“บางจาก” กระอักไตรมาสแรกปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 4.66 พันล้านบาท โดยมีรายได้รวม 43,070 ล้านบาท ลดลง 14% และ EBITDA ติดลบ 2,546 ล้านบาท วูบ 230% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากขาดทุนสต๊อกและบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ผลพวงราคาน้ำมันดิบร่วงจากการแพร่ระบาดโควิด-19
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัท บางจากฯ ไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า บริษัท บางจากฯ ขาดทุนสุทธิ 4,660.77 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไรสุทธิ 213.95 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 43,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ติดลบ 2,546 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 205 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 230 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
มี Inventory Loss 3,434 ล้านบาท รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 1,689 ล้านบาท และเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 1,366 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นเหตุให้อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกลดลง มีผลต่อราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องลดการผลิตน้ำมันได้ กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างรุนแรงในช่วงปลายไตรมาส ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 50.41 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 11.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือลดลงเกือบร้อยละ 20 จากไตรมาสก่อนหน้า
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสายการบินที่ต้องหยุดให้บริการ รวมถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้ผลประกอบการของทั้งอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปรับตัวลดลง
สำหรับผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA ติดลบ 2,590 ล้านบาท มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 2.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับต่ำและความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ลดลง ทำให้โรงกลั่นต้องปรับลดกำลังการผลิตมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีอัตราการผลิตเฉลี่ย 104,300 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น ซึ่งราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างมากในไตรมาสนี้ ธุรกิจโรงกลั่นมี Inventory Loss 2,774 ล้านบาท (รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV)) ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นมีผลการดำเนินงานปรับลดลงค่อนข้างมาก
กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA จากการดำเนินงาน 672 ล้านบาท แต่เนื่องจากมี Inventory Loss จำนวน 591 ล้านบาท ทำให้มี EBITDA 81 ล้านบาท โดยปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA 770 ล้านบาท ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มฯ แต่มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักมาจากการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวลดลง เนื่องจากปัญหาภาวะแล้งที่มากผิดปกติ นอกจากนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทย และญี่ปุ่น มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าลดลง ทำให้ในไตรมาสนี้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 91 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศฟิลิปปินส์ 24 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย 67 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 510 ล้านบาท เพิ่มขี้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและเพิ่มขึ้นร้อยละ 162 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับปี 2562 และร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว จากราคาขายผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก ตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้ B100 ในภาคพลังงาน ที่กำหนดให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันเกรดหลัก และน้ำมันดีเซล B7 และ B20 เป็นเกรดทางเลือก
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA ขาดทุน 1,227 ล้านบาท ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมาก จากภาวะอุปทานล้นตลาดและอุปสงค์ที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลง ส่งผลให้ OKEA มีรายได้ลดลง อีกทั้งมีการตั้งด้อยค่า Technical Goodwill และ Ordinary Goodwill และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลต่างประเทศ เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ Nido Petroleum Pty. Ltd. 1,366 ล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงานปรับลดลงค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดังนี้ คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงมีการปรับแผนการผลิต การปรับลดค่าใช้จ่ายและเงินลงทุน
โดยโรงกลั่นได้มีการติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับการใช้กำลังการผลิตได้อย่างเหมาะสม และได้ปรับลดการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการในตลาดที่ลดลง คาดว่าในปีนี้กำลังการผลิตจะลดลงจากแผนประมาณ 20% อีกทั้งได้พิจารณาถึงการจัดหาผลิดภัณฑ์จากภายนอกเพื่อนำมาขายแทนการผลิตเองบางส่วน ในกรณีที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า รวมถึงได้มีการพิจารณาการจัดหาน้ำมันดิบทางเลือกเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ได้พิจารณาปรับแผนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี (TAM) โดยหยุดซ่อมหน่วยกลั่นที่ 2 ในระหว่างที่ใช้กำลังการผลิตลดลง และเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี (TAM) ในส่วนอื่นๆ ตามแผนเดิมที่จะดำเนินการในไตรมาส 3 ของปีนี้ ออกไปเป็นปีหน้า เนื่องจากการซ่อมบำรุงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและผู้รับเหมาเป็นจำนวนมากเข้ามาดำเนินงานทำให้อาจเกิดความเสี่ยงด้านการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ บริษัทฯ ประเมินว่าปริมาณการจำหน่ายของธุรกิจการตลาดในปีนี้จะปรับตัวลดลงประมาณ 20-25% โดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล และน้ำมันอากาศยาน ทางบริษัทฯ ได้มีมาตรการในการกระตุ้นยอดขาย โดยการจัดโปรโมชั่นผ่านทาง Loyalty program รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร ส่วนทางด้านธุรกิจ Non-oil เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสถานีรวมไปถึงร้านกาแฟอินทนิลลดลง ก็ได้มีการปรับตัวต่อสถานการณ์โดยเน้นไปที่การขายผลิตภัณฑ์ผ่านทาง Delivery มากขึ้น ในส่วนของการขยายสาขาของสถานีบริการและธุรกิจ Non-Oil ยังคงดำเนินการตามแผน แต่อาจมีการชะลอการลงทุนบางส่วนด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว
บริษัทฯ ได้ทบทวนและปรับแผนการใช้จ่าย (OPEX) และแผนการลงทุน (CAPEX) ในโครงการต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจของปี 2563 โดยให้มีการปรับลดหรือชะลอ รวมถึงเลื่อนการลงทุนในโครงการที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้องไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจหลักและต้องปฏิบัติตามกฎหมายและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยสามารถปรับลด OPEX ได้ร้อยละ 20 และลดและเลื่อน CAPEX ได้ร้อยละ 15
สำหรับการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทฯ ได้มีมาตรการในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ ติดตามดูแลและจัดเก็บหนี้ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน ตลอดจนบริหารจัดการชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทั้งนี้ได้มีการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้งวงเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับในกรณีที่มีความต้องการใช้