นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงหลังจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และผ่อนปรนมาตรการการเดินทางมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินมีแนวโน้มปรับลดลง หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรร่วมมือกันลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลง คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัว
โดยในไตรมาส 2 ธุรกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกของปีในภาพรวม แต่ธุรกิจโรงกลั่นยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน นับว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 69,665 ล้านบาท ลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ติดลบ 1,415 ล้านบาท ลดลง 134% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6,571 ล้านบาท ลดลง 986% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.02 บาท
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 26,594 ล้านบาท ลดลง 38% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มี EBITDA 1,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 144% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มี Operating EBITDA 2,645 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Loss 1,725 ล้านบาท (รวมกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 1,635 ล้านบาท) และเมื่อรวมการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้การค้ารายใหญ่ และการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจค้าปลีกของธุรกิจในกลุ่ม ส่งผลให้ไตรมาสนี้ขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,911 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 59% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับตัวลดลง 462% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.50 บาท
ในส่วนของผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ นั้นได้ผ่านจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน โดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ที่แม้ยังคงได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกที่ลดลง ได้ปิดซ่อมหน่วยกลั่นที่ 2 เป็นเวลา 2 เดือนในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทำให้การผลิตลดลงเหลือ 74% ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ 89,300 บาร์เรลต่อวัน เหมาะสมต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ
ส่วนกลุ่มธุรกิจการตลาด ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากในไตรมาสนี้มี Inventory Gain ขณะที่ไตรมาสก่อนมี Stock Loss ถึงแม้ว่าปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดลดลง โดยส่วนใหญ่ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันผ่านตลาดอุตสาหกรรม เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในเดือนเมษายน 2563 ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ทำให้ปริมาณการจำหน่ายผ่านตลาดค้าปลีกในเดือนเมษายนปรับลดลง 17% เมื่อเทียบกับปริมาณจำหน่ายเฉลี่ยของไตรมาสก่อนหน้า แต่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงภาวะปกติในเดือนมิถุนายนหลังจากเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ค่าการตลาดสุทธิต่อหน่วยปรับเพิ่มจากสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีค่าการตลาดสูงกว่าช่องทางตลาดอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 15.6% (ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน) พร้อมกันนี้ ยังดำเนินตามกลยุทธ์ในการขยายจำนวนสถานีบริการเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะชะลอการลงทุนบางส่วนในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 บางจากฯ มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้น 1,212 สาขา
นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ Gasohol S EVO FAMILY ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งยกระดับ E20 S EVO เป็นน้ำมันคุณภาพเกรดพรีเมียมจำหน่ายราคาเท่าเดิม สอดคล้องต่อความต้องการใช้ที่เติบโตต่อเนื่องและสนองนโยบายภาครัฐที่จะผลักดันให้เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ มีการนำนวัตกรรมระบบ Digital Payment ผ่านเครื่อง Mobile EDC Banking มาให้บริการในการชำระเงินค่าน้ำมันพร้อมกับการสะสมคะแนน ช่วยอำนวยความสะดวกและสอดคล้องวิถีชีวิตผู้บริโภคในวิถีใหม่สังคมไร้เงินสด และในส่วนของธุรกิจ Non-Oil ร้านกาแฟอินทนิล ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 มีร้านกาแฟอินทนิลรวม 618 สาขา
ด้านกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA 863 ล้านบาท มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวม 151.45 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวและโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับในไตรมาสนี้เป็นไตรมาสแรกที่โครงการ "Nam San 3B" โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาส
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ในส่วนของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ผลดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก ตามมาตรการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลของภาครัฐ ที่กำหนดให้ B10 เป็นน้ำมันเกรดหลัก ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ผลการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์เอทานอลปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้เอทานอลเกรดอุตสาหกรรมเพื่อนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค และมีปริมาณการจำหน่ายรวมผลิตภัณฑ์เอทานอลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ผลการดำเนินงานดีขึ้น 105% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA แม้ว่ารายได้จะลดลงจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งมีการเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของแหล่งผลิต Draugen จากเดือนกันยายนมาเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลง แต่ในไตรมาสนี้รับรู้ผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีการตั้งด้อยค่าลดลง
ด้านสถาบัน BiiC ยังคงสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัป และการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้แก่กลุ่มองค์กรอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิดวิธีนำพาธุรกิจให้เติบโตขึ้น และอยู่ระหว่างการพิจารณาสตาร์ทอัปรายใหม่ๆ หลังจากที่ได้เปิดตัวโครงการ Winnonie ที่นำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
"การปรับวิสัยทัศน์องค์กร Greenergy Excellence สู่ Evolving Greenovation สร้างทิศทางการพัฒนาบริษัทผ่านนวัตกรรมธุรกิจสีเขียวหลากหลายมากขึ้นในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถสร้างสมดุลทางธุรกิจอันเกิดจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของบริษัทได้ดีขึ้น โดยในครึ่งปีหลังของปี 2563 แม้จะมีสัญญาณว่าธุรกิจได้เริ่มฟื้นตัวจากครึ่งปีแรก แต่เราจะยังคงไม่ประมาท คุมเข้มมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและการใช้เงินลงทุนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอ และเร่งหา New S-Curve จากธุรกิจใหม่ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ เริ่มฟื้นตัว กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีสภาพคล่องที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น" นายชัยวัฒน์ กล่าว