ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรี อว. ชี้สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนภาพชัดเจน 'อาหารจะขาดแคลนทั่วโลก' Supply Chain จะเปลี่ยนไป แจง 75% ในจีนจะกลับถิ่นและบางรายจะไหลเข้าไทย ขณะที่ไทยมีความพร้อมทั้งการเป็น 'ครัวโลก' และการแพทย์ชั้นเยี่ยม เร่งวิจัยและขับเคลื่อน 4 มิติ ตาม 'BCG Model' สร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะมิติทางการแพทย์ ที่บรรดา 22 คณะแพทยศาสตร์ และ 65 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สังกัด อว.ผนึกกำลังถอดรหัสและผลิตเครื่องมือแพทย์เข้าสู่อุตสาหกรรมได้!
ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนใน 4 มิติ ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บอกว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ภาครัฐและกระทรวง อว.ต้องหันมาปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาจากการที่รัฐบาลมี BCG Model (Bio-Circular-Green Model) เป็นตัวขับเคลื่อนโลกอนาคตอยู่แล้ว ก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจใหม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและจะสามารถตอบโจทย์ในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ใน 4 มิติได้แน่นอน
โดยทั้ง 4 มิติจะเป็น 4 สาขายุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศได้ ประกอบด้วย 1.ความมั่นคงด้านอาหารและการเกษตร 2.ความมั่นคงด้านสุขภาพและการแพทย์ 3.ความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ไม่ใช่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันแต่จะเป็น Green Energy ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ได้จากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล เป็นต้น 4.ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่จะมีบทบาทสำคัญให้เกิดการจ้างงาน
วันนี้โจทย์ใหญ่ที่ อว.ต้องดำเนินการก็คือจะสร้างความมั่นคงทั้ง 4 ด้านได้อย่างไร!
“หลังโควิด-19 ทั่วโลกจะเริ่มมองเห็นเรื่องของปัจจัย 4 จะเห็นชัดว่า 2-3 ปีนี้อาหารจะขาดแคลนทั่วโลก เพราะช่วงที่โควิด-19 ระบาดการเพาะปลูกในยุโรปหยุดหมด Supply Chain ที่จะทำให้เกิดสินค้าขึ้นมา มันขาดหมด การขนส่งก็จะยาก เพราะไม่ยอมให้มีการส่งออก”
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” เป็นแหล่งการเกษตรที่ดี แม้จะเจอภัยแล้งบ้างแต่ก็สามารถพัฒนาด้านการเกษตรให้เป็นแหล่งมั่นคงทางอาหารได้เช่นกัน
อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นสังคมไทยได้เห็นถึงความร่วมมือ ร่วมใจของภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ทำให้เห็นว่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งกำลังขาดแคลนทั่วโลก แต่ประเทศไทยก็สามารถคิดค้นและสร้างนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาได้
ในเรื่องของห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) อุปกรณ์ทางการแพทย์ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เช่น แคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ (Isolation Capsule) ห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Isolation Chamber)
ขณะที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งคิดค้นดัดแปลงและผลิตหมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อความดันบวก (PAPR) และหน้ากากป้องกันการติดเชื้อชนิดใช้ซ้ำ (Reusable) ซึ่งผลิตจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ มาตรฐานการกรอง N99 ซึ่งสูงกว่า N95 และสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสูงสามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศที่กำลังขาดแคลนอย่างรุนแรง
สำหรับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ก็ยังร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยและชุด PPE เพื่อการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้เช่นกัน เพียงแต่ว่าชุด PPE ที่ผลิตออกมานั้นยังเป็นเพียงชุดที่กันน้ำใช้สำหรับแพทย์ที่ดูแลภายนอก ส่วนชุด PPE ที่ป้องกันเชื้อไวรัส และแบคทีเรียนั้นยังต้องมีการพัฒนาและต้องสร้างห้องแล็บสำหรับทดสอบต่อไป
รัฐมนตรี อว. ย้ำว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและการแพทย์ได้แน่นอน และจะต้องสร้างความมั่นคงให้ได้ทั้ง 4 มิติ โจทย์ที่มีอยู่ทำให้ อว.ต้องมุ่งเน้นไปที่การวิจัย แต่เป็นการวิจัยที่มีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การต่อยอด กระบวนการพัฒนา กระบวนการผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้า หรือการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ รวมไปถึงการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ แต่จะไม่ใช่เป็นการวิจัยเพียงเพื่อการวิจัยเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว
“ทุกวันนี้เรามีแค่ต้นน้ำ แต่กลางน้ำเราไม่มี เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเราก็ไม่สามารถจัดการได้ เราจึงควรผลักดันให้เกิดความยั่งยืน คือยืนบนขาที่แข็งแรงได้มั่นคง”
โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 จบลง เพราะ Cover Supply Chain 75% จะอยู่ที่ประเทศจีน ก็จะมีการเคลื่อนย้ายกลับไปประเทศของตัวเองและมีโอกาสที่จะย้ายฐานเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งไทยก็ควรจะใช้โอกาสนี้ดึงการผลิตเหล่านี้เข้ามาในประเทศแต่จะต้องเลือกการผลิตที่ประเทศไทยต้องการเท่านั้น
“อว.จะเชิญเลขาฯ บีโอไอ เพื่อทบทวน Supply Chain กันใหม่ว่าอุตสาหกรรมหลักใน 4 มิติใน BCG Model ที่เป็นข้อต่อ และประเทศไทยหายไป เช่น มีกลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ไม่มีต้นน้ำ หรือเรามีแต่ต้นน้ำ แต่กลางน้ำไม่มี ทั้งที่กระจายอยู่ทั่วโลก GLobal Supply Chain ก็ต้องมาดูกันใหม่”
ข้อมูลที่ได้มานั้นจะทำให้เราผลักดันได้ถูกต้อง เช่น เรื่องของอาหาร ประเทศไทยควรมีทั้งต้นน้ำ และกลางน้ำ จึงจะพึ่งพาตัวเองได้ ส่วนในเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข Medical Supply หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ตัวไหนที่สำคัญที่ประเทศไทยต้องมีครบวงจร
ดร.สุวิทย์ บอกว่า การจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการวิจัย ซึ่งเดิมการวิจัยที่มีอยู่จะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา การผลิต การทดแทนการนำเข้า และการส่งออก แต่การวิจัยจากนี้ไปต้องตอบโจทย์ที่เราต้องการได้จริง
ที่สำคัญจะต้องเปลี่ยนการทำงานวิจัยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้ได้!
“การวิจัยที่ อว.จะดำเนินการจะต้องออกมาเป็นนวัตกรรม อย่างน้อยก็เพื่อตลาดในประเทศ ทดแทนนำเข้า เช่น เครื่องมือแพทย์ ยา วัคซีน เพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงบริการทางการแพทย์ ไม่งั้นโครงการบัตรทอง เจ๊งแน่ๆ และหากผลิตมาได้ก็เท่ากับยืนบนขาตัวเองได้“
สำหรับงบประมาณของ อว.ปี 2564 จำนวน 2 หมื่นกว่าล้าน และยังมีส่วนของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเน้นไปที่การทำวิจัย Research เพื่อนำไปสู่ R&D คือการวิจัยและพัฒนา จากนั้นต้องนำไปสู่อุตสาหกรรม Manufacturing ซึ่งหมายถึงต้องผลิตให้ได้ เพื่อเข้าสู่ตลาดการค้าในอนาคต
“อว.ร่วมกับ บริษัท SCG บริษัทโตโยต้า และอีกหลายองค์กร ร่วมกันถอดรหัสเครื่องช่วยหายใจและยังมีเรื่องของ N95 ที่ รพ.วชิระ และจุฬาฯ ร่วมกันทำเพื่อผลิตมาใช้”
นอกจากนี้ บริษัท สยามไบโอโซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ที่สามารถผลิตยาได้ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนปลายน้ำ ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวง อว.และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR เพื่อตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และรู้ผลด้วยเวลารวดเร็ว
“อว.ได้ให้ทุนในการวิจัย ร่วมกับบริษัท สยามไบโอโซเอนซ์ รพ.รามาฯ วิจัย RT-PCR จนออกมาเป็น Gold Standard เป็นมาตรฐานโลกแล้ว นายกฯ ยังได้มอบชุด RT-PCR ที่ไทยผลิตได้เอง ให้แก่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศละ 10,000 ชุด”
ขณะเดียวกัน กระทรวง อว.ได้นำคณะวิศวกรรมศาสตร์ 65 แห่ง และคณะแพทยศาสตร์ 22 แห่ง ที่สังกัดกระทรวง มาประชุมหารือ แล้วไปร่วมทุนกับเอกชน จนทำให้มีเครื่องมือ RT-PCR ออกมา แล้วก็ยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เช่นกัน
“อุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเรามีต้นแบบแล้ว แต่บางอุปกรณ์ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยี บางเรื่องยังต้องแกะรหัส ถอดรหัสออกมา และบางอุปกรณ์เช่น เครื่องช่วยหายใจลิขสิทธิ์ของเขาสิ้นสุด ก็จะเข้าสู่ Open Innovation คือเปิดให้ใครก็ได้ทั้งโลกใช้นวัตกรรมนี้ เราก็จะเอามาทำ Reverse Engineer คือเราเอามาแกะแบบ แล้วทำออกมาให้ดี อีกไม่นานจะได้เห็นเครื่องมือแบบนี้เราจะถูกกว่าประเทศอื่นๆ ครึ่งหนึ่ง”
ตัวอย่างเช่น เครื่องกรองอากาศที่จัดส่งอากาศ (Powered Air Purifying Respirators : PAPR ที่แพทย์ใช้ติดต่อในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรค ช่วยป้องกันและลดโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ และมีการผลิตในอเมริกา และยุโรป เช่น 3M, Sundstrom, MSA, Uvex, Umatta เป็นต้น ก็เป็นอุปกรณ์สำคัญที่แพทย์และวิศวกรได้มีการนำมาช่วยกันถอดรหัส
“เราต้องดูมอเตอร์ ชิ้นส่วนต่างๆ การไหลของลม แล้วเราก็จะออกแบบกันใหม่ ซึ่งเครื่องนี้หลายมหาวิทยาลัยก็ถอดรหัสกันอยู่เพียงแต่ว่าจะเลือกของประเทศไหนเป็นต้นแบบเท่านั้น ถ้าทุกอย่างเสร็จก็จะมีการเปิดตัว และบริษัทในไทยที่สนใจจะผลิตก็ต้องแจ้งที่สถาบันที่ทำต้นแบบขึ้นมา”
รัฐมนตรี อว. ระบุว่า ไม่เพียงเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เราสามารถผลิตตัวต้นแบบออกมาได้แล้ว ก็จะนำไปสู่การลงทุน แต่ยังมีเรื่องของยา ที่จะต้องมีการวิจัยและพัฒนา เมื่อสำเร็จทั้งเรื่องของยาและอุปกรณ์ต่างๆ ก็จะให้บริษัทเอกชนไทยเป็นผู้ลงทุน หรือร่วมลงทุน และอาจมีการดึงต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนก็ได้ โดยที่รัฐไม่ควรเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด
ดังนั้น เรื่องของนวัตกรรมด้านสุขภาพและทางการแพทย์ จึงเป็นมิติสำคัญที่ทาง กระทรวง อว. เตรียมความพร้อมที่จะผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อไป ส่วนอีก 3 มิติ ทั้งด้านความมั่นคงด้านอาหารและการเกษตร ความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ทุกอย่างจะนำไปสู่การวิจัยเชิงระบบที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ต่อไป!