วนผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 86,593 ล้านบาท ลดลง 67,734 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.9 จากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากสงครามราคาน้ำมัน สภาวะอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบ ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งนำไปสู่มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2563 เป็นจำนวน 10,499 ล้านบาท ลดลง 44,751 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.0 จากในครึ่งแรกของปี 2562

ขณะที่  บางจาก แถลงผลประกอบการในวันเดียวกันว่าไตรมาส 2/2563 ขาดทุนสุทธิ 1.9 พันล้านบาท ตามที่ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 26,594 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มี EBITDA 1,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 144 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มี Operating EBITDA 2,645 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Loss 1,725 ล้านบาท (รวมกับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1,635 ล้านบาท)

และเมื่อรวมการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้การค้ารายใหญ่ และการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจค้าปลีกของธุรกิจในกลุ่ม ส่งผลให้ไตรมาสนี้ขาดทุนสุทธิ 1,911 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับตัวลดลงร้อยละ 462 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 528 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.50 บาท

ส่วนผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ของกลุ่มบางจากฯ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 69,665 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA ติดลบ 1,415 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 134 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6,571 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 986 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.02 บาท

มาดูผลประกอบการของบริษัทพลังงานข้ามชาติอย่าง เอสโซ่ นายอดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 บริษัทขาดทุนสุทธิ 2,504.19ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 927.37ล้านบาทโดยบริษัทมีรายได้จากการขาย 24,413 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 45,748 ล้านบาท

สาเหตุจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลงและปริมาณการขายลดลงอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไตรมาส 2 บริษัทมีผลขาดทุนจากการขาย 3,183 ล้านบาท เปรียบเทียบกับผลขาดทุนจากการขาย 1,272 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนงวด 6 เดือนแรกปีนี้บริษัทขาดทุนสุทธิ 8,811.04 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 99.76 ล้านบาท

สำหรับ “บ้านปู” ก็วูบเช่นกัน โดย นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทขาดทุนสุทธิ 2,514.39 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 137.76 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาจำนวน 31 ล้านเหรียญสหรัฐ

รวมถึงการลดลงของปริมาณการขายและราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินและก๊าซธรรมชาติลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และยังสะท้อนถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 21 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนงวด 6 เดือนแรกปีนี้บ้านปูขาดทุนสุทธิ 801.72 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,042.85 ล้านบาท

 หันมาส่องผลประกอบการของกลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ อย่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1,880 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.28% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 1,603 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 413 ล้านบาท ในงวดไตรมาส 1/2563 เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานปกติที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง 

ขณะที่ส่วนรายได้จากการขายและให้บริการในดังกล่าวเพิ่มขึ้น 8.8% มาอยู่ที่ระดับ 7,773 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 7,144 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ยอดขายเต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 12 โครงการในกลุ่ม GMP เทียบกับ 11 โครงการในงวดไตรมาส 2/2562 โดยทั้ง 12 โครงการสามารถขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สูงขึ้นถึง 14.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) วิเคราะห์ว่า การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาส 2/63 ภาพรวมน่าจะเห็นปรับตัวลดลงรุนแรง และจากประมาณการกำไรของโบรกเกอร์ต่างเห็นว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ของ บจ.ไทยถูกปรับตัวลดลงมากที่สุด คาดลดลงเฉลี่ย 40% เมื่อเทียบกับเมื่อต้นปีนี้ ทำให้เห็นภาพ downside ของผลประกอบการซึ่งเป็นเหตุให้เม็ดเงินยังไม่กลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ จะมีการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/63 คาดว่าน่าจะเห็นตัวเลขติดลบ 15% ถือเป็นการหดตัวรุนแรง และคาดทั้งปี 2563 จีดีพีติดลบ 8.4%

ผลประกอบการของกลุ่มกิจการพลังงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วยว่ามีโอกาสจะพลิกฟื้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกทรุดตัวยังไม่มีแนวโน้มว่าจะทุเลาเบาบางลงแม้จะมีข่าววัคซีนจากรัสเซียออกมาแล้วก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น